รู้เท่าทันก่อนละเมิดลิขสิทธิ์ “ละครพรหมลิขิต” โทษสูงสุดถึงจำคุก | ประชาชาติธุรกิจ


ละครพรหมลิขิต
ภาพมติชน

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกมาให้ข้อมูลการจดลิขสิทธิ์ “ละครพรหมลิขิต” ทางช่อง 3 เพื่อให้ประชาชนรับทราบ ได้รับรู้เท่าทันก่อนที่จะไปละเมิดผลงานดังกล่าว

วันที่ 23 ตุลาคม 2566 รายงานข่าวระบุว่า ผู้บริหารทางช่อง 3 ได้ออกมาชี้แจงถึงการจดลิขสิทธิ์ละคร “พรหมลิขิต” ตั้งแต่คอสตูมยันประโยคฮิต พร้อมเอาผิดหากมีการละเมิด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจดลิขสิทธิ์แบบครอบคลุมเป็นครั้งแรก ซึ่งละครพรหมลิขิตได้เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้ข้อมูล

ผลงานลิขสิทธิ์ที่ได้ยื่นแจ้งข้อมูลไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่อง พรหมลิขิต ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 16 ผลงาน ได้แก่ จิตรกรรม 1 ผลงาน และภาพถ่าย 15 ผลงาน (รายละเอียดตามแนบ)

ประเด็นที่เป็นที่สนใจจากกรณีดังกล่าว

คอสตูม ประโยคฮิต แคแร็กเตอร์ของตัวละคร การแต่งกายด้วยชุดไทย คำพูดจาแบบในละครได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่

  • เนื่องจากงานลิขสิทธิ์จะต้องเป็นงานสร้างสรรค์ตามประเภทที่กฎหมายกำหนด 1 ซึ่งไม่รวมถึงคอสตูม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละคร ประโยคฮิตของละคร แคแร็กเตอร์ของตัวละคร การแต่งกายด้วยชุดไทย คำพูดจาแบบในละคร ดังนั้น งานดังกล่าวจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างอิสระ สามารถพูดประโยคฮิต หรือแต่งตัวด้วยชุดไทยเหมือนในละครได้ตามปกติ
  • อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีผลงานสร้างสรรค์ที่อยู่ในขอบเขตของงาน 9 ประเภทที่กฎหมายให้การคุ้มครอง เช่น บทภาพยนตร์ ตัวผลงานละคร ย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ และบุคคลอื่นไม่สามารถนำไปก๊อบปี้ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อ โดยที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่อนุญาต

ผลงาน 16 รายการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญารับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์แล้ว ได้รับการคุ้มครองอย่างไร

  • งานที่เข้าข่ายเป็นงานลิขสิทธิ์จะได้รับการคุ้มครองทันทีโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่บริการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรม เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลไว้ ในฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ บนพื้นฐานความสมัครใจเท่านั้น
  • ผลงาน 16 รายการ และงานลิขสิทธิ์อื่น ๆ ของละครเรื่องพรหมลิขิต ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ลิขสิทธิ์ บุคคลอื่น ๆ ไม่มีสิทธินำไปก๊อบปี้ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อได้หากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่อนุญาต กล่าวคือ ไม่สามารถนำภาพถ่ายทั้ง 15 ภาพไปใช้ประโยชน์ หรือเผยแพร่บนสินค้า หรือบริการใด ๆ ได้

โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอย่างไร

  • การละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า มีโทษปรับ 20,000-200,000 บาท
  • การละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า มีโทษปรับ 100,000-800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน-4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ งานที่กฎหมายกำหนดให้มีลิขสิทธิ์มี 9 ประเภท คือ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *