.css-nh9sg4 #forum2022-logoSponsor{text-align:center;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text{font-family:”KaLaTeXa Display”;font-size:10px;position:relative;z-index:3;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text span{background-color:#ffffff;padding:0 10px;position:relative;z-index:3;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text::after{content:””;height:1px;width:100%;background-color:rgb(216,216,216);position:absolute;top:50%;left:0;-webkit-transform:translateY(-50%);-ms-transform:translateY(-50%);transform:translateY(-50%);z-index:2;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor{padding:0;margin:0;list-style:none;display:-webkit-box;display:-webkit-flex;display:-ms-flexbox;display:flex;-webkit-flex-wrap:wrap;-ms-flex-wrap:wrap;flex-wrap:wrap;gap:15px;-webkit-box-pack:center;-webkit-justify-content:center;-ms-flex-pack:center;justify-content:center;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor li.forum2022-item-sponsor{height:80px;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor li.forum2022-item-sponsor img{height:80px;}
ขณะที่ผู้คนจำนวนมากในยุคปัจจุบันต้องต่อสู้กับความเครียดไม่เว้นแม้กระทั่งผู้สูงอายุ ที่หลายคนคิดว่าพวกเขาไม่ควรที่จะต้องมีความเครียดแล้ว แต่ในความเป็นจริง ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องเผชิญกับความเครียดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าหลายประการ
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ประมาณการภาวะซึมเศร้าที่สำคัญในผู้สูงอายุไว้ดังนี้ 1- 5% สำหรับผู้สูงอายุที่อาศัย อยู่ในชุมชนทั่วไป 11.5% สำหรับผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และ 13.5% สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลสุขภาพที่บ้าน
อาการซึมเศร้าเป็นโรคทางอารมณ์และเป็นภาวะทางการแพทย์เรื้อรัง มีลักษณะเป็นความรู้สึกเศร้า วิตกกังวล ซึ่งแตกต่างจากความรู้สึกโศกเศร้าโดยปกติ สาเหตุของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุพบบ่อยที่สุด คือ อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งข้อมูลจาก CDC สหรัฐอเมริการะบุว่า ประมาณ 80% ของผู้สูงอายุมีภาวะสุขภาพเรื้อรังอย่างน้อย 1 โรค เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจขาดเลือด มะเร็ง ภาวะสมองเสื่อม ฯลฯ ความสามารถในการทำงานลดลง ผู้สูงอายุจำนวนมากมีความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น เช่น ความคล่องตัวลดลง อาการปวดเรื้อรัง ปัญหาทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเกษียณอายุ การถูกละเมิดหรือบูลลี่จากคนรุ่นใหม่ การพึ่งพาไม่ว่าจะโดยการรักษาในโรงพยาบาลหรือต้องการการดูแลสุขภาพที่บ้าน การต้องเผชิญกับความเครียดของผู้ดูแล การนอนไม่หลับ การเป็นโสด หย่าร้าง หรือเป็นม่าย การต้องเผชิญกับเหตุการณ์ในชีวิตที่ตึงเครียด การขาดเครือข่ายโซเชียลที่สนับสนุน ที่พบมาก คือ ความเหงา และขาดการออกกำลังกาย
ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า อาการซึมเศร้ายังเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในผู้ชายผิวขาวที่มีอายุมาก โดยสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ระบุให้ภาวะซึมเศร้าในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและพบว่าอัตราการฆ่าตัวตาย ในคนอายุ 80 ถึง 84 ปี มีมากกว่า 2 เท่าของประชากรทั่วไป แม้ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าสูงกว่าผู้ชายก็ตาม
อาการของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุมีหลายอาการ บางคนอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ มีอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น ไม่แยแสหรือแสดงความรู้สึกต่อสิ่งรอบข้าง โศกเศร้าอย่างต่อเนื่อง หงุดหงิด เหนื่อยล้า มีความรู้สึกผิดและมักคิดว่าตนเองไร้ค่า สิ้นหวัง หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ มีปัญหาในการเพ่งสมาธิและการเปลี่ยนแปลงทางสติปัญญาอื่นๆ นอนไม่หลับ-หรือนอนเลยเวลาที่กำหนด กินมากเกินไปหรือความอยากอาหารลดลง คำพูดหรือการเคลื่อนไหวช้าลง มีปัญหาทางเดินอาหาร การขับถ่าย ความเจ็บปวดทางกายที่ไม่ดีขึ้นเมื่อรักษา มีความคิดซ้ำซากเกี่ยวกับความตาย
ในผู้สูงอายุ อาการซึมเศร้าอาจตรวจพบและวินิจฉัยได้ยากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า เนื่องจากมักจะแสดงอาการแตกต่างออกไป ตัวอย่างเช่น ความเหนื่อยล้าบางครั้งอาจเกิดจากความชรา ภาวะถดถอยด้านพละกำลังของร่างกาย ที่น่าสนใจ คือ บางครั้งภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุไม่ได้รับการวินิจฉัยรักษา เนื่องจากคนใกล้ชิดอาจคิดว่าเป็นเรื่องของภาวะสมองเสื่อม
การรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุไม่มีวิธีที่ตายตัว บางคนแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาโดยให้ยาต้านซึมเศร้าเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองและฮอร์โมน ขณะที่บางคนอาจใช้วิธีให้คำปรึกษา จิตบำบัด หรือกลุ่มบำบัดเพื่อปรับความคิด ทัศนคติ และความรู้สึกเศร้า โดดเดี่ยว แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจต้องใช้การบำบัดด้วยไฟฟ้าช็อต หรือ ECT ซึ่งใช้สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นจากการรักษาด้วยวิธีอื่น
อย่างไรก็ตาม การป้องกันตนเองจากภาวะซึมเศร้ายังเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เพราะการอดนอนอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าและหงุดหงิดได้ โดยปกติ ผู้สูงอายุควรนอนหลับให้ได้ 7 ถึง 9 ชั่วโมงในแต่ละคืน การออกกำลังกาย สารเอนโดรฟินซึ่งเป็นสารสุขที่เกิดจากการออกกำลังกาย จะช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น และยังทำให้หัวใจและปอดแข็งแรงขึ้น ซึ่งสำหรับผู้สูงอายุ การออกกำลังกายง่ายๆอย่างการเดินเร็วๆ ว่ายน้ำ และทำงานในสวนเบาๆ ก็สามารถเป็นทางเลือกที่ดีได้
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรมีการเข้าสังคม เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะแยกตัวจากสังคมจนทำให้เกิดความเหงา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะซึมเศร้า วิธีที่ดีที่สุด คือ การพยายามติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวเพื่อรักษาความสัมพันธ์เหล่านั้นให้คงอยู่ หรืออุทิศตนเป็นอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ โรงพยาบาล โรงเรียน สวนสัตว์ เพื่อให้ได้พบปะกับผู้คนมากขึ้น
สุดท้ายคือ การรับประทานอาหารให้ถูกต้อง เนื่องจากผู้สูงอายุมีความต้องการโภชนาการที่แตกต่างกัน การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสมดุลจึงเป็นสิ่งสำคัญ การรับประทานอาหารที่ดีจะช่วยให้มีพลังงานมากขึ้นและป้องกันสภาวะทางการแพทย์ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้.