ภาพยนตร์แอนิเมชันประวัติศาสตร์เรื่อง “2475 Dawn of Revolution” ผลงานของผู้กำกับ ซัง-วิวัธน์ จิโรจน์กุล มีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ฉายผ่านออนไลน์ 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ เฟซบุ๊ก “2475 Dawn of Revolution” ยูทูบ2475 Animation และติ๊กต็อก @2475animation
โดยช่องทางยูทูบ 2475 Animation ได้ฉายรอบพรีเมียร์ในเวลา 20.00 น. ในวันที่ 13 มีนาคม 2567 จากนั้นเวลา21.00 น. วันเดียวกัน ก็ทยอยเผยแพร่แอนิเมชัน แบ่งเป็น 3 ตอน (ตอนละประมาณ 40 นาที) เพื่อให้คนที่ไม่ทันรอบพรีเมียร์ สามารถมารับชมตั้งแต่เริ่มได้ รวมทั้งจะทยอยอัปโหลดลงในช่องทางอื่นๆ อย่างเฟซบุ๊ก และติ๊กต็อกด้วยเช่นกัน
โดยภาพยนตร์เรื่อง “2475 Dawn of Revolution” เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎรนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนายึดพระราชอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆในกลุ่มคณะราษฎรตามมา
โดยมีทีมพากย์นำโดย อาวอ จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร พร้อมด้วยนักพากย์ที่เป็นคนดัง เช่น นก ฉัตรชัย เปล่งพานิช, นก สินจัย เปล่งพานิช, สุเมธ องอาจ, เกลือ กิตติ เชี่ยววงศ์กุล ซึ่งก่อนหน้านี้ “2475 Dawn of Revolution” ก็ยังมีการจัดฉายรอบสื่อมวลชนในโรงภาพยนตร์ด้วย โดยทางผู้กำกับ ซัง-วิวัธน์ จิโรจน์กุล ก็ได้มีการโพสต์ถึงฟีดแบคของผู้ชมในรอบสื่อมวลชนเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
‘การจัดฉายรอบปฐมทัศน์ และจัดงานเปิดตัวกันเอง
ใช้งบไม่ถึงแสนบาท (ราว 7-8 หมื่น)
ถ้าเอาไปจ้างอินฟลูเอนเซอร์ ก็ตกรายละ 2-5 หมื่น
อาจจะได้รีวิวซัก 2-4 ราย แถมอาจได้รีวิวแบบขอไปที
.
งานครั้งนี้จึงไม่มีงบอินฟลูเอนเซอร์
แต่เชิญชวนผู้ใหญ่ที่เคารพ นักวิชาการ ทีมงาน
เพื่อนๆ ดาราศิลปินที่เกี่ยวข้องกับงาน
รวมทั้งสื่อฯที่ให้ความสนใจ มาร่วมรับชม
.
สาเหตุที่เชิญรอยัลลิสต์มาเยอะ
เพราะ เราอยากฟังความเห็นจากคนเหล่านี้
เนื่องจากประเด็นเนื้อหาในเรื่อง
มีหลายส่วนที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน
พวกเขาจะรับได้หรือไม่
.
เช่น พี่สุเมธ ยังให้สัมภาษณ์ว่า
ปวดใจที่ต้องพากย์เสียงในบางช่วงบางตอน
(ตามเรื่องราวในประวัติศาสตร์)
.
มีคนมาบอกก่อนฉายว่า น่าจะจัดโรงใหญ่
ผมก็ตอบไปว่า เอาแค่ 100 คนแรกนี้ก่อน
ถ้าจะโดนด่า ก็โดนด่าแค่ร้อยคน 🤣
.
พอหนังเริ่มฉาย ผมเดินกลับไปหลบอยู่ด้านหลัง
ความรู้สึกตอนนั้นคือ เราแบก”ช้าง”มาถึงจุดหมายแล้ว
จากนี้ปล่อยให้”ช้าง”ทำงาน
.
หนังมีความยาว 2 ชั่วโมง
แต่ตอนทำงานเราแบ่งทั้งหมดเป็น 6 Chapter
Intro
Prologue
Conflict
Crisis
Climax
Conclusion
.
ตอนนั่งอยู่ข้างหลังก็คิดว่า คนจะเดินออกตอน Chapter ไหน
พอผ่าน 2 Chapter แรกไป ไม่มีคนเดินออก
3 …. 4 …. มีคนเดินออกไปห้องน้ำบ้าง แต่ก็กลับมาดู
ถึง Chapter 5 เฮ้ย คนยังอยู่ครบ
จน Chapter 6 คนดูอยู่กันต่อจนจบ End Credit
พร้อมเสียงปรบมือลั่นโรง มีหลายคนร้องไห้
.
ผมเดินออกมาพร้อม พี่ดี้
พี่ดี้ รู้ว่าเราทำโปรเจคท์นี้มาตั้งแต่เริ่ม
และพี่ดี้ก็แสดงความห่วงใยมาตลอด
เพราะงานนี้มันหนักหนาสาหัสมากจริงๆ
.
ผมหันไปถามพี่ดี้ว่า เป็นไงบ้างครับ
.
พี่ดี้หันมายิ้ม
“ภูมิใจ พี่ภูมิใจในตัวมึง ดีมาก ประทับใจ”
.
แล้วพี่ดี้ก็รีบไปเข้าห้องน้ำ 🤣
.
อีกคนที่ผมเป็นกังวลว่าจะชอบใจหรือไม่คือ พี่หมู
เพราะ พี่หมู เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้
โดยเรียบเรียงจากบันทึกจริงในประวัติศาสตร์
ทำมาร้อยเรียงเป็นลำดับเรื่องราว
.
ผมคือคนที่นำมาปรุงรสเพิ่ม เสริมเรื่องราวใส่เพิ่ม
บางส่วนก็นำมาลำดับใหม่ และต้องตัดเนื้อหาบางพาร์ท
เพราะต้องให้น้ำหนักกับเส้นเรื่องหลักที่เราต้องการสื่อสาร
.
ถ้าผมทำไม่ดี มันจะเสียไปถึงคนเขียนบท
.
แต่หลังฉายจบ พี่หมู เดินมาหาผม ยิ้มอย่างมีความสุข
ยกนิ้วให้บอกว่า “ยอดเยี่ยมมาก”
.
ผมน้ำตาซึม
.
อีกคนคือผู้ใหญ่ที่เคารพอย่าง พี่จูน
พี่จูน โผเข้ามากอดผม และบอกว่า
“ซัง สิ่งที่เราต้องการสื่อสาร เราทำสำเร็จแล้ว”
.
พี่จูนถึงกับหายป่วย เพราะมันฮีลใจมาก 🥰
.
หลังจากนั้น คนที่มาร่วมรับชม
ต่างก็ไปเขียนวิจารณ์ในมุมของตัวเอง
สื่อต่างๆพากันช่วยโปรโมท
ฟีดแบ็คหลังจากนั้น ก็ดีขึ้นไปอีก
และเป็นกระแสขึ้นเรื่อยๆ
.
รีวิวหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ อ.กบ ฟ้าทลายโจร
.
อ.กบ บอกว่า “ทุกคนรู้ดีว่าผมเกลียดคณะราษฎรมาก
แต่หลังจากที่ผมดูแอนิเมชันเรื่องนี้ ผมให้อภัย 20%”
.
ช้างของเรา ได้เต้นรำอย่างสวยงามแล้วครับ