ก.อุตฯ ชู 8 มาตรการยกระดับอาหารฮาลาลปีงบ’67หนุนฮับภูมิภาค



กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เดินหน้าจัดทำมาตรการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดโลกชู 8 มาตรการหลักขับเคลื่อนปีงบ 2567 โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ในท้องถิ่น พร้อมตอบสนองความต้องการตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมที่มีการเติบโตสูง และตั้งเป้าสู่การเป็นผู้นำ การผลิตอาหารฮาลาลในภูมิภาค
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญเนื่องจากตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจึงต้องการผลักดันอาหารฮาลาลของไทยขยายตลาดมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกและก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงได้เตรียมมาตรการและแผนงาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ ฯลฯผ่าน 8 มาตรการหลักที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2567

“ การดำเนินการจะร่วมเป็นเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมในภูมิภาคในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุน ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางฮาลาลภูมิภาคอย่างยั่งยืน”นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 136,503 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ โดยไทย มีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้านดังนั้นแนวทางการยกระดับ โดยมีมาตรการที่สำคัญ 8 มาตรการ ได้แก่ 1. ขับเคลื่อน Soft Power สู่การยกระดับอาหารฮาลาล ท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เช่น แกงปูใบชะพลู ข้าวยำปักษ์ใต้ แกงเหลือง สะตอผัดกุ้ง และอาหารฮาลาลไทยต้นตำรับ เช่น ต้มยำกุ้ง มัสมั่นเนื้อ ข้าวซอยไก่ โดยสนับสนุนให้เป็นอาหารแนะนำที่เสิร์ฟบนเครื่องบินเพื่อเป็นการโปรโมท

2. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาลที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิมกับแหล่งอาหารฮาลาลในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม การขนส่ง ฯลฯ โดยประสานกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแนะนำและขึ้นทะเบียนเมนูอาหารตลอดจนส่งเสริมอาหารฮาลาลในเทศกาลต่าง ๆ เพื่อโปรโมทและสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก

3. ลดข้อจำกัด และปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคเกี่ยวกับการขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล โดยให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการรับรอง 4. เจรจา MOU เพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลใหม่ในต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และสาธารณรัฐทูร์เคีย เช่น มาตรการทางด้านภาษี มาตรการการตรวจปล่อยสินค้าให้มีความรวดเร็วมากขึ้น 5. พัฒนาผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทยตอบโจทย์ผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ เช่น ขนมขบเคี้ยว และอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีการสนับสนุนพื้นที่ในห้างโมเดิร์นเทรด

6. สร้างเครือข่ายความร่วมมืออาหารฮาลาลไทย กับประเทศเป้าหมาย โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ roadshow ในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ 7. พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของ กนอ. ร่วมกับ ศอ.บต. ในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งยกระดับศูนย์พัฒนาสินค้าอาหารของสถาบันอาหารใน จ.สงขลา ให้ครอบคลุมการพัฒนาสินค้าอาหารฮาลาลต้นแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดเชิงพาณิชย์

8. พัฒนาและจัดทำ Role model ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เช่น โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ฯลฯ ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์วัวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกไปยังประเทศที่มีกำลังซื้อสูง


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *