กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดวันอาหารโลก ทรงห่วงปัญหาขาดแคลนน้ำ
ในฐานะทูตสันถวไมตรี ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (FAO) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงานวันอาหารโลกประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้น โดยองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในกรุงเทพฯ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ปัจจุบันนี้ ประชากรเกือบ 2,500 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ขาดแคลนน้ำ การแย่งชิงทรัพยากรอันหาค่ามิได้นี้สร้างปัญหาที่เด่นชัด เนื่องจากน้ำจืดลดน้อยลง แต่ความจำเป็นในการผลิตอาหารกลับมากขึ้นเพื่อป้อนประชากรในภูมิภาคที่กำลังเติบโต”
“ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้เร่งดำเนินการในด้านนี้ เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องเริ่มปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำ และจัดสรรน้ำที่เรามีอย่างชาญฉลาด เราต้องผลิตอาหารให้ได้มากขึ้นโดยใช้น้ำน้อยลง และเราต้องทำให้มีการกระจายน้ำอย่างเท่าเทียมเพื่อที่ทุกคนจะได้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน”
นายจอง จิน คิม ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ FAO กล่าวว่า “เราต่างตระหนักดีว่า การสร้างความมั่นคงให้กับการใช้และการเข้าถึงทรัพยากรน้ำจืดอันล้ำค่าอย่างยั่งยืนนั้นสำคัญต่อภาพรวมของการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 น่าเสียดายว่าเรายังห่างไกลจากเป้าหมายมาก การขาดแคลนน้ำกำลังรุนแรงขึ้นอย่างน่าตกใจ ตามการคาดการณ์ของเราความต้องการใช้น้ำจืดจะสูงเกินปริมาณประมาณ 40% ภายในปี พ.ศ. 2073 ดังนั้นการบริหารจัดการการขาดแคลนน้ำโดยทำให้การบริโภคและการใช้ทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืนจะเป็นความท้าทายที่สำคัญสูงสุดในศตวรรษที่ 21 นี้”
นายดิพัค กิววาลี จากสถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งเนปาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนได้เพิ่มความท้าทายให้ความเกี่ยวโยงกันระหว่างน้ำ พลังงาน และอาหารที่มีความซับซ้อนมากอยู่แล้ว แนวทางการพัฒนาที่มุ่งเป้าหมายเดียวมักสร้างผลกระทบที่เป็นลบ และผลักภาระให้ภาคอื่น ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโดยรวม หน่วยงานทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติที่มุ่งหวังจะแก้ปัญหาที่ยากเย็นนี้ให้สำเร็จจึงต้องดำเนินนโยบายโดยคำนึงถึงกลุ่มทางสังคมที่ทำงานอย่างโดดเดี่ยว หรือกำลังทำงานอย่างหนัก และเปิดให้กลุ่มเหล่านั้นมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และแสดงความคิดเห็นด้านนโยบาย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันประชากรกว่า 780 ล้านคนต้องพึ่งพาแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายเขตแดนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โครงการ Transboundary Water Programme ของ FAO ทำให้ประเทศต่าง ๆ พัฒนาความร่วมมือข้ามพรมแดนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ใช้ร่วมกันในภูมิภาค โดยเสริมสร้างศักยภาพด้านความรู้ที่จำเป็น เช่น การจัดทำบัญชีน้ำ การจัดสรรน้ำ การประเมินการไหลของน้ำในสิ่งแวดล้อม การพัฒนากลไกเพื่อบริหารจัดการภัยน้ำท่วมข้ามพรมแดนและการกัดกร่อนดินอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการลดแรงกดดันต่อแหล่งน้ำที่ถูกใช้งานมากเกินไป
น้ำคือชีวิต น้ำคือแหล่งอาหาร จึงต้องถูกใคร่ครวญอย่างเร่งด่วน
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่