วันอังคาร ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2566, 05.30 น.
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่ทุกคนมีโอกาสเป็นได้ ความรุนแรงสามารถทำให้มีภาวะอัมพฤกษ์-อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
นายแพทย์พงศกร พงศาพาส ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคหลอดเลือดสมอง (Stoke) เกิดจากการที่หลอดเลือดสมองมีการอุดตัน ตีบ หรือแตก ส่งผลให้สมองบริเวณดังกล่าวเกิดการบาดเจ็บ หรือขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เซลล์สมองเสียหาย ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น ปากเบี้ยวหน้าเบี้ยว พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก หรือเดินเซ เป็นต้น โดยสามารถเกิดในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป และพบได้มากในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมตามวัยและหลายปัจจัย
โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดหรือเกิดจากการมีลิ่มเลือดจากหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ซึ่งทั้งสองแบบทำให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองเสียไป เกิดสมองภาวะขาดเลือดแบบเฉียบพลัน และเนื้อสมองตายขึ้น 2.หลอดเลือดสมองแตกหรือฉีกขาด เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางจากภาวะความดันเลือดสูงหรือหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น จากความเสื่อมของหลอดเลือด ทำให้แตกง่าย ส่งผลทำให้เกิดเลือดออกในสมอง และมีภาวะเนื้อสมองบริเวณดังกล่าวบาดเจ็บ
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง คือคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคไขมันโลหิตสูง, โรคอ้วนรวมไปถึงการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะช่วยให้ แพทย์เห็นภาพความละเอียดของเส้นเลือดและเส้นประสาทที่ชัดมากกว่า โดยที่โรงพยาบาลเวชธานี มีเครื่องตรวจด้วย MRI รุ่นใหม่ ที่มีขนาดอุโมงค์ใหญ่กว่าเดิม, เสียงรบกวนลดน้อยลง, มีเทคโนโลยี Free Breathing ไม่ต้องกลั้นหายใจนานเท่าเดิม จึงทำให้คนไข้ไม่รู้สึกอัดอัดขณะตรวจ และให้การตรวจสามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดในสมอง(Transcranial Doppler : TCD), และการตรวจหลอดเลือดคอ (Carotid Doppler) ซึ่งผลการตรวจที่แม่นยำจะสามารถช่วยให้แพทย์วางแผนการป้องกัน และรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองแบบเฉียบพลัน ต้องทำการรักษารวดเร็ว เพื่อลดความเสียหายต่อเซลล์ของสมอง โดยการรักษาที่ทำให้เลือดกลับไปไหลเวียนได้เหมือนปกติโดยเร็วจะสามารถทำให้เนื้อสมองที่ได้รับผลกระทบฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ โดยในระยะแรกที่เกิดอาการ แพทย์จะทำการประเมินผู้ป่วย หากมีข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดและไม่มีข้อห้าม แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5 ชั่วโมง แต่ในกรณีที่มีหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่อุดตัน แพทย์จะรักษาโดยการใช้สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบหรือข้อมือขึ้นไปยังเส้นเลือดสมอง เพื่อนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดออกมา (Mechanical thrombectomy) การรักษาที่สามารถทำได้รวดเร็ว ส่งผลให้การบาดเจ็บของสมองที่เกิดขึ้นน้อยลง และได้ผลลัพธ์การทำงานของสมองที่ดี
ปัจจุบันมีห้องผ่าตัดไฮบริด (Hybrid Operating Room) ที่ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้นซึ่งเป็นห้องผ่าตัดที่รวมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยไว้ด้วยกัน เช่น เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบนำทางด้วยคอมพิวเตอร์และเครื่องมือผ่าตัดส่องกล้องโดยเทคโนโลยีการรักษาด้วยเครื่องเอกซเรย์สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบ Biplane Digital Subtraction Angiography หรือ Biplane DSA สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดได้สองระนาบในเวลาเดียวกันคือ ด้านหน้า และด้านข้าง ภาพที่ได้ออกมาจึงมีความคมชัดช่วยให้แพทย์มองเห็นสายสวนหลอดเลือดที่ขนาดเล็กมากได้อย่างชัดเจน เปรียบเสมือนเห็นภาพเป็น 3 มิติ โดยสามารถทำการวัด คำนวณ และประเมินตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดช่วยลดปริมาณสารทึบรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับ ลดเวลาที่ใช้ในการรักษา และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น
Biplane DSA จะช่วยให้แพทย์ สามารถใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กได้ถึงจุดที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว เช่น ในผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันในสมอง แพทย์ทำการใส่สายสวนไปที่บริเวณลิ่มเลือดอุดตัน และฉีดยาละลายลิ่มเลือดในปริมาณเล็กน้อย เพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันได้โดยตรง หรือในกรณีที่ลิ่มเลือดอุดตันมีขนาดใหญ่ ก็สามารถใส่เครื่องมือพิเศษที่ใช้เกี่ยวดึงลิ่มเลือดออกจากจุดที่อุดตันได้ ทำให้เลือดกลับไหลเวียนสมองได้เป็นปกติ
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ที่อาจทำให้เกิดอาการ ตีบ อุดตันหรือแตก คือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง, เลิกสูบบุหรี่, ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง,ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, ลดการดื่มสุราและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ควรสังเกตอาการตัวเองและคนรอบข้าง หากมีอาการเข้าข่ายโรคหลอดเลือดสมองให้รีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุดเพราะจะเพิ่มโอกาสการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติและลดความเสี่ยงการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต