ต้องเต ธิติ ผู้กำกับ สัปเหร่อ เผย สัญญะและความเชื่อสำคัญ ถูกร้อยเรียงไว้ในภาพยนตร์ ที่หากได้รู้แล้วหลายคนอาจอยากกลับไปดูซ้ำอีกรอบ
เรียกได้ว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกของปี 2566 ที่เปิดตัวมาเพื่อพลิกวงการภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ สำหรับภาพยนตร์ไทยเรื่อง “สัปเหร่อ” ภาพยนตร์ไทยที่สร้างกระแสแรงอย่างต่อเนื่องหลังจากเข้าฉายได้เพียง 18 วัน โดย Major Group เปยถึงรายได้หลังเข้าฉายว่ากำลังทะยานขึ้นสู่ 500 ล้าน อีกทั้งยังขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างรายได้สูงสุดในรอบ 8 ปีเลยทีเดียว
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง สัปเหร่อ เป็นเส้นเรื่องหนึ่งในจักรวาล “ไทบ้าน” เป็นภาคแยกจากซีรีส์เรื่อง ไทบ้านเดอะซีรีส์ เล่าถึงเรื่องราวของหนุ่มอีสานที่ทำงานเป็นสัปเหร่อ ซึ่งชีวิตรักของเขานั้นต้องจบลงด้วยความเศร้า จึงพยายามทำทุกวิถีทางความเชื่อเพื่อให้ได้พบกับคนรักอีกครั้ง และเด็กหนุ่มที่เรียนจบกฎหมาย 7-8 ปี มีพ่อทำอาชีพ สัปเหร่อ เขาหวังจะไปสอบเป็นทนายหรือปลัดอำเภอ แต่ต้องมาช่วยพ่อเป็นสัปเหร่อ เพราะพ่อมีอาการป่วยจนต้องมาช่วยพ่อทำงาน แต่ลังเลเพราะเกิดเป็นคนที่กลัวผีมากๆ และต้องมาทำงานกับศพ
สัปเหร่อ เป็นภาพยนตร์ที่บ่งบอกถึงความเชื่อทางอีสานเกี่ยวข้องกับเรื่องของ ขวัญ วิญญาณ และโลกหลังความตาย โดย ต้องเต ธิติ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้เผยถึงความเชื่อต่างๆ เอาไว้ดังนี้
ส่อนขวัญ
พิธีทางความเชื่อของภาคอีสานที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยทางใจจะด้วยการประสบอุบัติเหตุก็ดี หรืออาการเจ็บป่วยก็ตาม โดยพิธีนี้มีความเชื่อว่า เมื่อบุคคลใดเกิดเรื่องราวดังกล่าวขึ้นจะทำให้ขวัญหนีดีฝ่อ หายป่วยแล้วก็จะมีอาการซึมเศร้า ไม่สดชื่น ไม่แจ่มใสเหมือนคนปกติ จึงทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะทำพิธีนี้ขึ้นเพื่อเป็นการนำขวัญและกำลังใจของคนๆ นั้นกลับมาชาวอีสานบางคนกล่าวว่า หากไม่ทำ พิธีส่อนขวัญคนป่วยกลับคืนมา อาการของผู้ป่วย
โยนกาละพฤกษ์
การหว่านกัลปพฤกษ์ในงานศพ เป็นการแสดงให้เห็นภาพว่า ในขณะที่มีผู้คนกำลังแย่งยื้อเงินทองกันอย่างวุ่นวายอยู่นั้น ศพที่ตั้งอยู่กลับไม่รู้สึกอยากได้เงินทองเหล่านั้นเลย ยังนอนสงบนิ่ง ผิดกับตอนมีชีวิตอยู่ ต้องออกแรงดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง อีกอย่างหนึ่ง การหว่านกัลปพฤกษ์นั้นคือการโปรยทาน เป็นสร้างกุศลบารมีครั้งสุดท้ายให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
โบว์ดำกลัดคนท้อง
ตามความเชื่อของชาวอีสาน คือ ป้องกัน ภูตผีปีศาจ มาเอาลูกในท้องของเเม่เด็ก
ธุง
ธุง เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งนิสัยไม่ดีร้ายหรือสิ่งไม่ดีที่มองไม่เห็นหรือภูตผีวิญญาณที่จะมารบกวนงานบุญ หากเห็นธุงแล้วจะถอยออกไป พร้อมกันนั้นยังเป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดาในพื้นที่ว่ามีการทำบุญและมีพิธีการสำคัญให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง
นอกจากนี้ยังสะท้อนความเชื่อหลายอย่างด้วยกัน อาทิ แทนการเชื่อมโยงวิญญาณหลังความตาย รวมถึงเป็นกุศโลบาย หมายถึง สายใยนำสู่พระธรรม เป็นบุญเป็นกุศลให้คนที่ประดิษฐ์ธุงแมงมุมถวายเป็นพุทธบูชา ได้ยึดเกาะสายใยนี้สู่ภพแห่งพระศรีอริยเมตไตรยหรือสู่นิพพาน
ยายผูกเเขนให้เซียง
อีสานมีความเชื่อการผูกฝ้าย เป็นการรับขวัญให้เข้ามาในชีวิต ให้ชีวิตเจอแต่สิ่งดีๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อหรือเป็นความจริงสุดท้ายถ้าทำแล้วเราสบายใจที่จะทำเราก็ทำ อย่างน้อยการที่เราทำมันก็เกิดจากความรัก ความห่วงใย ความอบอุ่นของหัวใจเนาเอง
เสื้อเเดงเเขวนหน้าบ้าน
ในความเชื่อของชาวอีสาน การเเขวนเสื้อแดงที่หน้าบ้านเป็นการป้องกันผีเเม่ม่ายที่จะมาเอาชีวิตของคนในบ้าน เเละอีกความเชื่อเป็นการป้องกันสิ่งอัปมงคลเเละผีต่างๆไม่ให้มารังควานผู้คนที่อยู่ในบ้าน
พิธีกรรมตัดสายแนนหรือตัดผัวตัดเมีย
ผมได้หยิบเอาพิธีกรรมตัดสายแนนหรือตัดผัวตัดเมียมาเล่าในมิติของความเชื่อ เขาเชื่อกันว่าพิธีกรรมนี้จะทำให้คนที่ตายไม่มาเอาคนที่อยู่ตายไปด้วย เหมือนตัดขาดความสัมพันธ์ ตัดขาดความคิดถึงตัดขาดความห่วงใย ตัดขาดความรู้สึก แต่ถ้าตอนทำคนที่ทำหันกลับไปดู จะทำให้ตัดทุกอย่างไม่ได้
นอกจากนี้ ต้องเต ยังได้เผยถึงจุดสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้อีกหลายจุดเช่นเดียวกัน
ข้าวจี่ไหม้
ยายที่แก่ชราตาแทบมองไม่เห็น แก่จนไม่รู้ความสุกพอดีกินของข้าวจี่ รู้แค่ว่าห่วงลูกหลาน ไม่สนใจว่าลูกหรือหลานตัวเองจะทำผิดหรือทำไม่ดีมาขนาดไหน รู้แต่ว่าอยากดูแลเขา มอบความรัก มอบความห่วงใย มอบความอบอุ่น บางครั้งเราอาจแค่อยากกินข้าวธรรมดากับคนในครอบครัวธรรมดา ที่แสนจะพิเศษแค่นั้นเองครับ นี่อาจเป็นความรักอันบริสุทธิ์ที่แท้จริงของคนที่อยู่ข้างๆ ความรักต้องรักษาด้วยความรัก
ลูกโป่งขาวลอย
สื่อถึงการหลุดลอย การปลดปล่อย จากความสุขและทุกข์ของคนที่ยังอยู่และคนที่จากไป
วงไฮโลในงานศพ
กิจกรรมในงานศพ แสดงถึงเส้นเเบ่งระหว่างอารมณ์สนุกกับความเศร้า ของเจิดกับวงไฮโล เพื่อบอกเป็นนัยยะว่าถ้าความตายไม่ได้เกิดกับคนที่เรารัก เราก็จะยังมีความสุขต่อไปได้โดยที่บางทีเราอาจลืมนึกถึงเขาตอนที่ยังมีชีวิตอยู่
เจิด (ผู้ชายที่ทาเล็บ)
ในสมัยก่อนจะสื่อถึงการเเบ่งเเยกชนชั้นทางสังคม เเต่พอมาอยู่บนตัวเจิด ความหมายเเฝงที่ว่า เจิดที่จบกฎหมายกับการทำศพ เราจะไม่เเบ่งเเยกว่าใครเป็นใคร ทุกศพเราปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมกัน
น้ำตก (โลกความฝัน)
ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นน้ำตกไหลสวนทางกัน สื่อถึงธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนเเปลงและเเตกต่างกันอยู่เสมอ คนเราไม่อาจขัดขวางหรือฝืนธรรมชาติได้ มันคือธรรมชาติของจริงที่เราต้องเจอ เรียนรู้ แล้วอยู่กับมัน
โปรยข้าวตอก
สื่อถึงคติธรรมว่า คนตายนั้น รูปกับนามแตกจากกันเหมือนข้าวตอกแตกที่แตกออกจากกัน
เมรุหลากสีสัน
เราตั้งคำถามว่าสื่อถึงการช่วยคลายความโศกเศร้าของคนที่สูญเสีย แต่เมื่อถึงวาระสุดท้ายที่จะทำการเผาศพผู้วายชนม์ เกิดขึ้นจริงๆสีสันต่างๆของเมรุยังจะช่วยปลอบอารมณ์ของเราได้ไหม
นกบินออกจากบ้าน
โบยบินออกที่จากที่อยู่อาศัย โบยบินออกจากความเป็นห่วง โบยบินออกจากการสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก อันนี้ตีความได้เยอะมากเลยครับ
ข้อมูลจาก ไทบ้าน