แห่ลดเป้ากำไร KKP ขาดทุนรถยึดอีกนาน ตั้งสำรองพุ่ง


HoonSmart.com>>”ธนาคารเกียรตินาคินภัทร” (KKP) ร่วงแรงตามคาด -3.88%  ผิดหวังกำไรไตรมาสที่ 3/66  นักวิเคราะห์ฟันธงโค้งสุดท้ายไม่ฟื้น แย่ต่อเนื่องปีหน้า  บล.หยวนต้าแนะเพียงเทรดดิ้ง หั่นเป้ากำไรตั้งแต่ปีนี้ลง 19.7% ให้เป้าหุ้นปีหน้า 63 บาท  บล.ดาโอชี้เป้า 52 บาท บล.ทิสโก้ 75 บาท 

วันที่ 24 ต.ค.2566 ราคาหุ้น ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ทรุดตัวลงแรงตามคาดการณ์ หลังประกาศกำไรสุทธิไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 1,300 ล้านบาท ต่ำกว่าคาดการณ์มาก ระหว่างวัน ราคาสูงสุด 50.25 บาท ก่อนลงไปต่ำสุดแตะ 49.25 บาท และปิดที่ระดับต่ำสุด 49 บาท ร่วงลง 2.50 บาทหรือ -4.85 % ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 464.68 ล้านบาท นับเป็นราคานิวโลว์ในรอบ 52 สัปดาห์

บล.หยวนต้าปรับลดคำแนะนำลงเหลือเพียง “TRADING” หุ้น KKP จนกว่าจะเห็นสัญญาณเชิงบวกของคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแรงขึ้นหลังปรับไปใช้มูลค่าพื้นฐานปี 2567 ที่ 63 บาท  และปรับลดประมาณการกำไรสุทธิตั้งแต่ปี 2566 ลงเฉลี่ยปีละ 19.7% เพื่อสะท้อนความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ภายใต้ประมาณการใหม่ คาดจะมีกำไรสุทธิ 6,046 ล้านบาท ลดลง 27.2% YoY

เรามองผลดำเนินงานในไตรมาสที่ 4/2566 จะถูกกดดันจากผลขาดทุนรถยึดและการตั้งสำรองของสินเชื้อเช่าซื้อที่เร่งปล่อยไปมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่เริ่มชะลอตัวลงจากการแข่งขันในตลาดเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ที่รุนแรงขึ้น แม้ราคาหุ้นปัจจุบันจะมี Upside ราว 22.3% หลังปรับไปใช้มูลค่าพ้้นฐานปี 2567 ที่ 63 บาทก็ตาม

บล.ดาโอ ยังคงคำแนะนำ“ถือ” KKP แต่มีการปรับไปใช้ราคาเป้าหมายไปเป็นปี 2567 ได้ที่ 52 บาทอิง PBV ที่ 0.70 เท่า (-1.50SD below 10-yr average PBV) จากเดิมที่ 58 บาท อิงPBV ปีนี้ที่ 0.80x (-1.00SD below 10-yr average PBV) จากการปรับ PBV และกำไรลงเพื่อสะท้อนความเสี่ยงจากขาดทุนรถยึดที่ยังทรงตัวสูง ขณะที่มีความเสี่ยงจากขาดทุนรถยึดที่มีโอกาสมากกว่าคาดจากการเร่งขายรถมือสองในจำนวนที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้ม NPLs ที่จะสูงขึ้นมากกว่าคาด

ทั้งนี้ KKP ประกาศกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท ลดลง -39% YoY และ -9% QoQ ต่ำกว่าที่ตลาดคาด -11% และเราคาด -23% เนื่องจากมีการตั้งสำรองฯที่รวมขาดทุนรถยึดอยู่ที่ 3 พันล้านบาท (เราคาด 2.5 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึง +92%YoY และ +7% QoQ และมีรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิน้อยกว่าคาดมาอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท (เราคาด 1.6 พันล้านบาท) ลดลง -15% YoY และ -9% QoQ จากธุรกิจหลักทรัพย์ที่ลดลง ส่วน NPL ลดลงมาอยู่ที่ 3.50% จากไตรมาสก่อนที่ 3.60% จากฐานสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ NPL ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบุคคลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

KKP มีกำไรรวม 9 เดือนปีนี้ เพียง 66% จากประมาณการทั้งปี จึงปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2566-2567 ลงปีละ -16% จากการปรับ Credit cost ที่รวมผลขาดทุนรถยึดปี2566 เพิ่มขึ้นทำให้ได้กำไรสุทธิปี 2566 อยู่ที่ 6 พันล้านบาท ลดลง -21% YoY ขณะที่คาดว่าแนวโน้มกำไรไตรมาสที่ 4/2566 จะลดลงทั้ง YoY และ QoQ จากขาดทุนรถยึดที่คาดว่าจะทรงตัวสูงต่อ

ราคาหุ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลง -7% เมื่อเทียบกับ SET เพราะขาดทุนรถยึดที่อยู่ในระดับที่สูงมากในไตรมาสที่ 2 และยังสูงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 ขณะที่คาดจะยังทรงตัวระดับสูงต่อในไตรมาสที่ 4 อย่างไรก็ดีValuation ลงมาซื้อขายที่ระดับ 0.73 เท่าของ PBV ที่ระดับเพียง -1.50SD below 10-yr average PBV และ KKP ยังมีอัตราผลตอบแทนปันผลอยู่ในระดับสูงที่ราว 5% เราจึงยังคงแนะนำเพียง “ถือ”

บล.ทิสโก้ คงคำแนะนำซื้อ KKP โดยมูลค่าที่เหมาะสม  75  บาท หลังรายงานกำไรไตรมาสที่ 3 ต่ำกว่าคาดของเราและ Bloomberg consensus ราว 11% ต้นทุนที่มีความเสี่ยงสูง (ต้นทุนด้านเครดิต + ผลขาดทุนจากการขายรถยนต์ที่ถูกยึด) ยังคงส่งผลต่อกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่องและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-NII) ที่ลดลงทำให้กำไรสุทธิอ่อนแอลงอีก

เราเน้นย้ำว่า เป็นครั้งแรกในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของ KKP หดตัว QoQ พอร์ตเป็นแหล่งที่มาสำคัญของการสร้างหนี้เสีย (NPL) ในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นมุมมองการเปลี่ยนแปลงทิศทางจึงมีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนในการลดการเพิ่มขึ้นของ NPL แต่ อาจกดดันรายได้รายไตรมาสเนื่องจากการละเว้นการกู้ยืมดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยแน่นอนว่าด้วยการที่ธนาคารปรับพอร์ต , credit cost ไม่น่าจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กำไรอ่อนแอ เราจะติดตาม
การพัฒนาในส่วนนี้อย่างใกล้ชิดเนื่องจากอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อแนวโน้มรายได้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ให้กู้รายอื่นในรูปแบบของการแข่งขันสินเชื่อเช่าซื้อที่ลดลง เนื่องจาก KKP ดูเหมือนจะเป็นผู้ขับเคลื่อนตลาด ในช่วงไม่กี่ปี ที่ผ่านมา หาก KKP ยังคงชะลอการเติบโตของสินเชื่อใหม่อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ประกอบการทุกคน

ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง (+8%QoQ) มาจากรายได้พิเศษจากธุรกิจ AMC (607 ล้านบาท เทียบกับ 32 ล้านบาทในไตรมาสก่อน) ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจลีสซิ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเนื่องจากการหยุดขยายสินเชื่อคุณภาพสินทรัพย์ยังคงย่ำแย่

“ไม่น่าแปลกใจเลยที่คุณภาพสินทรัพย์เป็นปัญหาอีกครั้งในไตรมาส 3 นอกจากรถยนต์ที่ถูกยึดจำนวนมากขึ้นแล้ว ราคารถยนต์ใช้แล้วยังลดลงอีก ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ที่ถูกยึดรายไตรมาสเพิ่มขึ้นเป็น 1.36 พันล้านบาท (สินเชื่อ 137bps) ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อรวมกับ credit cost ที่สูงขึ้น(168bps) ต้นทุนความเสี่ยงอยู่ที่ 304bps การที่อ่อนแอที่ Non-NII ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่แย่กว่านั้นคือ ความผันผวนของตลาดทุนส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละวันลดลง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอ่อนแอลง (เช่น หลักทรัพย์ กองทุนรวม และ IB)”บล.ทิสโก้ระบุ


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *