อนาคต ‘EV’ เผชิญ ‘บททดสอบใหญ่’ เมื่อทั้งตลาดทำสงครามราคาเดือด!


อนาคตของอุตสาหกรรม EV มาถึง “หัวเลี้ยวสำคัญ” ว่าจะ “รุ่ง” หรือ “ร่วง” เมื่อกระแส EV ดึงดูดผู้ผลิตจำนวนมากให้หันมาทำ EV จนตลาดนี้บูม ขณะเดียวกัน การเชือดเฉือนราคาของค่ายรถที่เพิ่มขึ้นนี้ ก็สร้างแรงกดดันต่อความอยู่รอดของบริษัท

Key Points

  • ในจีน รัฐให้เงินอุดหนุนซื้อรถ EV สูงถึง 60,000 หยวน หรือราว 3 แสนบาทต่อคันนับตั้งแต่ปี 2552 
  • ส่วนในสหรัฐ ชาวอเมริกันที่ซื้อรถ EV จะได้รับเครดิตภาษีสูงถึง 7,500 ดอลลาร์ หรือราว 270,000 บาท 
  • EV จีนจากเดิม เคยมีบริษัทผลิตรถ EV ท้องถิ่น เกือบ 500 ราย แต่ออกจากตลาดไปราว 400 ราย เหลือเพียง 100 รายที่ยังคงอยู่รอดในปัจจุบัน

ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เหมือนเป็นดาวรุ่งจากกระแสรักษ์โลก ปัจจุบันกลับเผชิญ “บททดสอบสำคัญ” เมื่อรายได้ของบริษัท Tesla ผู้นำรถ EV ระดับโลก มีรายได้ต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) Tesla สูญเสียความมั่งคั่งไป 28,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาทจากราคาหุ้นที่ถูกเทขาย

นอกจากนั้น อาคิโอะ โตโยดะ (Akio Toyoda) ประธานบริษัท Toyota ผู้ผลิตรถยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น กล่าวหลังราคาหุ้นบริษัท EV ทั่วโลกร่วงต่อเนื่องว่า “ในที่สุด ผู้คนก็ตื่นมาเผชิญความจริงว่า การจะเปลี่ยนให้ผู้คนหันมาใช้รถ EV แทนรถน้ำมันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย”

  • คู่แข่งเพียบ บททดสอบการอยู่รอด

บททดสอบสำคัญที่ว่านี้คือ “การเชือดเฉือนราคากันอย่างรุนแรง” ของเหล่าบริษัท EV ซึ่งเมื่อเทรนด์รักษ์โลกกลายเป็นกระแสหลักระดับโลกขึ้นมา รัฐบาลแต่ละประเทศจึงให้เงินอุดหนุน EV อย่างเต็มที่ เช่น ในจีน รัฐให้เงินอุดหนุนซื้อรถ EV สูงถึง 60,000 หยวน หรือราว 3 แสนบาทต่อคันนับตั้งแต่ปี 2552

ส่วนในสหรัฐ ชาวอเมริกันที่ซื้อรถ EV จะได้รับเครดิตภาษีสูงถึง 7,500 ดอลลาร์ หรือราว 270,000 บาท ฯลฯ อีกทั้งมีเหล่านักลงทุนและผู้ประกอบการแห่มาตั้งบริษัทผลิต EV กันเป็นจำนวนมาก เพราะไม่ต้องการพลาดขบวนเมกะเทรนด์นี้

เมื่อผู้ผลิต EV มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ราคาขายจึงเชือดเฉือนกัน กำไรหดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ Tesla ก็ต้องงัดกลยุทธ์ตัดราคาขึ้นมา อีกทั้งต้องทุ่มงบวิจัยแบตเตอรี่และรถอีก

จนในที่สุด บริษัท EV จำนวนมากจึงอยู่ไม่รอด เห็นได้จากตลาด EV ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนเดิมเคยมีบริษัทผลิตรถ EV ท้องถิ่น เกือบ 500 ราย แต่ออกจากตลาดไปราว 400 ราย เหลือเพียง 100 รายที่ยังคงอยู่รอดในปัจจุบัน โดยบริษัทที่เติบโตต่อได้ก็หนีไม่พ้นบริษัทสายป่านยาวอย่าง BYD, Tesla, SAIC ฯลฯ

นอกจากนั้น การกระตุ้นให้เจ้าของรถยนต์สันดาปภายใน หรือรถใช้น้ำมัน หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีต้นทุนพลังงานต่ำกว่าแทน ก็ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะรถใช้น้ำมันแบบเดิม มีอายุใช้งานราว 7-10 ปี

อีกทั้งการใช้รถ EV อาจเผชิญความไม่สะดวกมากกว่า เช่น ความครอบคลุมของสถานีชาร์จแบตเตอรี่ เมื่อเทียบกับจำนวนปั๊มน้ำมันที่มีมากกว่า ยิ่งในบ้านพักหรือคอนโดอยู่อาศัยที่หากไม่มีแท่นชาร์จแล้ว บางคนที่ไม่ต้องการทิ้งรถไว้เพื่อชาร์จไฟข้างนอก มีแนวโน้มจะชะลอการซื้อรถไฟฟ้า และใช้รถน้ำมันที่มีอยู่ไปก่อน

อ้างอิง: fortune, bloomberg, bangkokbiz    


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *