รู้จัก ‘หมอถนน-หมอคน-หมอรถ’ ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9


ย้อนไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2536 พล.อ.เทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์เชิญ พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ยศขณะนั้น) ไปพบที่กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดาและแจ้งให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ละ 4 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดซื้อรถจักรยานยนต์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่สายตรวจจราจร ซื้อวิทยุสื่อสาร และเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงตำรวจ และรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น

รวมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบาย 5 ข้อ ได้แก่ 1.แสวงหาแนวทางให้ผู้ใช้รถใช้ถนน เคารพกฎจราจรและมีมารยาท 2.ใช้รถจักรยานยนต์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปแก้ไขปัญหายังจุดที่รถติด เปรียบเสมือนกับรถนำขบวน โดยเมื่อขบวนรถจักรยานยนต์จะเข้าไปแก้ไขปัญหาทำให้รถในขบวนเคลื่อนที่ไปได้ ซึ่งรถในถนนมีหลายขบวนก็เช่นเดียวกัน

3.ให้รถจักรยานยนต์ดูแลการจราจรในถนน ให้รถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ ตามความเหมาะสม 4.ถนนที่เป็นคอขวดให้รถจักรยานยนต์เข้าไปแก้ไขปัญหาให้รถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ เปรียบเสมือนเทนํ้าออกจากขวด และให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจราจร

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

“ตั้งแต่ก่อตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ปฏิบัติงานยึดหลักการทำงานสอดคล้องตามแนวพระราชดำริ คือช่วยเหลือประชาชน คนเจ็บ คนป่วย แบ่งงานออกเป็นหมอถนน หมอคน หมอรถ” พ.ต.ท.ไพฑูรย์ คตกฤษณ์ รองผกก.6 บก.จร. กล่าวถึงภารกิจของตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ ที่เริ่มตั้งแต่ตีห้าครึ่งของทุกวันไปจนถึงดึกดื่น 

หมอถนน เป็นชุดมอเตอร์ไซค์เคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการจราจรเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ชั่วโมงเร่งด่วนมีกำลังพลไปประจำจุดหน้าโรงเรียนในเขตกรุงเทพชั้นใน ช่วงเช้าและเย็นเป็นเวลาเร่งด่วนที่ผู้ปกครองจอดรถรับส่งบุตรหลาน รวมทั้งช่วงเวลาเลิกงาน คนเดินทางกลับบ้าน มีชุดจิตอาสาคอยอำนวยความสะดวกให้กับคนข้ามถนนด้วย

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

ส่วนหมอคน มีชุดเคลื่อนที่เร็ว กรณีมีอุบัติเหตุหรือทางเราได้รับวิทยุแจ้งที่บก.02 สายด่วน 1997 พวกเราจัดชุดปฏิบัติการให้ไปถึงที่หมายโดยเร็ว เพื่อปฐมพยาบาล และนำรถพยาบาลพาคนเจ็บ คนป่วยส่งโรงพยาบาล เกิดจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้ง พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ยศในขณะนั้น) ถวายรายงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำรินี้ ทรงติดตามความคืบหน้าและมีรับสั่งว่า 

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

“เมื่อเจอคนเจ็บ จะทำยังไงให้คนเจ็บไปถึงโรงพยาบาลเร็วที่สุด” 

ในการนี้ มีพระราชกระแสทรงห่วงใยและมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ นำคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมี หมอรถ เป็นชุดตำรวจช่าง เมื่อแรกเริ่มยังไม่มีส่วนนี้ พอเกิดเหตุรถเสีย กีดขวางการจราจร ทำให้รถติดยาว ถ้าเราสามารถเคลื่อนรถออกไปได้เร็ว ปัญหาก็จะคลี่คลายเร็ว”  

ที่ผ่านมา ผลความสำเร็จนับตั้งแต่มีการก่อตั้งตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 ถึง 30 ก.ย.2566 ช่วยเหลือประชาชนนำผู้ป่วยบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล 16,137 ครั้ง นำหญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล 3,490 ครั้ง อุบัติเหตุจราจร 7,827 ครั้ง ช่วยทำคลอดฉุกเฉิน 279 ครั้ง ปลดเบรกล็อก 1,509 ครั้ง รถจอดเสีย 14,296 ครั้ง อื่นๆ 963 ครั้ง

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

“ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับกฎหมายเบื้องต้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยกองบังคับการตำรวจจราจร ทีมแพทย์จากสภากาชาดไทย วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นวิทยากรให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ในรถของเจ้าหน้าที่ทุกคน มีแอลกอฮอลล์ฆ่าเชื้อโรค น้ำเกลือล้างแผล ถุงมือ ผ้าก๊อซ ผ้ายืดสำหรับห้ามเลือด เวชภัณฑ์อื่นๆ ใส่กล่องดำท้ายรถไว้เสมอ ซึ่งเคสแรกๆ ช่วยทำคลอดฉุกเฉินในรถเก๋ง จอดตรงแยกดินแดง ตกใจทำอะไรไม่ถูกวิ่งไปวิ่งมา ตั้งสติได้ก็ทำการช่วยชีวิตอย่างที่เราอบรมมา” ร.ต.ท.มานะ จอกโคกสูง รองสารวัตรจราจรตามโครงการพระราชดำริ กก.6 บก.จร. ผู้ปฏิบัติหน้าที่มากว่า 27 ปี กล่าว 

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

วินาทีที่ความเป็นความตายอยู่ใกล้กัน ผู้หมวดมานะเล่าถึงเคสเด็กหมดสติอยู่บนรถยนต์ที่พ่อของเขากำลังพาไปส่งโรงพยาบาล 

“ช่วงบ่ายสามโมง การจราจรหนาแน่นมาก ได้รับแจ้งเหตุว่ามีเด็กหมดสติอยู่ในรถ เราตรวจเจอว่าเป็นรถคันไหนก็ตามไปช่วยปั้มหัวใจ พอมีสัญญาณชีพจร มีอาการตอบสนองทางร่างกาย ก็รีบบึ่งรถนำทางไปส่งโรงพยาบาล ถึงที่หมายแล้วพ่อของเด็กคนนี้ ก้มกราบเท้าพวกผม ตกใจมาก ทำตัวไม่ถูกเลย” 

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

อีกเคสหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ รองผบก.จร.(จ.6) และคณะ ปฏิบัติภารกิจนำอวัยวะหัวใจดวงที่ 76 จากสนามบินสุวรรณภูมิส่งไปยังโรงพยาบาลศิริราช 

“วันนั้นสภาพอากาศแย่ แต่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทางท่าอากาศยานให้จุดจอดเครื่องบินใกล้ที่สุด ศูนย์อำนวยการจราจรหาทางลัดออกมาจากพื้นที่สนามบิน จนถึงถนนมอเตอร์เวย์ ทางด่วน ถนนพื้นราบ กราบขอบพระคุณผู้ร่วมทางบนถนนในวันนั้น ช่วยเปิดทางให้ภารกิจเสร็จสิ้นใช้เวลา 33 นาที แบบไม่มีการปิดถนน ทุกคนแฮปปี้” 

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

ส.ต.อ.เคนษิวัตร กายา ผบ.หมู่.งานฯ 2 กก.6 บก.จร. เล่าเสริมว่าในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาย้ำถึงความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ 

“งานของเรา เป็นงานออกไปช่วยเหลือประชาชน ต้องแข่งกับเวลา ทางผู้บังคับบัญชาเน้นเรื่องปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่และผู้โดยสาร กำลังพลทุกคนเข้ารับการฝึกอบรมด้านการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์อย่างถูกวิธีกับฮอนด้าเพื่อให้รู้หลักการแซง การเข้าโค้งและเบรก ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ 

ส่วนเรื่องงานด้านซ่อมรถยนต์ ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ จะได้รับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมของโตโยต้ากับฮีโน่ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจระบบการทำงานของเครื่องยนต์ตั้งแต่รถขนาดเล็กไปจนถึงรถใหญ่อย่างพวกรถบรรทุก รถเมล์ ยิ่งได้เรียนรู้ทุกปี เรายิ่งสนุก เวลาเจอเคสรถเสีย ก็แก้ปัญหาได้ไวขึ้น” 

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

ยังมีภารกิจอื่นๆ ที่อาจคาดไม่ถึง เช่น เหตุลืมกุญแจในรถ เหตุน้ำท่วมขังพื้นผิวจราจร เพลิงไหม้รถจักรยานยนต์ ชายจะกระโดดสะพาน ด.ต.อารยะ ป้อมค่าย ผบ.หมู่.งานฯ 2 กก.6 บก.จร. เป็นหนึ่งในตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน 

“พอทราบเหตุแล้วอะดรีนาลีนหลั่ง ไม่ว่าพวกเราทำอะไรอยู่ รีบวิ่งไปที่รถ ใครมีอุปกรณ์อะไรมั่ง ไปๆๆๆ สตาร์ทเครื่องเตะขาตั้ง บิดรถมอเตอร์ไซค์ขับไปที่เกิดเหตุ บางจุดไม่คุ้นเส้นทาง ชาวบ้านเห็นตำรวจก็บอกทาง ถามพี่วินมอเตอร์ไซค์บางคนอาสาช่วยนำทางไป

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

เคยได้รับแจ้งเหตุ ว่ามีชายอุ้มลูกจะกระโดดน้ำตาย เราไปในที่เกิดเหตุ เจอเขาเดินอยู่แถวนั้นพอดี บางทีคนเราเจอสังคมบีบรัดก็หาทางออกให้ชีวิตไม่ได้ ยิ่งเห็นเด็กร้องไห้ เรายิ่งน้ำตาซึม ก็ค่อยๆ พูดให้กำลังใจในสิ่งที่เขาสิ้นหวัง กอดเขา จูงมือพาเขามาที่ปลอดภัย  แล้วพอสถานการณ์คลี่คลายแล้วติดต่อหน่วยกู้ชีพให้ไปส่งบ้าน 

งานที่เราทำเสมือนนำน้ำพระราชหฤทัยของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปสู่ประชาชนที่พระองค์ท่านทรงห่วงใย เราต้องไม่ลืมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งเสื้อที่สวมใส่อยู่มีข้อความเราทำดีถวายในหลวง เป็นเครื่องเตือนใจ”

รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9

ช่วงโควิดระบาด รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว บ้านเมืองล็อกดาวน์ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ คตกฤษณ์ กล่าวว่า ตำรวจโครงการพระราชดำริฯ ปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง 

“ช่วงนั้นคนอยู่บ้านกันหมด มีผู้ป่วยโควิดเยอะมาก หน่วยงานของเรานำส่งผู้ป่วย ส่งยารักษาตามที่พักอาศัย เพราะทุกชีวิตมีค่า เขารอด เขาหมดจากความทุกข์ เราก็มีความสุข เราทำงานแบบปิดทองหลังองค์พระปฏิมา ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด การปฏิบัติงานตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ เพิ่มประสิทธิภาพในการบรรเทาทุกข์ นำโซเชียลมีเดียมาเป็นช่องทางติดต่อประสานงาน รวมทั้งงานวิทยากรบรรยายตามสถาบันการศึกษาให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุด”

ภาพ : ศูนย์ภาพเนชั่น , ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร 


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *