กก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบปรับอาการ-สูตรยารักษา “วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก”


กก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบปรับอาการ-สูตรยารักษา “วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก”

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2566 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

นพ.ชลน่านเปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ 1.ร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การเพิ่มเติมผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐในคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก พ.ศ. … สำหรับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ ด่านท่าเรือตำมะลัง และด่านพรมแดนวังประจัน จ.สตูล เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออย่างมีประสิทธิภาพ

และ 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. … ตามที่ที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญวัณโรคดื้อยาระดับประเทศเห็นชอบ โดยปรับอาการสำคัญของวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 13 ใน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ว่า “กรณีวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก” ซึ่งเป็นวัณโรคที่มีการดื้อยาหลายขนานร่วมกัน ได้แก่ ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) อาจจะดื้อต่อไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ด้วยหรือไม่ก็ได้ และดื้อต่อกลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) ได้แก่ ลีโวฟล็อกซาซิน (Levofloxacin) ม็อกซิฟล็อกซาซิน (Moxifloxacin) อย่างน้อย 1 ขนาน และดื้อต่อยาเบดาควิลีน (Bedaquiline) หรือ ไลเนโซลิด (Linezolid) อย่างน้อย 1 ขนาน มีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หรือมีอาการตามอวัยวะที่ติดเชื้อ สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

“ได้ย้ำในที่ประชุมว่า แม้อุบัติการณ์วัณโรคจะลดลงจากในอดีตมากแล้ว แต่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่กำหนดให้ยุติวัณโรคภายในปี 2573 ซึ่งถ้าบริหารจัดการวัณโรคที่ยังพบผู้ป่วยปีละประมาณ 1 แสนราย ได้ โดยร่วมมือกันอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง จะแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกคนในประเทศไทย โดยการปรับอาการสำคัญของวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก จะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย รักษา และควบคุมโรค ทำให้สูตรยารักษาถูกกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญวัณโรคดื้อยา สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญ” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าในการเสนอร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย หากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และเป็นหรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ หรือการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง เนื่องจากในสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า มาตรการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันควบคุมโรคทั้งโรคติดต่อที่อุบัติใหม่และอุบัติซ้ำได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่ง สธ.อยู่ระหว่างสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า ยังติดตามเรื่องการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ตามนโยบายเร่งรัด 100 วัน ซึ่งวันเดียวกันนี้มีการลงนามประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สภากาชาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยจะรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV ให้แก่นักเรียนหญิงชั้น ป.5-อุดมศึกษาปีที่ 2 รวมถึงผู้หญิง อายุ 11-20 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา แบ่งเป็น การฉีดวัคซีนนักเรียน (School based) วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2566 จะคิกออฟวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงเรียนไทรน้อย จ.นนทบุรี และทุกเขตสุขภาพอย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 แห่ง และฉีดกลุ่มอายุ 18-20 ปี ช่วงธันวาคม 2566-มกราคม 2567

“การจัดสรรและจัดส่งวัคซีน แบ่งเป็น วัคซีนจาก สปสช. ให้บริการกลุ่มเป้าหมายตามสิทธิประโยชน์ ชั้น ป.5 ม.1-2 เป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ (Cecolin) และ 4 สายพันธุ์ (Gardasil) จำนวน 784,368 โดส ทยอยจัดส่งถึงพื้นที่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 และวัคซีนจากกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นวัคซีนบริจาคจากสภากาชาดไทย 400,000 โดส และวัคซีนสำรองส่วนกลาง 200,000 โดส ให้บริการเก็บตกในกลุ่มเป้าหมายตามสิทธิประโยชน์ที่วัคซีน สปสช.ไม่เพียงพอ และกลุ่มนอกสิทธิประโยชน์ อายุ 18-20 ปี เริ่มจัดส่งเดือนตุลาคม 2566 และยังมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระยะแรก สำหรับผู้หญิง อายุ 30-60 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายมะเร็งครบวงจร ภายใต้กรอบแนวคิด “รู้เท่าทัน ป้องกันได้ ตรวจพบรักษาไว ปลอดภัยจากมะเร็ง” และสอดคล้องกับสโลแกน “สวย เริด เชิด สู้มะเร็ง” หรือ Women Power No Cancer” นพ.ชลน่านกล่าว

QR Code

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

Line Image


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *