ให้อาหารสุนัขจรจัดแล้วไปกัดคน คนให้มีความผิดด้วยหรือไม่?


เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถกเถียงกันเรื่อยมา สำหรับกรณีสุนัขจรจัด หรือ หมาข้างถนน ที่มักมีผู้ใจบุญนำอาหารมาให้มันกินเพื่อประทังชีวิต แต่เมื่อเกิดเหตุหมาตัวที่มีคนให้อาหาร ไปกัดคนบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิต ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ในกรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้น ซึ่งเป็นคดีที่สุนัขจรจัดที่มีคนนำอาหารไปให้มันกิน แล้วเกิดเหตุไปกัดเด็กวัย 2 ขวบเศษ จนเสียชีวิต นำไปสู่คำพิพากษาฎีกา 1639/2565

ซึ่งยังมีอีกหลายคดีความที่มีการฟ้องร้องในกรณีเช่นนี้ บางเคสสุนัขจรจัดกัดคน แต่ไม่มีเจ้าของ หรือ ผู้ที่ให้อาหาร จนเข้าใจได้ว่าเป็นเจ้าของสุนัข ก็มีการฟ้องร้องหน่วยงานในพื้นที่นั้น ๆ ทั้งเทศบาล อบต. ปศุสัตว์จังหวัด ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเช่นกัน

เปิดกรณีศึกษา คำพิพากษาฎีกา 1639/2565

คดีนี้จำเลยไม่ได้เลี้ยงสุนัขตัวที่ก่อเหตุโดยตรง แต่เป็นการให้อาหารสุนัขตัวดังกล่าวมาตลอดในช่วงระยะเวลา 5 ปี กระทั่งสุนัขได้คลอดลูกบริเวฯหน้าบ้านของจำเลย ก็ได้เลี้ยงดูให้อาหารมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้สืบทราบว่าสุนัขตัวดังกล่าวเคยไล่กัดสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านแถวนั้นมาแล้ว 17 ตัว โดยจำเลยได้มีการเรียกชื่อสุนัขตัวที่ก่อเหตุมาโดยตลอด จนชาวบ้านแถวนั้นทราบว่าเป็นสุนัขของจำเลย แต่จำเลยไม่ได้มีการเลี้ยงแบบขังหรือล่ามโซ่ไว้

โดยในวันเกิดเหตุสุนัขที่จำเลยให้อาหาร ได้ไปกัดเด็กหอายุ 2 ปี 11 เดือน จนถึงแก่ความตาย

ในทางคดีความแม่ของเด็กผู้ตาย ได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับจำเลย ในความผิดฐานควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้ายปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของผู้อื่น ตามปอ.ม.377 และความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามปอ.ม.291 ประกอบม.59 วรรคสี่

เข้าสู่กระบวนการศาล

ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาล ทางพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และมาตรา 377 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และมาตรา 377 จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องโจทก์ ต่อมาพนักงานอัยการศาลสูงยื่นฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยให้อาหารสุนัขที่ก่อเหตุแบบนี้มาตลอดหลายปี เท่ากับว่าจำเลยเป็นเจ้าของสุนัขโดยการเลี้ยงดู พร้อมกันนี้ข้อมูลจากพยานหลายปากก็ให้การยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูสุนัขที่ก่อเหตุมาโดยตลอด เมื่อสุนัขก่อเหตุไปกัดเด็กจนถึงถึงแก่ความตาย เท่ากับว่า จำเลยประมาทตามปอ.ม.59 วรรคสี่ และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

นอกจากนี้ จำเลยยังเป็นผู้ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย กลับปล่อยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังจนเกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 นอกจากนี้ เมื่อจำเลยเป็นคนควบคุมดูแลสัตว์และสัตว์นั้นได้ไปกัดผู้อื่นถึงแก่ความตายเช่นนี้ จึงถือว่า ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ จำเลย ซึ่งเป็นบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาดูแลสัตว์นั้นจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายเด็กที่ถึงแก่ความตายเพราะสัตว์นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 วรรคหนึ่ง

การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีนี้

ซึ่งค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้สถานใดเพียงใดนั้นศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อคดีนี้แม่เด็กซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนเด็กตามปวิอ.มาตรา 5 (2) ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 30 และได้ยื่นคำร้องชอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง เป็นค่าปลงศพ 300,000 บาท ตามปพพ.มาตรา 443 วรรคหนึ่งและค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย 500,000 บาท ตามปพพ.มาตรา 443 วรรคสาม

คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 46 เมื่อฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีส่วนอาญาอันเป็นการกระทำละเมิดในคดีส่วนแพ่ง ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายแม่เด็กเป็นค่าปลงศพ จำนวน 300,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ตามปพพ.มาตรา 224 ประกอบมาตรา 7



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *