โรคอ้วน คืออะไร โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเส้นเลือดหัวใจหรือสมองตีบตัน โรคกรดไหลย้อน กระดูกสันหลังหรือกระดูกเข่าเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย
การรักษาด้วยการใช้ยา
การออกกำลังกายหรือการรับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำ สามารถลดน้ำหนักได้ แต่ไม่สามารถรักษาหรือคงน้ำหนักให้ผู้ป่วยได้ตลอด ผู้ป่วยมักจะมีน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มขึ้นได้ จึงได้มีการรักษาด้วยการผ่าตัดขึ้น ซึ่งสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าและมีผลสามารถคงน้ำหนักได้เป็นระยะเวลานานมากกว่า 7-10 ปีขึ้นไป ในผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกาย ไม่มาก สามารถพิจารณาลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายได้ แต่หากผู้ป่วยมีดัชนีมวลกายที่สูงมากมักมีข้อจำกัดในการออกกำลังกายเนื่องจากมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับโรคอ้วนร่วมด้วย นอกจากนี้ลำพังเพียงการออกกำลังกายและควบคุมอาหารมักไม่สามารถลดน้ำหนักได้มากเพียงพอที่จะทำให้หายจากโรคประจำตัวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเข่าเสื่อม โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันเกาะตับ เป็นต้น
การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน คืออะไร
การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดขนาดกระเพาะให้เล็กลง ร่วมกับลดการดูดซึมของกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก นอกจากนี้ฮอร์โมนความหิวที่ถูกสร้างที่กระเพาะก็จะลดลงหลังผ่าตัดทำให้หลังการผ่าตัดความอยากอาหารก็จะลดลงด้วย จุดประสงค์ของการผ่าตัดเพื่อรักษา “โรคอ้วน”และรักษาโรคร่วมที่มากับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น ทำให้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีสุขภาพดี แข็งแรงและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน เหมาะกับใคร
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักไม่ได้เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินทุกราย ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะให้ข้อมูลกับคนไข้อย่างละเอียด ตรวจร่างกายดูความพร้อมและคัดกรองผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้
ผู้ที่ลดความอ้วนด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
1.ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) > 27.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วนที่ไม่สามารถควบคุมได้
2.ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) > 32.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น เบาหวาน, ความโลหิตดันสูง, ไขมันในเลือดสูง, หยุดหายใจขณะนอนหลับ, ไขมันเกาะตับ เป็นต้น
3.ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) > 37.5 kg/m2
การผ่าตัดรักษา “โรคอ้วน” ที่นิยมแบบเดิม มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve Gastrectomy)
-ลดน้ำหนักส่วนเกินได้ 60%-70% ในระยะเวลา 1 ปี
-กระเพาะอาหารขนาดลดลงโดยที่หูรูดและทางเดินอาหารยังคงเดิม
ลดโอกาสการเกิด Dumpling Syndrome
-ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อนรุนแรง เนื่องจากหลังการผ่าตัดขนาดกระเพาะที่ลดลงจะทำให้มีแรงดันในกระเพาะสูงขึ้น
ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นกรดไหลย้อนได้ 15%
-ควบคุมน้ำหนักและรักษาโรคเบาหวานได้น้อยกว่าการผ่าตัดแบบบายพาสโดยเฉพาะในคนที่เป็นเบาหวานมานานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป
-สามารถส่องกล้องทางเดินอาหารเช็คหรือตรวจกระเพาะได้
การผ่าตัดแบบบายพาส (Roux-en-Y Gastric Bypass)
-ลดน้ำหนักส่วนเกินได้ 70%-80% ในระยะเวลา 1 ปี
-กระเพาะอาหารลดลงร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงทางเดินอาหารโดยมีทางเชื่อมระหว่างกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการ Dumpling syndrome ได้ 15-30% และมีโอกาสเกิดแผลบริเวณรอยต่อระหว่างกระเพาะและลำไส้เล็กได้ 15%
-เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อน เนื่องจากหลังผ่าตัดแรงดันในกระเพาะลดลงทำให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นหรือหายได้หลังผ่าตัด
-เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานรุนแรง ควบคุมเบาหวานไม่ได้
-ไม่สามารถส่องกล้องทางเดินอาหารเช็คหรือตรวจกระเพาะได้ เนื่องจากทำทางเชื่อมกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กใหม่ไปแล้ว
-มีความเสี่ยงในการเกิดไส้เลื่อนได้ในอนาคตและมีจุดตัดต่อลำไส้
และกระเพาะเยอะมากกว่าการผ่าตัดแบบอื่นๆ
การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนแบบใหม่ สลีฟพลัส (Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass) การผ่าตัดแบบเดิมยังมีข้อที่ต้องพัฒนาอีก จึงมีการคิดค้นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น การผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟพลัส (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy with Proximal Jejunostomy Bypass) เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2010 และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผลลัพธ์การลดน้ำหนักที่ดี รักษาโรคเบาหวานได้ดีและความเสี่ยงจากการผ่าตัดต่ำ โดยเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่ผสมผสานระหว่างการตัดกระเพาะแบบ Sleeve ร่วมกับการทำทางเชื่อมผ่านจากลำไส้เล็กส่วนต้นไปลำไส้เล็กส่วนกลางเพื่อลดการดูดซึมและกระตุ้นฮอร์โมนความอิ่ม(GLP-1,PYY)ได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ร่วมกับขนาดกระเพาะที่เล็กลงก็จะทำให้ระดับฮอร์โมนความหิว(Ghrelin)ลดลงอีกด้วย นอกจากนี้การทำทางเชื่อมอาหารระหว่างลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลาง ยังทำได้ง่ายกว่าและไม่มีความเสี่ยงเรื่องการเกิดแผลบริเวณรอยต่อซึ่งต่างจากการผ่าตัดแบบบายพาสที่มีแผลบริเวณรอยต่อกระเพาะกับลำไส้เล็กได้
สำหรับผลด้านการลดน้ำหนักและการรักษาโรคเบาหวานพบว่า ไม่ต่างจากการผ่าตัดแบบบายพาสโดยที่มีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าและลดความเสี่ยงจากการขาดวิตามินและสารอาหารได้ดีกว่าแบบการผ่าตัดแบบบายพาสอีกด้วยลดน้ำหนักได้ดีโดยน้ำหนักส่วนเกินลดลง 70-80%
นอกจากนี้ยังสามารถพิจารณาทำในผู้ป่วยที่ผ่าตัดแบบสลีฟมาแล้ว แต่อาจจะยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ เช่น น้ำหนักส่วนเกินลดลงน้อยกว่า 50% หรือในกรณีที่พบภาวะน้ำหนักฟื้นคืนหลังการผ่าตัดแบบสลีฟ หรือกรณีที่โรคเบาหวานยังไม่หายสามารถพิจารณาทำการผ่าตัดแบบสลีฟพลัสเพิ่มเติมได้
ข้อดีของการผ่าตัดแบบ “สลีฟพลัส”
-ลดน้ำหนักส่วนเกินได้ 70-80% ในระยะเวลา 1 ปี
-กระเพาะอาหารขนาดลดลงโดยที่หูรูดและทางเดินอาหารยังคงเดิม
ลดโอกาสการเกิด Dumpling Syndrome
-ลดความเสี่ยงในการขาดวิตามิน B12 เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบบายพาส เนื่องจากทางเดินอาหารยังคล้ายของเดิม
-มีรอยตัดต่อระหว่างลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลางจุดเดียว
(Single Anastomosis)
-ควบคุมน้ำหนักและรักษาโรคเบาหวานได้ดี
-สามารถส่องกล้องทางเดินอาหารเช็คหรือตรวจกระเพาะได้
-ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลบริเวณรอยตัดต่อลำไส้
ข้อเสียของการผ่าตัดแบบ “สลีฟพลัส”
-ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อนรุนแรง เนื่องจากหลังการผ่าตัดขนาดกระเพาะที่ลดลงจะทำให้มีแรงดันในกระเพาะสูงขึ้น
ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นกรดไหลย้อนได้ 15%
จากข้อมูลในปัจจุบันของ นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ ศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องขั้นสูงและผ่าตัดรักษาโรคอ้วน พบว่า ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดไปมากกว่า 50 เคส สามารถลดน้ำหนักได้ดีมากและรักษาโรคเบาหวานได้ดีโดยที่ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆ หลังผ่าตัด ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลรายงานทางการแพทย์ของต่างประเทศตั้งแต่ปี 2010 ก็พบว่า ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจเหมือนกันและยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงใดๆ กล่าวโดยสรุป คือ การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดแบบสลีฟพลัส (Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass) เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคอ้วนเหมาะในผู้ป่วยที่น้ำหนักมากและมีโรคเบาหวานร่วมด้วยโดยแนะนำให้ปรึกษาศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เนื่องจากยังเป็นเทคนิคใหม่ที่ต้องอาศัยความชำนาญในการผ่าตัดและการเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก โรคอ้วนผ่าตัดได้ By หมอฟง
นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้องและ
การผ่าตัดลดน้ำหนัก คลินิกโรคอ้วน โรงพยาบาลราชวิถี