“แมวขาวชะตาฟ้า” คว้ารางวัลชนะเลิศ ชมนาดครั้งที่ 12 เปิดเวทีระดมสมองนักเขียน แนะเทคนิคเขียนนิยายให้สร้างสรรค์และสนุก
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ประกาศผลรางวัลชมนาด(Chommanard Book Prize) ครั้งที่ 12 (FICTION-NOVEL) เวทีอันดับหนึ่งของนักเขียนหญิงไทย ทั้งมืออาชีพและมือใหม่ สร้างสรรค์ผลงานในมุมมองของผู้หญิง รวมถึงผลักดันเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากล
รวมทั้งส่งเสริมงานประพันธ์ทางวรรณกรรมให้มีคุณภาพสามารถต่อยอดเป็นบทละคร ภาพยนตร์ จนถึงการผลิตเป็นภาพวรรณกรรมในรูปดิจิทัลฟิล์ม โดยปีนี้มีนักเขียนหญิงส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 25 ผลงาน และมีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้าย 8 เรื่อง ได้แก่ แม่ฮะ…ไม่เป็นไร, ปรารถนาสุดท้าย , แผ่นฟ้าลาตะวัน , แมวขาวชะตาฟ้า , โศกสะท้อน Echo of Lament , คืนหนึ่ง…ค่ำนั้น , กานต์ปรียา และ โลกสีเทาบนภูเขาหลากสี
โดยผลการประกวด พบว่ารางวัลชนะเลิศชมนาดครั้งที่ 12 ประเภทนวนิยาย (Fiction-Novel) ตกเป็นของ แมวขาวชะตาฟ้า เขียนโดย ลดาวัลย์ ใยมณี เจ้าของนามปากกา Ruk21us โดยมี พึงเนตร อติแพทย์ ในฐานะบรรณาธิการเรื่องแมวขาวชะตาฟ้า เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล , รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง คืนหนึ่ง…ค่ำนั้น เขียนโดย สุวรรณา แก้วศรี นามปากกา แก้ว การะบุหนิง โดยมี เสาวรี เอี่ยมละออ เป็นตัวแทนรับรางวัล และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่องโลกสีเทาบนภูเขาหลากสี โดย เสาวลักษณ์ พิพัฒนานุกูลชัย นามปากกาเอิงเอย
@media (min-width: 1139.98px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle1 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }@media (max-width: 768px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle1 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }
โดยได้รับเกียรติจาก ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานมอบรางวัล ร่วมด้วย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยศิลปิน นักเขียน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรมไทย อาทิ อรุโณชา ภาณุพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด , นรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย , กนกวลี พจนปกรณ์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย , รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา , บุญญรัตน์ บุญญาทิษฐาน นักแปลอาวุโส ผู้ได้รับรางวัลสุรินทราช และรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ ฯลฯ มาร่วมงาน
โดยรางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัลพร้อมเงินสด 100,000 บาท และค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่ม ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ตามมาตรฐานค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ เพื่อวางจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ ประเทศในทวีปอเมริกา , ยุโรป และแอฟริกา เป็นต้น ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 และอับดับ 2 ได้รับเกียรติบัตรชมเชย พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ พร้อมค่าลิขสิทธิ์จัดพิมพ์เผยแพร่ภาษาไทยตามมาตรฐาน
รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงนวนิยายเรื่องแมวขาวชะตาฟ้า รางวัลชนะเลิศ ว่า เป็นนวนิยายที่สร้างความแปลกใหม่ เกี่ยวกับครอบครัวใหญ่ชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ยังคงค่านิยมดั้งเดิมให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว ไม่สนับสนุนให้ลูกสาวได้รับการศึกษาสูงๆ มีความขัดแย้งของสมาชิกในตระกูล การแย่งชิงมรดก ความอิจฉาริษยาแก่งแย่งแข่งขันระหว่างภรรยาหลวงกับภรรยาน้อย ผู้ประพันธ์ผสานแนวเรื่องแบบแฟนตาซีกับแนวคิดเรื่องชาติภพและคู่ทางจิตวิญญาณ ทำให้เป็นมิติแปลกใหม่น่าสนใจและชวนติดตาม
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ งานประกาศผลการตัดสิน “รางวัลชมนาดครั้งที่ 12” ในวันนี้ “วรรณกรรม” เป็นงานสร้างสรรค์ของบุคคลที่เป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนสภาพชีวิต สังคม และ คตินิยมของงานทุกยุคทุกสมัย “วรรณกรรมรางวัลชมนาด” (Chommanard Books Prize) เป็นการประกวดวรรณกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ที่แตกต่างจากวรรณกรรมรางวัลอื่นๆ เนื่องจากเป็นการประกวดวรรณกรรม ที่มุ่งเน้นมอบให้แก่นักประพันธ์ที่เป็นสตรี เท่านั้น
@media (min-width: 1139.98px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle2 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }@media (max-width: 768px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle2 { min-width: 300px;
min-height: 250px; } }
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด มุ่งมั่นส่งเสริมให้นักเขียนหญิงที่มีใจรักในงานประพันธ์ ทั้งนักเขียนมืออาชีพ นักเขียนมือใหม่ และผู้ที่สนใจในงานวรรณกรรม ได้สร้างสรรค์ผลงานในมุมมองของผู้หญิงบนเวทีคุณภาพแห่งนี้ เพื่อที่จะได้มีโอกาสเดินก้าวต่อไปสู่อนาคตที่มั่นคงในอาชีพ ความภาคภูมิใจในผลงาน และพร้อมที่จะเป็นนักเขียนระดับนานาชาติต่อไป
“ในนามของธนาคารกรุงเทพ ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้เกียรติมาร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศผลรางวัล ในครั้งนี้ และขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการรางวัลชมนาดทุกท่าน ทีมงานทุกคน ได้ดำเนินการสร้างสรรค์งานคุณภาพที่ดีเช่นนี้ต่อไป” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าว
ด้าน พันฤทธิ์ เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด กล่าวว่า การประกวดรางวัลชมนาดปีนี้เข้มข้นกว่าทุกปี เนื่องจากปีนี้เปิดกว้างให้นักเขียนหญิงสามารถส่งผลงาน ทั้งงานเขียนประเภทนวนิยาย และงานเขียนเชิงสารคดีเข้าประกวด ตลอดระยะเวลาการจัดโครงการประกวดรางวัลชมนาด เวทีที่มุ่งส่งเสริมนักเขียนสตรีให้มีพื้นที่สำแดงฝีมือการประพันธ์โดยไม่จำกัดวัย สถานะทางการศึกษา หรืออาชีพ โดยคณะผู้จัดงาน คณะกรรมการ และบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างมีความพยายามที่จะผลักดันศักยภาพ นำผลงานนักเขียนหญิงไทยสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงการต่อยอดผลงานสู่การสร้างสรรค์บทละคร ภาพยนตร์ และเกม ทั้งนี้ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อวางจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ ประเทศในทวีปอเมริกา , ยุโรป และแอฟริกา เป็นต้น
พันฤทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่ต้องการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 13 ประเภท“นวนิยาย” (Fiction-Novel) เปิดรับผลงานแล้ว ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2566 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 โดยผลงานต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 120 หน้ากระดาษ A4 ขนาดอักษร 16 Point โดยต้องพิมพ์และส่งต้นฉบับพร้อมสำเนา รวม 2 ชุด พร้อมแผ่น CD บันทึกข้อมูล 1 แผ่น หรือ แฟลชไดร์ฟ มาที่ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด เลขที่ 222 บุษราคัม เทอเรส ถนนพุทธมณฑล สาย 2 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กทม. 10170 ดูรายละเอียดหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.praphansarn.com Facebook : Praphansarn.com
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประกาศผลรางวัลชมนาด ครั้งที่ 12 มีกิจกรรมเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณกรรม หัวข้อ เขียนนิยายอย่างไรให้สร้างสรรค์และสนุก โดย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา , อุมาพร ภูชฎาภิรมย์ (อุมาริการ์ ดาหราปตี) นักเขียน , จันทร์ยวีร์ สมปรีดา(รอมแพง) นักเขียน , พึงเนตร อติแพทย์ นักเขียน ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
โดยวงเสวนามีความเห็นตรงกันว่า ถ้าอยากเขียนให้สร้างสรรค์และสนุก ต้องอ่านเยอะๆ สะสมการอ่าน มีมุมมองที่แตกต่างมีความสร้างสรรค์ สามารถใช้ประสบการณ์ตรงมาใช้ในการเรื่อง รวมถึงใช้ Soft Power โดยขายอัตลักษณ์ความเป็นไทย และรักที่จะเขียน ส่วนผู้จะส่งผลงานรางวัลชมนาดเข้าประกวด ต้องดีตั้งแต่โครงเรื่อง สร้างสรรค์ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ให้ความสำคัญกับภาษา กระชับเข้มข้น ไม่เยิ่นเย้อ และปัง อาจเขียนตอนจบให้คิดต่อได้
ทั้งนี้ นวนิยาย เรื่อง แมวขาวชะตาฟ้า รางวัลชนะเลิศ เป็นเรื่องราวของ ปิ่นตะวันในไทม์ไลน์ก่อนคือคนแพ้พ่าย เธอถูกเหยียดหยามจากครอบครัวที่ไม่เห็นความสำคัญของลูกหลานผู้หญิงแล้ววันหนึ่งชะตาฟ้าก็ส่งแมวขาวมาพบเธอ ให้ตัวเองได้แก้ไขความผิดพลาดในไทม์ไลน์เส้นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม
แต่ไทม์ไลน์นั้นไม่ใช่ของเธอคนเดียวไม่ใช่แค่ปิ่นตะวันเท่านั้นที่ต้องการเปลี่ยนชีวิตของตนเองในไทม์ไลน์ใหม่ ยังมีแรงปรารถนาของใครต่อใครที่มุ่งหวังให้ชีวิตของตัวเองดีกว่าเก่า ยังมีความเคียดแค้นจากอดีตที่ต้องการสะสาง ยังมีความเสียใจต่อความผิดพลาดในไทม์ไลน์เดิม การปะทะกันของแรงปรารถนาในไทม์ไลน์ใหม่ จะนำพายุความขัดแย้งใดเข้ามาในชีวิต มันเป็นชะตาของฟ้าที่อยู่เหนือความเข้าใจของมนุษย์ อาจจะมีเพียงแมวขาวเท่านั้นที่รู้ได้
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง คืนหนึ่ง…ค่ำนั้น เป็นเป็นนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน เรื่องราวของร้อยตำรวจเอกประพาสเพิ่งเข้าเวร ยังไม่ทันจิบกาแฟมื้อเช้า นายดาบตำรวจคู่หูเข้ามาแจ้งว่าพบศพชายนิรนามในซอยร้างหลังโรงพยาบาลจิตเวช ตรวจสอบในที่เกิดเหตุไม่พบร่องรอยการต่อสู้ และฝนในคืนที่ผ่านมาชะล้างเอารอยเท้ารอบบริเวณหายไปหมด เหลือเพียงศพที่เต็มไปด้วยบาดแผล กับปริศนาที่หาคำอธิบายไม่ได้ เขาเป็นใคร เข้ามาตายที่นี่ได้อย่างไร ใครเป็นฆาตกร จนเกิดเป็นเสียงเล่าลือถึงอาถรรพ์ของซอยหลังโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งเคยเป็นจุดเกิดเหตุฆาตกรรมมาแล้วถึงสองครั้ง
ร้อยตำรวจเอกหนุ่มไม่เชื่อในอาถรรพ์หรือสิ่งลี้ลับ แต่ไม่ว่าเขาจะย่างกรายไปสืบคดีหรือสอบปากคำ ที่ใด ที่นั่นเขาจะพบแมวดำเสมอ มันคืออีกหนึ่งในตำนานอาถรรพ์ของซอยร้างแห่งนี้ ราวกับว่ามันรู้ถึงเบาะแสคดี พยายามจะบอกอะไรบางอย่างกับเขา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เรื่อง โลกสีเทาบนภูเขาหลากสี เป็นนวนิยายแนวดราม่า เรื่องราวเกี่ยวกับ การตีกรอบของสังคมที่มนุษย์ได้นิยามให้เพศมีเพียง ชายและหญิง และบทลงโทษที่มีต่อผู้ฉีกกฏเกณฑ์ ผ่านตัวละครชื่อ ลำธาร เด็กน้อยผู้เติบโตมาเพื่อเป็นลูกชายของนายทหารใหญ่ ทั้งที่ใจจริงแล้ว ลำธารรู้ตัวดีว่าตัวเองไม่ใช่ลูกชายในอุดมคติของพ่อที่อยากให้เป็น เขารู้ดีว่าตัวเองเกิดมาพร้อมกับความเป็นผู้หญิงที่ไม่มีใครยอมรับ ทำได้แต่ปกปิดตัวตนไว้เรื่อยมา กระทั่งถึงวันที่ลำธารไปเรียนต่อที่อเมริกา ทำให้เขาได้เรียนรู้และใช้ชีวิตเป็นคนข้ามเพศได้อย่างเต็มภาคภูมิ ได้พบเจอผู้คนหลากหลาย และทำให้ลำธารได้รู้จักกับคำว่าความรักที่แท้ รักที่ไม่ต้องการคำว่าเพศมาจำกัดความอีกต่อไป