BlackBerry โทรศัพท์ยอดฮิตที่คนเคยใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง ด้วยแป้นพิมพ์ที่โดดเด่น พร้อมไฟกะพริบแจ้งเตือนข้อความอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้คุยกับเพื่อนได้อย่างเมามันแม้อินเทอร์เน็ตยุคนั้นจะยังไม่เสถียร นับเป็นการจุดประกายพฤติกรรมแชต ก่อนแอปฯ ที่เราใช้กันทุกวันนี้จะเป็นที่นิยม
บทความนี้ Thairath Money จะพาไปดูกันว่าบริษัทผู้ผลิตมือถือแชตได้ในตำนานนั้น ที่แม้จะถูกแทนที่ด้วย iPhone, Samsung และแบรนด์มือถืออีกหลายเจ้า ปัจจุบันทำเงินจากธุรกิจอะไร มีรายได้จากไหนถึงยังสามารถอยู่รอดได้
ย้อนรอย BlackBerry โทรศัพท์ในตำนาน
BlackBerry เป็นบริษัทสัญชาติแคนาดาที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1984 ในชื่อ Research In Motion (RIM) ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ BlackBerry ในปี 2013 โดยเป็นบริษัทที่มีจุดแข็งในเรื่องเทคโนโลยีป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์
และในช่วงปี 2008 ราคาหุ้นของ BlackBerry เคยแตะจุดสูงสุดที่ 147 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 5,300 บาท) ก่อนจะเหลือประมาณ 3.57 ดอลลาร์ต่อหุ้น (หรือประมาณ 129 บาท) ในปัจจุบัน
ในส่วนของมูลค่าตลาดเมื่อปี 2008 มีมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 7.83 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 2.83 ล้านล้านบาท) และปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.09 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 7.55 หมื่นล้านบาท)
จากนั้นในปี 2009 BlackBerry หรือ RIM ในขณะนั้นก็ติดอันดับ 1 ในการจัดอันดับ 100 บริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดของนิตยสาร Fortune และในปี 2010 ทาง Comscore มีรายงานว่า RIM มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในตลาดสมาร์ทโฟนสหรัฐฯ อยู่ที่ 37.3% และมีฐานผู้ใช้ทั่วโลกอยู่ที่ 41 ล้านราย
ซึ่งจุดพีกของ BlackBerry นั้นคือช่วงปลายปี 2011 ด้วยผู้ใช้กว่า 85 ล้านรายทั่วโลก แต่การเติบโตของ Samsung และ Apple ก็ได้ทำให้ความนิยมของ BlackBerry ลดลงเกือบสามในสี่
จนเมื่อปี 2015 ในช่วงไตรมาสที่ 4 BlackBerry มียอดขายลดลงมากซึ่งขายไปได้ไม่ถึงล้านเครื่อง และมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 0.2% และการรายงานของ Gartner ระบุว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2016 บริษัทขายมือถือไปได้เพียง 210,000 เครื่อง
ด้วยการเข้ามาของ iPhone ที่มีคุณสมบัติไม่ต่างจาก BlackBerry ขณะเดียวกันก็เข้าถึงคนได้ง่ายจึงทำให้สามารถเข้ามาเบียด BlackBerry ที่เน้นใช้งานในภาคธุรกิจซึ่งอาจจะเข้าไม่ถึงผู้บริโภคได้เท่า
ทั้งยังมีปัญหาจากระบบปฏิบัติการของ Blackberry ในขณะนั้นที่ไม่สามารถดาวน์โหลดแอปฯ ได้มากเท่าอุปกรณ์ Apple และ Android รวมไปถึงปัญหาเครื่องช้าและค้างที่ทำให้ลูกค้าย้ายไปซบค่ายอื่นด้วย
แม้ไม่ขายโทรศัพท์ แต่ยังทำเงินได้จากธุรกิจอื่น
ปัจจุบัน BlackBerry ก็ได้ปรับตัวจากการขายโทรศัพท์มือถือ มาเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security) และ Internet of Things (IoT) แก่ลูกค้าธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันในทุกขนาด
สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของ BlackBerry นั้นประกอบไปด้วย Cylance โซลูชัน Endpoint Security ด้วย AI ตรวจหามัลแวร์ในเชิงรุกและป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ แพลตฟอร์ม BlackBerry UEM หรือ Unified Endpoint Management
รวมไปถึง BlackBerry AtHoc โซลูชันที่ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐเตรียมพร้อมรับมือและพลิกฟื้นกลับมาเมื่อต้องพบเจอกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และ BlackBerry QNX ซอฟต์แวร์ Embedded Systems ที่มีความปลอดภัย
พร้อมกันนี้ BlackBerry ได้รายงานผลประกอบการเบื้องต้นของปีงบประมาณ 2023 โดยมีรายรับรวมอยู่ที่ประมาณ 656 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 2.37 หมื่นล้านบาท) ลดลง 8.6% จากปีงบประมาณ 2022 และรายได้จากบริการ IoT อยู่ที่ประมาณ 206 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 7.46 พันล้านบาท)
ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ซึ่งทำไปได้ประมาณ 418 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.51 หมื่นล้านบาท) และยังมีรายได้จากลิขสิทธิ์และรายได้อื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 32 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.15 พันล้านบาท) และยอดขาดทุนสุทธิราว 734 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 2.65 หมื่นล้านบาท) ลดลงจากกำไร 12 ล้านเหรียญดอลลาร์ (หรือประมาณ 434 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2565
อย่างไรก็ตาม BlackBerry หรือ RIM ที่เคยโด่งดังจากการเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ แม้ปัจจุบันจะไม่มีผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนออกมาแล้ว แต่ยังมีธุรกิจซอฟต์แวร์ด้านความมั่นคงที่ทำให้ยังคงสามารถทำเงินได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทก็ได้คาดการณ์รายได้ของปี 2026 ว่าจะทำได้อยู่ที่ราว 800-960 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 2.90-3.48 หมื่นล้านบาท) เลยทีเดียว
อ้างอิง