มันจะเป็นซอฟต์ ที่ไม่มีเพาเวอร์ เอาอย่างไรกับ‘พ.ร.บ.ภาพยนตร์’ เมื่อวงการ มูฟออนเป็นวงกลม


มันจะเป็นซอฟต์ ที่ไม่มีเพาเวอร์ เอาอย่างไรกับ‘พ.ร.บ.ภาพยนตร์’ เมื่อวงการ มูฟออนเป็นวงกลม

Poll_Srettha_Government

มันจะเป็นซอฟต์ ที่ไม่มีเพาเวอร์
เอาอย่างไรกับ‘พ.ร.บ.ภาพยนตร์’
เมื่อวงการ มูฟออนเป็นวงกลม

ออกสตาร์ตเป้าหมายใหญ่ ตั้งใจสร้างเม็ดเงินมหาศาลเมื่อรัฐบาลที่นำโดยนายกฯนักธุรกิจ ควบเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง หวังลุยซอฟต์เพาเวอร์เต็มสูบ สร้างแนวรุกครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะ กีฬา, เทศกาล (เฟสติวัล), เกม, ภาพยนตร์, หนังสือ, ดนตรี, การออกแบบ, แฟชั่น, ท่องเที่ยว และศิลปะ กำลังจะถูกผู้เชี่ยวชาญจาก 11 สาขาใน “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติซอฟต์พาวเวอร์” หาทางผลักดันให้ไทยพร้อมแข่งขัน ฟื้นความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ อัพสกิลให้ 20 กว่าล้านชีวิต กลายเป็น ‘แรงงานที่มีทักษะสูง’

สวนทางกับความเป็นจริง แม้มีไอเดียดีแต่ก็ถูกเขี่ยทิ้งด้วยกรอบความคิดเก่า เพราะหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ที่สำคัญยิ่งอย่าง ภาพยนตร์ไทยนับเรื่องไม่ถ้วนที่ถูกเซ็นเซอร์ห้ามฉาย ข้ามไม่พ้นนิยามศีลธรรมอันดี

ประจักษ์พยานเด่นหรา คือการมี ‘คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ’ ตัวการที่ฉุดรั้งความสามารถของคนไทย ขวางบรรยากาศการสร้างสรรค์ เพราะเนื้อหาอันแหลมคมถูกท้าทายด้วยความหวาดกลัว มีคำว่า ‘เซ็นเซอร์’ เป็นด่านสกัดกั้นทั้งเสรีภาพและความก้าวหน้า ไม่ต่างจากยุค 6 ตุลาฯ ที่ปิดกั้นความจริง เต็มไปด้วยการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร

แม้ผ่านมา 47 ปี เสรีภาพยังคงถูกผูกไว้กับความมั่นคงของชาติ

“เอายังไงดีกับกองเซ็นเซอร์ : บทบาทของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ภายใต้รัฐบาลซอฟต์เพาเวอร์” เป็นประเด็นใหญ่ที่ตัวแทนสมาคมภาพยนตร์และนักการเมืองไทยฝากไอเดีย ชวนรัฐบาลหาทางไป เมื่อไม่นานมานี้

มันเป็นความดัดจริต ‘ยกเลิกซะ’

“มันเป็นความดัดจริต ของการสร้างคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา”

เป็นมุมมองของ โชคชัย ชยวัฑโฒ ผู้อำนวยการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ (MPC) ต่อการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ พร้อมยิบยกความย้อนแย้ง อย่างฉากพระที่โดนแบน แต่หน้าข่าวปรากฏว่า ‘พระเสพเมถุน’

“มันไม่ใช่ความร่วมสมัย คือความล้าสมัยมากกว่า ถ้าร่วมสมัยจริงต้องหยิบเอาข่าวหน้า 1 นั้นมาตีแผ่ และถอดบทเรียนออกมา ซึ่งผู้กำกับหลายคนอยากทำเรื่อง ‘กำนันนก’ แต่ท้ายที่สุดจะไปแตะต้องถึงรูปคดีได้อย่างไร เพราะเราก็รู้ว่ามันไปได้ไม่สุดอยู่แล้ว ผอ.สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์ฯ เห็นถึงการกดทับ ปิดบัง ที่รัฐพยายามทำเสมอมา

เราควรจะทำอย่างไรกับเรื่องการเซ็นเซอร์?

โชคชัยย้อนเล่าความเป็นมาของกฎหมาย ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำหน้าที่ควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต่อสู้กันมา 80 ปี จนกระทั่งเปลี่ยนสภาพไปเป็น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ.2551 ที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ภาครัฐก็ขอติ่งหนึ่งไว้ คือ สามารถขออนุญาตแบนได้ และเปลี่ยนจากการควบคุมมาเป็นการกำกับดูแล

“หมายความว่า เราก็ยังโง่เขลาอยู่ ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิมาควบคุม ชี้แนะ ตัดฉากนั้นนี้ มีปัญหามาตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก ‘องคุลิมาล’ ผมอยู่ในเวทีนั้นมาตลอด ก็พยายามบอกว่า คุณเข้าใจผิด ภาพยนตร์มันมีนัยสำคัญของการเอาหินไปปาองคคุลิมาล ตอนบวชเป็นพระ ซึ่งเขาไม่เข้าใจ จะดูภาพเป็นท่อนๆ ว่าพระโดนปาไม่ได้ ไม่สมควร หรือพระเล่นกีตาร์ใน ‘แสงศตวรรษ’ แม้แต่หนังเรื่องล่าสุด ซึ่งไม่ได้ดูองค์รวมของภาพยนตร์”

“พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ยกเลิกมันซะ เปลี่ยนจากการควบคุมเป็นการส่งเสริมแทน ถ้ามองว่าภาพยนตร์คือซอฟต์เพาเวอร์สำคัญ ต้องส่งเสริม ไม่ใช่มากำกับดูแลความคิดสร้างสรรค์” เป็นทางออกของคนในวงการหนัง

ย้อนกลับไปก่อนเลือกตั้ง โชคชัยเคยจัดเสวนา เชิญพรรคการเมืองมาร่วม ซึ่งต่างก็ยกมือเห็นด้วยว่า ถึงเวลาที่คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์จะมีอิสระ เพราะตราบใดที่อยู่ในมือของรัฐก็มักจะโดนแบน

ต่างจากในต่างประเทศ ที่คณะกรรมการปล่อยเรตตามผู้เสนอมา แล้วรับผิดชอบร่วมกัน หมายความว่าถ้ามีการร้องเรียนจะบุกไปที่คณะกรรมการเซ็นเซอร์เพื่อขอเอาผิด

“จริงๆ ภาพยนตร์ที่ออกไปมันมีกฎหมายเอาผิดเยอะแยะมากมาย ทั้งหมิ่นประมาท ผิด พ.ร.บ.สุรา กำกับเยอะไปหมด ฯลฯ ซึ่งทุกคนยกมือ 100% เราก็จะจับตาดูว่า ถ้าคุณเป็นลูกผู้ชายพอ ต้องทำจริง คุณจะเอามันออกจากกระบวนการควบคุมของรัฐได้หรือไม่ เพราะคือสาเหตุสำคัญของการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ความคิดสร้างสรรค์”

“มันจะเป็นซอฟต์ที่ไม่มีเพาเวอร์ มันจะเป็นน้ำไหลๆ ไม่สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงของภาพยนตร์ได้” ผูคร่ำหวอดในวงการหนังฝากฝังรัฐบาล

ยิ่งเซ็นเซอร์ ยิ่งขยาย
บล็อกอย่างไรก็ไม่มิด
แนะ ‘บาลานซ์’

เป็นเรื่องที่ต้อง ‘บาลานซ์’ ระหว่างข้อห้ามและการเข้าถึงข้อมูล-ข่าวสารได้

ศิธา ทิวารี สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) เล่าจากประสบการณ์ สัมผัสได้ว่าส่วนไฮไลต์ของภาพยนตร์มักโดนตัดออกจนแทบดูไม่รู้เรื่อง กลับกันถ้าไม่เซ็นเซอร์เลยแล้วหนังสอนเรื่องวิธีทำระเบิดแสวงเครื่อง ก็อาจเกิดการเลียนแบบได้

ในขณะประเทศที่เจริญแล้ว ใช้วิธีปล่อยให้เข้าถึงข้อมูลทั้งหมด แต่มีกระบวนการสอนให้เด็กอยู่ในโลกความเป็นจริง รู้จักแยกแยะผิด-ชอบ ชั่ว-ดี

“เด็กสมัยใหม่เขางงมากว่าทำไมในโรงภาพยนตร์ หรือทีวีต้องเซ็นเซอร์ สิ่งที่เราห้ามไม่สามารถบล็อกการเข้าถึงได้จริงๆ อินเตอร์เน็ตเข้าถึงได้อยู่ดี ไม่มีคนสอนในสิ่งที่ถูกต้อง”

ศิธามองเหตุการณ์ที่เด็กอายุ 14 ปี กราดยิงในห้างกลางกรุงว่า ถ้าเลือกเซ็นเซอร์ปืนทั้งหมดจนเด็กไม่รู้ว่านี่คือปืน หรือปืนปากกา แล้วมีการจ้างเด็ก 6-7 ขวบ ‘หนูลองกดปุ่มตรงนี้’ กลายเป็นเอาเด็กไปฆ่าคนตาย แล้วกฎหมายยกโทษอีก เพราะเมื่อครั้งเป็น ส.ส.เขตคลองเตย ก็เคยมีลักษณะเช่นนี้

“การส่งยาเสพติดเขาให้เด็กถือไปให้ เด็กไม่รู้ แล้วให้ 20 บาท หรือให้อมยิ้ม 1 อัน ถ้าเด็กไม่รู้ ก็อาจทำความผิดได้โดยไม่รู้ตัว” ศิธาชี้จุดบอด

ซูมฉากเณรปลอบแม่ตัวเอง เผยแพร่ไม่ได้ เพราะกลายเป็นพระไปกอดผู้หญิง หรือฉากคุณหมอดื่มสุรา ทั้งที่การดื่มเหล้าในโรงพยาบาลมีบทลงโทษอยู่แล้ว ว่าเป็นเรื่องไม่เมกเซนส์ เพราะการถูกตัดออกทำให้ไม่เห็นที่มาที่ไปของเนื้อเรื่อง ซ้ำยังทำลายอรรถรส ซึ่งบ้านเราทำกับทุกเรื่อง

การเซ็นเซอร์จึงควรต้องดูเจตนารมณ์ทางกฎหมาย มีคณะกรรมการทำให้ถูกต้อง เพื่อให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์สามารถเติบโต ในฐานะซอฟต์เพาเวอร์ได้จริง

“การเซ็นเซอร์แทบไม่ได้ประโยชน์ มิหนำซ้ำยังไปขยายประเด็น ทำให้คนยิ่งอยากรู้อยากเห็น

คล้ายกับกรณีเพลง ‘ประเทศกูมี’ จากที่ยอดคนดูหลักแสนวิว เมื่อปิดกั้นก็ส่งกันอุตลุด ขึ้นเป็น 10 ล้านวิว

“ทำให้คนยิ่งไปฟังและสงสัยว่าโดนตรงไหน แล้วนั่งแกะทีละท่อน เรื่องเหล้าเบียร์ก็เหมือนกัน รายเล็กโดนห้าม ไปผลิตที่เวียดนามแล้วส่งมาขายที่เมืองไทย รายได้เข้าเวียดนาม ปรากฏว่าคนไทยทำเก่ง ได้รางวัลระดับโลก แต่รางวัลเป็นของเวียดนาม มันก็จะเกิดกับภาพยนตร์ไทย สมองจะไหล สิ่งที่เขาตัดออกคือตัดลูกยอด ที่น่าเบื่อหน่ายไม่มีอะไรให้ตัด กลายเป็นไม่มีคนดู รายได้น้อย”

ศิธาสรุปให้ว่า ไม่ได้ประโยชน์อะไรสักด้าน เหมือนกับเรื่อง sex worker การพนัน สุรา

“อะไรที่ก่อรายได้ให้ประเทศทำให้คนแห่มาเที่ยวเมืองไทย โดนเซ็นเซอร์หมด เราเป็นแบบนี้”

แบบนี้มันไม่ใช่
ไกด์ทางรัฐบาล บินไปนอก ‘ลองคุย’ 

เมื่อรัฐบาลชูธงหลักเรื่อง soft power กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว

ศิธาจึงขอนิยามความหมายให้ชัดว่า ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ คือการใช้ความนุ่มนวลอ่อนช้อย ความสวยงาม ความไพเราะเพราะพริ้ง ความอร่อย ความบันเทิงเริงรมย์ จูงใจให้คนทำในสิ่งที่ต้องการ ต่างจาก ‘ฮาร์ดเพาเวอร์’ การใช้กำลัง ใช้กฎหมายขู่เข็ญ

“ในปัจจุบันเราต้องการหาเงินเข้าประเทศ ให้คนมาเที่ยว เราเห็นหลายประเทศอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ใช้ซอฟต์เพาเวอร์ได้อย่างมีประสิทธิผล เราจะทำบ้างแต่เรายังไม่เข้าใจ ก็ไปขายวัฒนธรรมแล้วบอกว่านี่คือซอฟต์เพาเวอร์ มันไม่ใช่

“มันคือการทำอะไรที่จะอิงวัฒนธรรม หรืออะไรก็ได้ นิยามของผมคือความเป็นไทย (thainess) บวกกับ Global mindset คือเราต้องทำในสิ่งที่ทั้งโลกเขาทำก่อน แล้วดึงเอาจุดขายความเป็นไทยเข้ามา อย่าง ‘ต้มยำกุ้ง’ เป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้ เวลาคนไทยกิน เราเอาข้าวมาวางแล้วก็ตักต้มยำกุ้งที่ละช้อน หมดพร้อมกัน แต่ Global Mindset ของฝรั่งเขากินซุปก่อนอาหาร”

สุราไทยก็เป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้ ถ้าเปิดกว้างให้ทุกจังหวัดมีสุราเป็นของตัวเอง สามารถนำมาแมตช์กับอาหารได้ ไปปักษ์ใต้ต้องกินกับเหล้าตัวนี้ เป็นสตอรี่ทำให้คนอยากมาลอง ไปอีสานกินไก่ย่างส้มตำเจ้านี้ ต้องกินกับเหล้าแบบนี้ มันจะเข้ากับอาหารประเทศนั้น” ศิธาให้ไอเดีย เพื่อหาทางพลิกแพลงรุกตลาดสากล

มั่นใจว่าถ้ารัฐบาลยังปิดกั้น อะไรหลายๆ อย่างก็ไม่สามารถที่จะโตได้

คีย์สำคัญที่ศิธาย้ำกับรัฐบาล คือก่อนที่จะทำให้คนอื่นเขาศรัทธา เราต้องเชื่อก่อน ไม่ใช่ทำให้เห็นแบบ ‘แก้บน’

“อย่างเราจะบอกว่าผ้าไทยดี โปรโมตผ้าขาวม้า ต้องโปรโมตก่อน ไม่ใช่มาถึงแล้วทำเลย นักการเมืองไปอีสานเอาผ้าขาวม้ามาคาดเอว แล้วบอกเป็นซอฟต์เพาเวอร์ คุณต้องศรัทธาก่อน ไม่ได้ห้ามใส่แบรนด์เนม แต่ถ้าชีวิตประจำวันคุณไม่เคยแตะ ใส่แต่แบรนด์เนม คนก็จะรู้สึกว่าเฟค

“ฝากถึงรัฐบาลง่ายๆ รัฐบาลนี้เป็นนักธุรกิจสามารถคุยกับต่างประเทศได้ ไปประเทศไหนคุยกับประเทศนั้น คุณมีชาเนล หลุยส์วิตตอง ตัววัตถุดิบของไทยดีๆ มีเยอะ ไปคุยแล้วขอสักอันนึงได้ไหม เอากระเป๋าทำจากผ้าฝ้ายอันนี้มาคอลแล็บส์กัน แบรนด์ไทยก็จะไปได้ด้วย ตั้งเป้าว่าไปประเทศหนึ่งให้ได้สัก 2-3 เจ้าที่เป็นสินค้ายอดนิยมของเขา ทั้งภาพยนตร์ เพลง เราสามารถที่จะขายได้ เอามาผูกกับสินค้าไทย การเชิญชวนมาเที่ยวไทย ไม่น่าจะบังคับให้เขามาดูอย่างไทยๆ มาดูโขน 100% เพราะไม่ใช่ Global Mindset หรือสิ่งที่เขาต้องการ” ศิธาทิ้งท้าย

เชื่อว่าแนวทางนี้จะสร้างงาน สร้างรายได้ หากหนุนให้ทุกภูมิภาคได้แข่งขัน ประกวดกันเหมือนโอท็อป (OTOP) แต่ทำให้เห็น จะสามารถดึงเงินเข้าประเทศได้จริง

เสียดาย เสียดาย เสียดาย
บอร์ดซ้อนบอร์ด แทรกแซง เซ็นเซอร์

วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มองลึกถึงแกนหลัก เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมักจะมีการ ‘การปฏิวัติวัฒนธรรม’ หรือการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ซึ่งการจำกัดเสรีภาพ ย่อมกระทบโดยตรง

“สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนเรื่องกองเซ็นเซอร์จะมี 2 คณะกรรมการหลักๆ ใน พ.ร.บ. คือ 1.คณะกรรมการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ แต่ความจริงในชุดนั้นจะมีอีก 1 ชุด ที่เรียกว่าคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เปรียบง่ายๆ เหมือนเป็น ‘ซุปเปอร์บอร์ด’ ของคณะกรรมการเซ็นเซอร์อีกที”

แล้วมีการแทรกแซงอย่างไร? มาดามเดียร์อธิบายว่า คณะกรรมการในซุปเปอร์บอร์ดมีประธานคือนายกฯ และรองประธานโดยตำแหน่งคือ 1.รมว.วัฒนธรรม 2.รมว.การท่องเที่ยว ส่วนอีก 10 กว่าชื่อเป็นข้าราชการทั้งหมด

“ตอนที่เข้าไปศึกษาประหลาดใจเหมือนกันว่าคณะกรรมการทำไมถึงจะต้องมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตัวแทนกระทรวงกลาโหม ที่ดูแล้วอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับมุมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เท่าไหร่” วทันยาตั้งข้อสงสัย

มาดามเดียร์เอ่ยปากว่า น่าเสียดายแทนวงการภาพยนตร์ไทยมาก ทั้งๆ ที่คนไทยมีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ แต่บุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ กลับมีสัดส่วนเพียงแค่ 7 คน ในซุปเปอร์บอร์ดนี้

“ถ้าเราไม่มองแค่มิติการเมือง แต่มองมิติเศรษฐกิจ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกประเทศที่สามารถพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เขาไม่ได้เคลื่อนแค่เศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เคลื่อนควบคู่อยู่เสมอคือซอฟต์เพาเวอร์ มันเป็นการเรียกว่าความเชื่อมั่นต่อสายตาทั่วทั้งโลก แต่ก็กลับกลายเป็นเราไม่ได้ใช้พื้นที่เหล่านี้เลย ในเชิงกลับกันทำให้เห็นมายด์เซต ‘มองมิติความมั่นคง’ เพียงอย่างเดียว”

เป็นจุดที่นักการเมืองหญิงท่านนี้คอนเฟิร์มความคิดตัวเองได้ว่า มีอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงอยู่จริง

“อยากจะใช้คำว่า มันเป็นการยัดเยียดค่านิยมของตัวเอง แล้วไม่ยอมรับความจริงมากกว่า ไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งที่เน้นย้ำเรื่องความมั่นคงกำลังจะบั่นทอนอุตสาหกรรม”

มาดามถามคำเดียว จะมีสักกี่คนที่ดูหนังในโรงอย่างเดียว เมื่อทุกวันนี้มีเน็ตฟลิกซ์ แล้วกลายเป็นว่าแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม ไม่มีการเซ็นเซอร์อีกต่อไป ‘การเซ็นเซอร์’ จึงเท่ากับการแทรกแซงด้วยค่านิยม ‘ไม่ยอมรับความจริง’

“ทุกวันนี้ไม่สามารถปิดบังการเข้าถึงสื่อได้เหมือนอดีตอีกต่อไป เราควรกลับมาทบทวนเรื่องกองเซ็นเซอร์และกฎหมาย ให้ Up to date ร่วมสมัยทั้งในเรื่องค่านิยมที่เปลี่ยนแปลง โลกที่หมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ

จะทำอย่างไรที่ไม่เอารูปแบบเดิมๆ ไปปิดกั้นโอกาสของคนไทยที่จะผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ออกสู่สายตาชาวโลก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการขยายเศรษฐกิจและโอกาสของคนไทยในการหารายได้

มันมีแต่เรื่องที่พูดได้คำเดียวว่า “เสียดาย เสียดาย เสียดาย”

ซอฟต์เพาเวอร์ ไม่เท่ากับวัฒนธรรม!

หลายรอบมากที่มาดามเดียร์พยายามอธิบาย ทั้งกับภาครัฐ ในสภา เวทีกรรมาธิการ ต้องเข้าใจซอฟต์เพาเวอร์ให้ตรงกันก่อน จึงจะพัฒนาได้ถูกทาง

แต่ปัญหาคือ หน่วยงานราชการส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า ‘ซอฟต์เพาเวอร์ เท่ากับ รำไทย ข้าวเหนียวมะม่วง’

“กลายเป็นเราไปทำอะไรที่ผิดๆ เสียทั้งเวลา งบประมาณ และโอกาสของประเทศ ถ้าแปลตรงตัว ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ คืออำนาจละมุน อำนาจอะไรก็ได้ที่ทำให้คนคนหนึ่งเขาอยากจะทำ อยากเป็นแบบนั้นโดยสมยอม ไม่ได้บังคับ แล้วอะไรบ้างที่ทำให้คนแปรเปลี่ยนความคิด เกิดจากการตกผลึกด้วยตัวเอง หนีไม่พ้นการเสพเนื้อหาผ่านหนังสือ งานวรรณกรรม การเรียนรู้ในห้องเรียน การดูคอนเทนต์ วิดีโอ ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน เกม มากกว่าไปสนับสนุนแข่งทำข้าวเหนียวมะม่วงที่จานใหญ่สุดในประเทศ”

มาดามเดียร์ชวนกลับมามองว่าเราจะสร้างสังคมให้มีเสรีภาพในการเสนอความเห็น เพื่อสนับสนุนความสามารถของคนไทยให้ไปไกลที่สุดอย่างไรมากกว่า

เชื่อมั่นจริงๆ และพูดมาเสมอว่า ความคิดสร้างสรรค์เราไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยเฉพาะ South East Asia เราถือเป็นประเทศต้นๆ ลาว เขมร เสพภาพยนตร์ไทย แต่ทำไมวันนี้วงการสื่อมูฟออนเป็นวงกลม ไม่ไปไหน

“เรากำลังเห็นหลายๆ ประเทศทั่วโลกนำเราไป เพื่อนบ้านก็กำลังไล่ทัน ทางถนัดของเรา อย่าปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยกันเอง เชื่อว่าถ้าภาครัฐเข้าใจได้ถูกต้อง ใส่ใจสักนิด และลงมืออย่างจริงจัง คนไทยเราไปได้ไกลอย่างแน่นอน” วทันยาเชื่อสุดใจ

อธิษฐาน จันทร์กลม

QR Code

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

Line Image


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *