สำรวจตัวละครจากวรรณกรรมคลาสสิค “วินนี่ เดอะ พูห์” (Winnie the Pooh) ผ่านงานวิจัย “โรคทางจิตเวช” ที่พบว่า “หมีพูห์” และผองเพื่อนต่างมีบาดแผลทางจิตใจ
สำรวจตัวละครจากวรรณกรรมคลาสสิค “วินนี่ เดอะ พูห์” (Winnie the Pooh) ผ่านงานวิจัย “โรคทางจิตเวช” ที่พบว่า “หมีพูห์” และผองเพื่อนต่างมีบาดแผลทางจิตใจ
แม้วรรณกรรม “วินนี่ เดอะ พูห์” (Winnie the Pooh) จะมีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว แต่ยังคงมีความร่วมสมัย ตัวละครทั้งหมีพูห์ รวมถึงผองเพื่อนยังคงเป็นที่รัก และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า ตัวละครทุกตัว ล้วนมีอาการเข้าข่ายป่วยทางจิตเวช ที่แม้จะเว้าแหว่งไปบ้าง แต่ก็สอนให้เราเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย
จากการวิเคราะห์ตัวละคร ทบทวนวรรณกรรม ของดร. ซาราห์ อี. เชียร์ (Sarah E. Shea) และกลุ่มนักประเมินทางระบบประสาทพัฒนาการ เมื่อปี 2000 พบว่า ตัวละครในป่าร้อยเอเคอร์มีลักษณะที่ตรงกับคุณสมบัติตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปรกติทางจิต (DSM-IV3) โดยแต่ละตัวละครมีอาการดังนี้
- หมีพูห์
เริ่มต้นกันที่ตัวเอกของเรื่องอย่าง “หมีพูห์” เป็นตัวละครที่ในรายงานระบุว่า หมีพูห์ มีความบกพร่องทางจิตมากกว่า 1 อย่าง โดยที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ อาการสมาธิสั้น (ADHD: Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เห็นได้จากพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) ที่เขาเคยพยายามปลอมตัวเป็นเมฆฝนเพื่อไปขโมยน้ำผึ้งจากรังผึ้ง
ด้วยความหมกมุ่นอยู่กับการหาน้ำผึ้งทำให้คณะผู้วิจัยลงความเห็นว่าพูห์มีอาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD: Obsessive Compulsive Disorder) ร่วมด้วยเป็นโรคกินไม่หยุด (BED: Binge Eating Disorder) เนื่องจากหมีพูห์กินน้ำผึ้งตลอดเวลา และทำให้เขาอ้วน ทั้งนี้ผู้วิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่าหมีพูห์อาจจะเป็น โรคทูเร็ตต์ (TS: Tourette syndrome) เป็นโรคที่กล้ามเนื้อหลาย ๆ มัดกระตุกพร้อม ๆ กัน ทำให้ชอบเปล่งคำที่ไม่มีความหมายออกมา
- ตัวละครอื่น ๆ
“พิกเล็ต” หมูตัวน้อยเพื่อนซี้ของหมีพูห์ มีนิสัยขี้กังวล ตื่นตัว หน้าแดงและสับสนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นอาการของโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD: Generalized Anxiety Disorder) โดยทีมวิจัยยังระบุว่า หมีพูห์และพิกเล็ตอาจจะมีความนับถือตนเองต่ำและบาดแผลทางจิตใจ จากการมีเพื่อน ๆ ที่มีอาการผิดปรกติเรื้อรังอีกด้วย
ขณะที่ “อียอร์” มีอาการซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia) แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเพราะพันธุกรรมหรือพึ่งได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจภายหลัง ถึงทำให้เขามองโลกในแง่ลบ มีพลังงานต่ำ และมีภาวะสิ้นยินดี
ส่วน “อาวล์” นกฮูกผู้ทรงภูมิ ที่ทุกคนเข้าใจว่าฉลาดอ่านออกเขียนได้ แต่ความจริงแล้วเขาเป็นโรคความบกพร่องในการเรียนรู้ (Dyslexia) เพราะอาวล์มักจะเขียนผิดอยู่เสมอ ถึงอย่างนั้นเขาก็พยายามเรียนรู้อยู่เสมอ
“ทิกเกอร์” เป็นตัวละครที่ไฮเปอร์อย่างมาก อยู่เฉย ๆ ไม่เป็น ทำอะไรไม่คิดหน้าคิดหลัง มีอาการสมาธิสั้น (ADHD: Attention Deficit Hyperactivity Disorder) อย่างชัดเจน วีรกรรมของทิกเกอร์มีด้วยกันมากมายหลายอย่าง เช่น พา “รู” ลูกจิงโจ้ตัวน้อยไปเสี่ยงอันตราย กระโดดขึ้นต้นไม้และทำเสียงรบกวนคนอื่น ๆ
ด้าน “แรบบิต” กระต่ายผู้ทะนงตัว เป็นตัวละครที่มักเจ้ากี้เจ้าการให้คนตัวละครอื่นทำตามในสิ่งที่ตนต้องการ หรืออยู่ในกรอบที่ตนเองคิดไว้ (ซึ่งจะตรงข้ามกับความคิดคนอื่นเสมอ) ชอบทำตัวเองโดดเด่นอยู่เหนือคนอื่น และหัวเสียทุกครั้งที่คนอื่นไม่ทำตามที่ตนเองคิดไว้ ซึ่งเป็นลักษณะของโรคหลงตัวเอง (NPD: Narcissistic Personality Disorder
ขณะที่ “คริสโตเฟอร์ โรบิน” เด็กชายที่เป็นมนุษย์เพียงคนเดียวในกลุ่มเพื่อนนี้ อาจจะมีโอกาสมีอาการ Gender Dysphoria คือ ความทุกข์ทรมานใจที่เกิดจากความไม่เข้ากันระหว่าง อัตลักษณ์ทางเพศ, การแสดงออกทางเพศ และเพศกำเนิด เนื่องจากลักษณะภายนอกของเขาที่มีผลบลอนด์คล้ายเด็กผู้หญิง และสวมเสื้อผ้าที่ไม่ระบุเพศ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ผู้เขียน “อยากให้” ลูกชายของเขาเป็น เนื่องจากเขาอยากได้ลูกสาวมากกว่าลูกชาย
สำหรับคู่แม่ลูก อย่าง “แคงก้า” คุณแม่จิงโจ้เลี้ยงเดี่ยว และ “รู” ลูกจิงโจ้ ถือว่าเป็นตัวละครที่ยังไม่มีแสดงอาการชัดเจน แต่แคงก้าอาจจะต้องระวังโรควิตกกังวล (Anxiety) เธอมักจะนำ “รู” ใส่ไว้ในกระเป๋าหน้าท้องเสมอ เพราะเธอเป็นห่วงลูกมากเกินไป จนหลาย ๆ ครั้งทำลายความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน ส่วนรูอาจจะโดนแม่ครอบงำมากเกินไป จนเก็บกด นอกจากนี้การเติบโตมาในสังคมที่มีแต่คนแปลก ๆ อาจจะส่งผลให้รูมีพฤติกรรมแปลกไปจากเดิม
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำวิจัยระบุว่า กลุ่มอาการทั้งหมดที่ตัวละครในวินนี่ เดอะ พูห์ ประสบพบเจอสามารถรักษาให้หายได้ แต่ผู้เขียนกลับไม่เลือกให้ตัวละครได้รับการบำบัดแต่อย่างใด
ถึงแม้ตัวละครในเรื่องอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ โดยนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าหนังสือเรื่องนี้ถูกแต่งขึ้นมาจากการพยายามบำบัดความเศร้า และอาการป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD: Post Truamatic Stress Disorder) หลังจากที่เขา รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ดร. เชียร์ ก็ยอมรับว่าหนังสือเล่มนี้สอนให้เราทุกคนยอมรับในความแตกต่าง
“ถึงแม้ตัวละครในหนังสือเล่มนี้อาจจะเว้าแหว่งไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำลายแก่นแท้ของหนังสือ ที่อยากให้ทุกคนได้สัมผัสความรัก การยอมรับ และการให้อภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรได้รับ”
ที่มา: A Body And Mind, New York Public Library, The Potential, UpWorthy