กรมวิทย์ตรวจผักผลไม่ยอดนิยมช่วงกินเจ พบส่วนใหญ่ไม่มีสารเคมีตกค้าง เจอตกค้างเกินมาตรฐาน 6.2% ส่วนใหญ่เป็นคะน้า และส้ม ส่วนตรวจอาหารเจยังไม่พบดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ ย้ำการปนเปื้อนเกิดได้จากทำความสะอาดสายผลิตไม่ดีพอ อาจปนเปื้อนเนื้อ นม ไข่ หรือเติมผงปรุงรส
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทศกาลกินเจ ปีนี้ตรงกับวันที่ 15-23 ต.ค. ซึ่งจะมีการละเว้นการกินเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และผักที่มีกลิ่นฉุน หันมาบริโภคอาหารที่ทำจากแป้ง ธัญพืช ผักและผลไม้แทน และถือศีล นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยหันมาบริโภคมังสวิรัติเป็นประจำหรือช่วงวันสำคัญ เห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์มีจำหน่ายตลอดทั้งปี ซึ่งอาหารเหล่านี้มีการแปรรูปให้มีหน้าตา กลิ่น รสชาติใกล้เคียงเนื้อสัตว์ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเลือกซื้อกันอย่างแพร่หลาย เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ทอดมัน ปลาเค็ม เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ที่วางจำหน่ายมีทั้งแบบมีฉลากและไม่มีฉลาก ซึ่งการตรวจพบการปนเปื้อนดีเอ็นเอของเนื้อสัตว์ในอาหารเจ ส่วนใหญ่มาจาก 2 สาเหตุ คือ การทำความสะอาดสายการผลิตไม่ดีพอ และการเจตนาใส่ผงปรุงรสเพื่อเพิ่มรสชาติ
นพ.ยงยศ กล่าวว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สด เพื่อตรวจเฝ้าระวังการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ ตัวอย่างเป็นผักที่นิยมบริโภคช่วงเทศกาลเจ ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กวางตุ้ง หัวไชเท้า แครอท เห็ด ส้ม แอปเปิ้ล องุ่น ฝรั่ง สาลี่ จำนวน 144 ตัวอย่าง ผลไม่พบการตกค้าง คิดเป็นร้อยละ 81.9 พบตกค้างแต่ไม่เกินค่ากำหนดร้อยละ 11.8 และพบตกค้างเกินค่ากำหนด ร้อยละ 6.2 พักผลไม้ที่พบในกลุ่มนี้ คือ คะน้า และส้ม นอกจากนี้ ยังตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ คือ หมู ไก่ วัว และปลา ในตัวอย่างอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ ได้แก่ อาหารพร้อมบริโภค ไส้กรอก ลูกชิ้น เป็นต้น จำนวน 14 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ทุกตัวอย่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่มีฉลากระบุสถานที่ผลิต เลขสารบบอาหาร วันเดือนปีผลิตชัดเจน
“การรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคหรือผู้ปรุงอาหารควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจและอาหารต้องมีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี และเลขสาระบบอาหารที่ชัดเจน เพราะถ้าแหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐาน บางครั้งอาจมีส่วนประกอบ เช่น ไข่ นมหรือเนื้อสัตว์ปนเปื้อน และหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือซื้ออาหารที่มีการแปรรูป และรสชาติที่เหมือนเนื้อสัตว์มากจนเกินไป สำหรับผักและผลไม้สดควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานหรือนำมาปรุง โดยเคาะเอาเศษดิน ปอกเปลือก หรือตัดส่วนที่ไม่รับประทานออก นำมาล้างสารพิษตกค้าง ทำได้ด้วยการล้างด้วยน้ำสะอาด โดยแช่ผักในน้ำ เปิดน้ำไหลผ่านแรงพอประมาณ คลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที , ล้างด้วยน้ำส้มสายชู หรือล้างด้วยผงฟูหรือเบกกิงโซดา” นพ.ยงยศกล่าว