วาระเร่งด่วน! 15 ม.ค. 67 แจ้งเกิด“Cell Broadcast”


ถือเป็นเรื่องที่ “สังคม” ทวงถามจนเป็นกระแสขึ้นมาทันที หลังเกิดเหตุรุนแรงกราดยิงในห้างฯใหญ่กลางเมือง ว่าเหตุใด? ประเทศไทย จึงยังไม่มีการทำระบบ เอสเอ็มเอส (  SMS) หรือ ข้อความสั้น  เพื่อใช้แจ้งเตือนประชาชน เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินและ ภัยพิบัติต่างๆ!?!

เพื่อให้ประชาชนชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้รับรู้ถึงความเสี่ยงถึงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น  พายุ น้ำท่วม  และอาชญากรรมรุนแรง เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับมือให้ดีที่สุด ในการป้องกันความเสี่ยงต่อชีวิต และทรัพย์สินของตนเองและครอบครัว!!

ซึ่งการเตือนภัย! จากหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ เช่น  ญี่ปุ่น  เกาหลี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น มีการทำมานานแล้ว!?!

ทั้งการเกิดพายุรุนแรง แผ่นดินไหว  การแจ้งเตือนเรื่องฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือ เป็นอุปกรณ์ติดตัวที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายและเร็วที่สุดที่สามารถใช้เตือนภัยให้ถึงประชาชนได้เร็วที่สุด นอกเหนือจาก ทีวี และวิทยุ!!

พชร นริพทะพันธุ์

 เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว จึงทำให้รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องการให้เรื่อง  เซลล์  บรอดแคสต์ ( Cell Broadcast ) หรือ ระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณ ไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกัน ในรวดเดียว เพื่อแจ้งเตือนภัยในประเทศไทย เกิดขึ้นสำเร็จได้ทันที

ทำให้ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว. ดีอี รับลูก ได้ประสานทาง กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อทำ ระบบเซลล์ บรอดแคสต์ โดยคาดว่าจะใช้เวลาเร็วสุด ภายใน 6 เดือน และอย่างช้า ไม่เกิน 1 ปี

 อย่างไรก็ตามในการดำเนินการของ กสทช.ที่ผ่านมา ได้วางระบบแจ้งเตือนภัยไว้ 2 ระยะ โดยระยะแรกจะแป็นการแจ้งเตือนผ่านระบบโลเคชั่น เบส เซอร์วิส (แอลบีเอส) แต่เป็นระบบที่ใช้เวลาประมวลผลนาน ส่วน ส่วนระยะที่ 2 คือ ระบบเซลล์ บรอดแคสต์ ซึ่งจะทำให้มือถือที่ผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ก็จะสามารถส่งข้อความ เข้ามือถือได้ทันที !?!

แต่การทำ เซลล์ บรอดแคสต์ ทางผู้ให้บริการมือถือ จะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยน ซอฟต์แวร์ของ เสาสัญญาณ ที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การทำระบบ เซลล์  บรอดแคสต์ ยังไม่เกิดขึ้นในไทย!?!

แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะเริ่มมีความชัดเจน เมื่อทาง สำนักงาน กสทช. ได้มีการหารือกับทาง กทม. เพื่อดำเนินการเรื่องนี้นี้อย่างเร่งด่วน!!

พชร นริพทะพันธุ์” ที่ปรึกษา ประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธาน กสทช. ด้านเทคโนโลยี ต่างประเทศ พัฒนาธุรกิจ และนโยบายภาครัฐ  บอกว่า ทาง ผศ.ทวิดา กมลเวชช  รองผู้ว่า กทม. ด้านภัยพิบัติและสาธารณสุข  ได้เข้ามาหารือกับทาง ประธาน กสทช. ในเรื่องการทำระบบเเตือนภัย ว่าที่ผ่านมาทาง กทม. ได้ดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง และจะสามารถทประสานความร่วมมือกับ กสทช.อย่างไรบ้าง

“กรอบที่ว่าไว้เดิมจะโครงการนี้สำเร็จใน 12 เดือน แต่ประธาน กสทช.อย่างให้เกิดเร่งด่วน 15 ม.ค.นี้ควรจะเริ่มทดสอบได้ จึงวางไทม์ไลน์ไว้เริ่มทดสอบใน กทม. ก่อน ซึ่งทาง กทม.มองว่าครั้งแรกอาจจะยัง ไม่สำเร็จต้องเรียนรู้ในระบบ หากเริ่มต้นได้เร็วก็ยิ่งดี ซึ่งในแกนบริหารจัดการฝั่งโอปอเรเตอร์ ทาง กสทช.จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน และสนับสนุนโอปอเรเตอร์ในการปลั๊กอิน การกระจายสัญญาณ ส่วนตัวคอมมานเซ็นเตอร์ ในส่วนของภาครัฐต้องไปหารือว่าใครหรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้สั่งการ จากนั้นค่อยมาปลั๊กอินกับระบบ โดยทาง กสทช. จะทำโอเพ่น เอพีไอไว้ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เชื่อมต่อระบบได้”

“พชร นริพทะพันธุ์”  บอกต่อว่า สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ การบริหารจัดการคนและพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งทาง รองผู้ว่า กทม.ก็เห็นด้วย ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานกลุ่มเล็กๆ ขึ้น มีตัวแทนจาก กสทช . กทม. โอปอเรเตอร์ และ กระทรวงดีอี เป็นต้น เพื่อทำระบบและนำไปทดสอบแบบไม่เป็นทางการก่อน  อย่างไรก็ตามเรื่องสำคัญคือการสกรีน คำแจ้งเตือน และหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการ ทาง กสทช. จะเป็นผู้เตรียมระบบให้รองรับก่อน ซึ่งการทดสอบจะเริ่มในพื้นที่ กทม. ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศใน 1 ปี

ขณะที่ทาง ผศ.ทวิดา กมลเวชช  รองผู้ว่า กทม. ด้านภัยพิบัติและสาธารณสุข บอกว่า ได้รับทราบว่า ทาง กสทช.ได้ทำการศึกษาและพัฒนาระบบที่จะนำมาใช้ไว้ระดับหนึ่งแล้ว โดยนำข้อมูลเทียบระบบของต่างประเทศต่างๆ  เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งระบบของ กสทช. มีความพร้อมในเชิงเทคนิค ส่วนการจัดสรรงบประมาณ คาดว่ารัฐบาลน่าให้การสนับสนุน เพราะทางนายกรัฐมนตรีมีนโยบายอยากให้ไทย มีระบบนี้ในการใช้งานเพื่อเตือนประชาชนให้เร็วที่สุด

ผศ.ทวิดา กมลเวชช 

“สิ่งสำคัญที่สุด คือข้อความจากต้นทางต้องเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ ข้อมูลต้องถูกวิเคราะห์มาแล้วดังนั้น ระเบียบเงื่อนไขและข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลแต่ละแบบ จะต้องมีความชัดเจนเพราะสิ่งที่จะเตือนภัย ไม่ใช่เฉพาะภัยธรรมชาติอาจรวมถึงภัยฉุกเฉินสาธารณะภัยที่มีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนได้รู้ถึงสถานการณ์โดยเร็วที่สุดและสามารถหาทางแก้ไขได้เอาตัวรอดได้”

ขณะเดียวกันเวลาที่แจ้งเตือนให้คนรู้ในกรณีเรื่องฉุกเฉิน ที่แจ้งเหตุทันทีทันใดแล้ว  ส่วนพื้นที่เกิดเหตุจะต้อง มีการวางระบบ แนวทางปฏิบัติที่จะดูแลคนจำนวนมาก ต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่และแนวทาง รองรับผลกระทบ มีข้อกำหนดไว้อย่างละเอียด แลัระบบต้องออกแบบให้ดีเพื่อมุ่งไป ที่การลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

เมื่อความมีพร้อมทางด้านอุปกรณ์หรือทางเทคนิคแล้วยังต้องดูถึงโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่ด้วยว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน แต่ละพื้นที่มีความพร้อมสอดคล้องกับระบบอย่างไรบ้าง และเมื่อทดสอบแล้วจะสามารถนำ ไปใช้ได้ในทุกพื้นที่หรือไม่!?!

 อย่างเช่น พื้นที่ในกรุงเทพมหานครมีความซับซ้อนและความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เบื้องต้นคาดว่า น่าจะใช้เวลาทำงานอีกสองถึงสามเดือนในการดูข้อมูลในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่และจะเริ่มทดสอบได้ในเบื้องต้น โดยอาจจะใช้พื้นที่จำกัดก่อน เช่น สวนสาธารณะ  อาคารหรือสนามกีฬา เป็นต้น ภายในกรอบเวลาที่กำหนดต้นปีหน้า

“กทม.จะเป็นเจ้าภาพร่วมในการเชิญคณะทำงานมาหารือแนวทางการทำงานในพื้นที่ ขณะที่ กสทช.จะทำระบบ โครงสร้างพื้นฐานและข้อกฎหมายในการทำงานร่วมกับ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยจะมีการเชิญ หน่วยงานที่เป็นต้นทางของข้อมูล เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา ,กรมทรัพยากรธานี ,กรมควบคุมมลพิษ  ,กรมชลประทาน และที่สำคัญที่สุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อทำระบบทดสอบเบื้องต้นขึ้นมา”

ทั้งหมด เป็นความคืบหน้าเรื่อง เซลล์  บรอดแคสต์ ที่ประเทศไทยควรจะมีมานานแล้ว แต่ก็ยังก็ไม่เกิดขึ้น ครั้งนี้คงถึงเวลาที่ต้องแจ้งเกิดสักที!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *