กรมแพทย์แผนไทย เผยแนวทางรักษา “โรคสะเก็ดเงิน” ด้วยศาสตร์แพทย์แผนไทย มีทั้งตำรับยาทา ยากิน เน้นปฏิบัติตัวหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง ทำสมาธิบำบัด
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ภก.ปรีชา หนูทิม ผอ.รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กล่าวว่า วันที่ 29 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันสะเก็ดเงินโรค (World Psoriasis Day) ปีนี้กำหนดแนวทางรณรงค์ “Access for All” เข้าถึง เท่าเทียม ทั่วไทย ได้คุณภาพ ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สถานการณ์โรคสะเก็ดเงินในประเทศไทย ปี 2565 พบประมาณ 2% ของประชากรไทย ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรม และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ใช่โรคติดต่อ ลักษณะอาการสำคัญคือ มีผื่นแดง นูนและมีขอบชัด มีขุยหนาสีเงิน หรืออาจพบเป็นตุ่มหนองกระจายทั่วร่างกาย หนังศีรษะ อาจมีเล็บผิดปกติ หรือมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย วิธีการรักษามีทั้งยารับประทาน ยาทาภายนอก การฉายแสง และยาฉีด สำหรับทางการแพทย์แผนไทย มีการกล่าวถึงโรคผิวหนังที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโรคสะเก็ดเงิน อยู่ในพระคัมภีร์วิถีกุฏฐโรค กล่าวถึงโรคเรื้อน รักษายาก แต่มีโอกาสหาย
เมื่อวิเคราะห์อาการเทียบเคียงกับโรคสะเก็ดเงินแล้วพบว่าใกล้เคียงกับเรื้อนมูลนกหรือเรื้อนกวาง เป็นโรคที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ (อุปปาติกะ) ร่วมกับพฤติกรรมเสี่ยงส่งผลต่อธาตุในร่างกาย ทำให้มีความผิดปกติของเลือดและน้ำเหลือง เกิดรอยโรคที่แสดงออกมาทางผิวหนัง ทำให้ผิวหนังพิการ เป็นผื่นปื้นหนา หลุดลอก แม้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการของโรคได้ การรักษาโรคสะเก็ดเงินจะต้องมีการตรวจประเมิน วิเคราะห์อาการของโรคโดยแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อเลือกใช้ยาที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย โดยยาสมุนไพรที่ใช้มีทั้งยาใช้ภายนอก เช่น ยาประสะผิวภายนอก ดับพิษที่ปะทุออกภายนอก ลดอาการผื่นแดงและอักเสบ ยาครีมบัวบก ช่วยการสมานแผลป้องกันการติดเชื้อ เจลว่านหางจระเข้ เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ช่วยให้สะเก็ดอ่อนนุ่ม ทิงเจอร์ทองพันชั่ง แก้อาการผื่นคันตามร่างกาย
ยาสมุนไพรรับประทาน ได้แก่ ยาเบญจโลกวิเชียร หรือ ยาห้าราก สรรพคุณกระทุ้งพิษ ถอนพิษ ยาเขียวหอม แก้ตัวร้อน แก้พิษภายใน ยาบำรุงโลหิต สรรพคุณบำรุงโลหิต หรือการใช้ยาปรุงเฉพาะราย ซึ่งเป็นยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน หรืออาจมีการทำหัตถการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น พอกยาสมุนไพร แช่ยาสมุนไพร เป็นต้น โดยการใช้ยาจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผื่นปะทุขึ้นหรือมีอาการไข้ได้ พร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว โดยหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกของหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารทะเลบางชนิด ปลาน้ำจืดหรือปลาที่มีเมือกมาก ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง รักษาความสะอาดของร่างกายเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและเหมาะสมและดูแลผิวให้ชุ่มชื้นห้ามเกาหรือแกะบริเวณรอยโรค ดูแลระบบขับถ่ายให้ปกติ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด โดยใช้วิธีสมาธิบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจ
“ปัจจุบันมีการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยในสถานบริการของรัฐ สามารถเบิกจ่ายยาในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ตามสิทธิ พร้อมทั้งรับบริการหัตถการด้วย มี รพ.ที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ กระจายอยู่ทุกภูมิภาค สามารถให้คำปรึกษาและ ให้คำแนะนำ” ภก.ปรีชากล่าว