“ผมมี passion อยู่สองอย่าง ก็คือดนตรีกับอาหาร ก็เลยเริ่มที่ดนตรีมาก่อน ทำ Academy Fantacia ทำ The Trainer จากตรงนั้น ก็มาที่ passion ที่สอง ก็คือเรื่องของอาหาร เพราะในช่วงนั้นยังไม่มีรายการประเภทอาหารใหญ่ๆ มีแค่รายการสอนทำอาหารเล็กๆ แล้วก็พวกพาชิม เราก็เลยคิดว่าเราจะสร้างรายการอาหารให้เป็น King of Food ให้ได้”
“หนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการย้อนเล่าถึงที่มาที่ไป ที่ทำให้วันนี้เขากลายมาเป็นผู้ผลิตที่ “ยืนหนึ่ง” ในประเภทรายการอาหารของแวดวงทีวีบ้านเรา สมดังเจตนารมณ์ที่ตั้งหมุดหมายเอาไว้จริงๆ
“จุดเริ่มต้นก็คือรายการ Iron Chef เชฟกระทะเหล็ก เอาจริงๆ ก็คือเรามองเห็นช่องว่างทางการตลาดของรายการประเภทนี้ เพราะถ้าทำจะไปทำรายการประเภทอื่น ก็จะมีบริษัทอื่นที่ทำมาก่อนอยู่แล้ว ทั้งรายการวาไรตี้ เกมโชว์ ถ้าเราไปทำรายการเหมือนเค้า ซ้ำรอยเค้า เราก็ไม่มีทางชนะ ก็เลยคิดว่ารายการอาหารนี่แหละ ยังไม่มีใครจับ มันก็เลยเป็นที่มา ที่เราไล่ซื้อลิขสิทธิ์ทุกรายการของโลก ที่เกี่ยวกับอาหาร หลังจาก Iron Chef ก็มาเป็น Master Chef ซึ่งก็จะแตกออกเป็น Master Chef ธรรมดา , Master Chef Celebrity , Master Chef Junior แล้วก็ยังมี Top Chef ล่าสุดก็คือ Hell’s Kitchen
พูดให้ชัดๆ ก็คือ ณ ปัจจุบัน ผู้บริหารหนุ่มที่นั่งอยู่ตรงหน้านี้ เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์รายการอาหารระดับโลกครอบคลุมทุกรายการ ในฐานะผู้ “นำเข้า” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ไม่นับรวมรายการที่คิด และสร้างสรรค์เอง เพื่อเตรียม “ส่งออก” อีกด้วย
“ความแตกต่างระหว่างรายการที่ซื้อรูปแบบจากต่างประเทศ กับรายการที่ติดรูปแบบเอง ก็จะมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน ถ้าเป็นรายการที่เราไปซื้อมาเนี่ย ก็จะมีต้นทุนที่สูง เพราะมีค่าลิขสิทธิ์ แล้วก็จะมีกฎ กติกา มารยาท พอสมควรที่เราอาจจะต้องปฏิบัติตาม อาจจะไม่ได้ปล่อยฟรีแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ ก็คือ จะต้องมีรูปแบบของเค้ามาครอบ อันนี้เป็นจุดนึง แต่ข้อดี คือเราขายสปอนเซอร์ได้ก่อนเลย เพราะว่าชื่อของรายการ พอไปพูดกับสปอนเซอร์ ลูกค้า เอเยนซีต่างๆ ก็รู้จัก ทุกคนมั่นใจ เพราะฉะนั้นไม่ต้องรอ เรตติ้ง คือพอประกาศว่าจะทำ Master Chef ปั้ง สปอนเซอร์รอแล้ว แต่เค้าก็ต้องดูจากสิ่งที่เราทำมาก่อนด้วยแหละ เพราะฉะนั้นการซื้อรูปแบบมาแพงก็จริง แต่มันขายสปอนเซอร์ได้ง่ายกว่า
ส่วนรายการที่เราทำเอง ถูกกว่าแน่ในเรื่องของต้นทุน แต่ก็ต้องไปนั่งบอกลูกค้ามันจะเป็นแบบนี้ มันจะดีแบบนั้น เพราะเค้ายังไม่เห็นภาพ ก็จะรอซีซันสองก่อนแล้วกัน ก็จะขายถูกๆ ก่อน ยกตัวอย่างเช่น Bid Coin Chef ก็จะเป็นรายการเกมโชว์สำหรับเชฟเลย ตอนปีแรก สปอนเซอร์ก็จะแบบกลัวๆ กล้าๆ แต่ก็จะมีสปอนเซอร์ที่อยู่กับเรามานาน เค้าก็ช่วย แต่ก็ไมได้เยอะเท่ากับ Master Chef ต้องรอซีซันสองนี่แหละ สปอนเซอร์ถึงจะเข้าเต็มที่มากกว่า
แต่การที่เรามีของเราเอง ก็จะมีข้อดี ที่เราไปขายต่างประเทศได้ มันก็จะได้ตรงจุดนี้ด้วย”
ด้วยความไม่หยุดนิ่ง จากความสำเร็จของรายการทีวี ก็เดินหน้าขยายไลน์ สู่ธุรกิจอีเวนต์เกี่ยวกับอาหาร ด้วยเป้าประสงค์ที่จะ “ต่อยอด” เส้นทางสายอาหารให้กับบรรดาเชฟ ที่แจ้งเกิดจากรายการที่ผลิต
“เมื่อเราได้รายการรูปแบบจากต่างประเทศมาอยู่กับเราทั้งหมดแล้ว เราก็มาคิดต่อว่า สิ่งที่เราได้ในแต่ละปีคืออะไร เราเป็นโรงงานลิตเชฟ ผลิตเซเลบริตี้เชฟ เพราฉะนั้นถ้าผลิตมา แล้วก็ทิ้งไป มันก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ทั้งกับบริษัทก็ดี กับเชฟเหล่านั้นก็ดี เพราะโอกาสเปิดให้เค้า แต่เปิดไม่สุด
ในทางปฎิบัติก็คือ เมื่อเราเปิดโอกาสให้เชฟเหล่านี้แล้ว เราต้องหาเส้นทางเดินต่อ ให้เชฟเหล่านี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากจบรายการ เพราะฉะนั้น เราก็มาแตกไลน์ต่อ จากทีวี เราก็วิ่งไปออนไลน์ ก็จะเป็นคลิปต่างๆ ที่สอนทำนี่ทำนั่น ก็จะเป็นผลงานของเชฟเหล่านี้ พอออนไลน์แล้วก็มาอีเวนต์ ที่เอาเชฟมารวมตัวกัน ซึ่งอันนี้จะเป็นความแตกต่างที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งการทำ Food Festival เนี่ย มันก็จะเป็นพื้นฐานให้เชฟแต่ละคน ที่ยังไม่มีร้านอาหาร ได้เริ่มที่จะทำอาหารออกมา แล้วก็เติบโตไปทำร้านอาหารต่อไป”
ฉะนั้นแล้วจุดเด่นของ Food Festival ที่อยู่ใต้ร่มของ บ. เฮลิโคเนีย จึงย่อมไม่ใช่เป็นแค่เทศกาล ที่มีแค่พ่อค้าแม่ขายมาเปิดบูธขายอาหารเท่านั้น
“ถ้าเรามองว่ารายการทีวี คือมีเดีย อีเวนต์ ก็คือการเอามีเดียออกมาอยู่นอกจอ สิ่งที่เราพยายามทำก็คือ พยายามให้Food Fes ของเราเนี่ย ไม่ได้มีแค่อาหาร แต่จะทำให้เป็น Food Exprerience ที่มาแล้ว จะได้พบกับเซเลบริตี้เชฟที่มากที่สุด ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างเกินคาด คนเข้าร่วมงาน 10 วัน 5 แสนคน เอาเซเลบริตี้เชฟไป 70 คน แต่ละคนก็จะขายอาหารได้เยอะมาก และการทำในลักษณะที่เป็น experience หรือเราขอเรียกว่า food entertainment ยังไม่มีคนทำ”
และ….ในยามที่คำว่า Soft Power ถูกหยิบมาอย่างแพร่หลาย ด้วยความหมายที่ฟังแล้วสวยหรู ดูดี ทว่ากลับขาดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน ทั้งๆ ที่คอนเทนต์ต่างๆ ของบ้านเรา สามารถที่จะผลักดันออกไปประทับตราในระดับสากลได้อย่างสบายๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว , T-Pop ของไทย , รายการทีวี และซีรีส์ต่างๆ หมายรวมกระทั่งอาหารไทย ที่แม้จะเป็นที่รู้จักอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ยังถือว่ายังไปได้ไม่สุดทาง ก็ด้วยเหตุผลดังกล่าวนั่นเอง
“ผมพร้อม และก็อยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power เพราะว่าเป็นความฝันของเราตั้งแต่ต้นผมเคยพูดกับสื่อมาโดยตลอดว่า เราอิจฉาเกาหลี ที่ภาครัฐลงมาช่วยในเรื่องของเอ็นเตอร์เมนเม้นท์ จนทำให้เป็น Soft Power ในทุกๆ เรื่อง ในขณะที่ทำไมเอ็นเตอร์เมนเมนท์ของเราถึงอยู่แค่นี้ เพราะว่าเอ็นเตอร์เทนเมนท์ของเรา มันมีทุนอยู่เท่านี้ มีสปอนเซอร์อยู่เท่านี้ คุณภาพมันก็เลยเท่านี้ มันก็จะเป็น Soft Power ไมได้ ถ้าภาครัฐลงมาช่วยสนับสนุนอย่างจริงจัง เราก็จะสามารถขยายตัว และออกไปสู้กับต่างชาติได้ ซึ่งถึงตรงนั้นแหละ ที่จะกลายเป็น Soft Power จริงๆ
แต่ในความคิดของผม ในเมื่อเกาหลีมี K-Pop ถ้าเราจะไปทำดนตรีสู้กับเกาหลี ก็ไม่ได้ ประเทศไทยจะไปสู้ K-Pop ไปสู้ทำไม เอาอาหารไปสู้ซิ โดยที่ทำไมเราไม่สร้างเชฟทุกคนที่เรามี ให้กลายเป็น T-Pop ที่เปลี่ยนจากดนตรีมาเป็นอาหาร นี่คือสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด คือเราสร้างเชฟให้เป็นสตาร์ ให้มีชื่อเสียงขึ้นมา เรามองว่าเชฟไมได้เป็นแค่เชฟ แต่เป็นอาร์ติสท์ เป็นศิลปิน เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปสร้างศิลปินเกี่ยวกับเพลงสู้กับเกาหลี ให้ชนะอ่ะยาก คุณมาสร้างศิลปินที่เป็นเชฟในวงการอาหารของโลก ผมว่าอันนี้แหละที่เป็น Soft Power ที่สำคัญและเป็นไปได้มากที่สุด”
ในความเป็นไปได้ที่กล่าวถึงนั้น ไม่ได้เป็นแค่โครงการที่ร่างฝันไว้ในกระดาษ แต่ผ่านกระบวนการคิด และพร้อมลงมือทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแล้ว
“ถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง เรามีเชฟที่เซ็นสัญญากับเราเป็นร้อยคน เราสามารถนำเชฟเหล่านี้ ไปเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของอาหารไทย เราสามารถที่จะสร้างคอนเทนต์ให้คนต่างชาติเข้ามาดู แล้วสนุกตาม เราสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป เพื่อให้คอนเทนต์เกี่ยวกับอาหารไทย มันน่าดู สำหรับคนต่างชาติ เรามีศิลปินหลายคนที่พูดได้หลายภาษา เราสามารถทำคอนเทนต์ที่เป็นภาษาอื่นๆ ได้ และก็สนุก ด้วยมาตรฐานของโปรดักชันที่เรามี อันนี้แหละที่เป็นส่วนสำคัญที่ผมคิดว่า เราสามารถที่จะช่วยสร้างให้เกิดช่องทางการตลาดช่องทางหนึ่งสำหรับประเทศไทย โดยใช้อาหารกับเชฟของเราเป็น Soft Power
อันที่สองที่สามารถทำได้ จะเห็นว่าในประเทศไทยยังไม่มีใครทำฟู้ดอีเวนต์ที่แตกต่าง แต่เราพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เราทำมันแตกต่าง เพราะฉะนั้นครีเอทีฟในเรื่องการทำฟู้ดอีเวนต์ เราเชื่อว่าเราไม่แพ้ใคร เราสามารถทำอีเวนต์ในประเทศไทย แล้วทำให้คนต่างชาติเข้ามาและสนุก และได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไป
ผมคิดว่าสองจุดตรงนี้ คือมีเดียกับอีเวนต์ ที่เกี่ยวกับอาหารไทย เราคิดว่าเราไม่แพ้ใครในประเทศไทย เราเชื่อว่า เราน่าจะช่วยผลักดันโครงการ Soft Power ได้ดี”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โครงการดังกล่าว อาจจะไม่สามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี หากไร้ซึ่งกำลังสนับสนุนสำคัญจากภาครัฐ
“ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ เราสามารถเดินเกมของเราเองก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องฝากภาครัฐ ว่าถ้าให้การสนับสนุนตรงนี้ก็จะดีกว่า เพราะถ้าภาครัฐไม่สนับสนุน มันก็จะกลายเป็น Soft Power แบบแกรนๆ ที่อยู่แต่ในประเทศ แล้วก็จะพูดว่าเป็น Soft Power แต่จริงๆ แล้ว มัน No Power ก็อยากให้ภาครัฐใส่ Soft Budget ลงมาใน Soft Power ของเราอย่างจริงจัง กับคนที่เหมาะสม เพื่อที่จะสร้างให้เป็น Grand power ให้คนทั่วโลกเห็นครับ”
เขาทิ้งคำพูดสุดท้ายไว้ให้คิดเพียงเท่านี้ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าเสียงจะดังพอ ที่จะกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ตระหนักรู้ขึ้นมาได้บ้าง ไม่มากก็น้อย !!!