เมื่อพูดถึงการวางแผนชีวิตระยะยาว การเกษียณ ทุกคนมักจะให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน ต่อยอดความมั่งคั่ง หรือไม่ก็ทำประกันชีวิตเพื่อคนข้างหลัง แต่อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่หลายคนมักจะมองข้าม คือ การทำประกันสุขภาพ เพื่อรองรับตัวเองในยามเจ็บป่วย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากสุขภาพปัจจุบันยังแข็งแรง
แต่การจะไปถึงเป้าหมายชีวิตในอนาคตได้นั้น สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องรีบปิดความเสี่ยง ยิ่งปิดเร็ว ยิ่งเสียหายน้อย ยิ่งมีแรงกลับไปทำตามเป้าหมายได้ไว แต่การจะเริ่มทำประกันสุขภาพแต่ละทีนั้นไม่ง่าย เนื่องจากความซับซ้อนของเงื่อนไข ทำให้หลายๆ คนที่เพิ่งเริ่มศึกษาหาข้อมูลเกิดความเข้าใจผิด
aiaplanner และ เมืองไทยประกันชีวิต ได้อธิบายหลักการเบื้องต้นในการซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งจะช่วยคลายความสับสนและความเข้าใจผิด สำหรับมือใหม่ที่อยากทำประกัน ดังนี้
ความเข้าใจผิดของคนทำประกันสุขภาพ
1. มีโรคประจำตัว ทำประกันไม่ได้
โดยเบื้องต้นแล้ว ประกันสุขภาพจะไม่คุ้มครองโรคเรื้อรัง หรือโรคที่เป็นมาก่อนทำประกันแล้วยังไม่ได้รักษาให้หายก่อนวันสมัคร แต่ยกเว้นปัญหาสุขภาพทั่วไปที่รักษาหายแล้ว เช่น เป็นไข้ ท้องเสีย
ดังนั้นสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวร้ายแรง บริษัทประกันอาจไม่รับทำประกัน หรือรับทำแต่พ่วงด้วยเงื่อนไขในการรับประกันเพิ่มเติม ดังนี้
- การเพิ่มเบี้ยประกันตามความเสี่ยงสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
- อนุมัติความคุ้มครองโรคอื่นๆ แต่ยกเว้นโรคที่เป็นมาก่อนทำประกัน
- เลื่อนการรับประกัน ในกรณีที่อยู่ระหว่างการรักษาตัว โดยให้ผู้เอาประกันมาขอสมัครทำประกันใหม่
2. คุ้มครองทันทีที่ทำ
แม้การมีประกันสุขภาพจะช่วยให้เราเบาใจเรื่องค่าใช้จ่ายเวลาเจ็บป่วย แต่ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ โดยไม่ต้องรอ เช่นเดียวกับประกันสุขภาพที่ไม่ได้คุ้มครองทันทีหลังกรมธรรม์อนุมัติ แต่มีระยะเวลารอคอย (WAITING PERIOD) ประมาณ 30-120 วัน เพื่อป้องกันโรคที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งหากเราตรวจพบโรค หรือเจอภาวะการเกิดโรคที่อยู่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว บริษัทประกันจะไม่คุ้มครอง
3. จ่ายเบี้ยเท่าเดิมตลอดไป
ความเข้าใจผิดข้อนี้มักเป็นกับดัก ที่ทำให้ผู้สมัครประกันลืมประเมินความเสี่ยงสุขภาพทางการเงินของตัวเอง จ่ายเบี้ยไม่ไหว จนต้องยกเลิกไปกลางคัน
ปัจจุบันเบี้ยประกันที่เราจ่ายมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยอัตราเงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 7-8% ต่อปี นอกจากนี้ช่วงอายุที่มากขึ้น ยังส่งผลให้ค่าเบี้ยปรับขึ้นอีกด้วย
ดังนั้นก่อนการทำประกัน เราต้องพิจารณาสุขภาพทางการเงินของตัวเอง และเลือกซื้อเบี้ยประกันสุขภาพที่เราจ่ายไหว ซึ่งไม่ควรเกิน 10-15% ของรายได้รวมทั้งปี สิ่งสำคัญที่สุดที่ลืมไม่ได้ คือ ควรรีบซื้อในช่วงที่อายุยังน้อย เนื่องจากค่าเบี้ยจะถูกกว่าช่วงอายุเยอะ เพราะร่างกายยังแข็งแรง โอกาสเกิดโรคน้อยกว่า
4. ครอบคลุมทุกโรค
โดยทั่วไปแล้วประกันสุขภาพจะให้ความคุ้มครองเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ที่สมควรได้รับการรักษาตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลจากโรคร้ายแรงและการติดเชื้อโควิด
แต่ก็มีข้อยกเว้นทั่วไปที่ประกันไม่คุ้มครอง เช่น
- ภาวะที่เป็นผลจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด หรือโรคทางพันธุกรรม
- การตรวจรักษาหรือผ่าตัดเพื่อเสริมสวย
- การตั้งครรภ์ แท้งบุตร การคลอดบุตร โรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ การแก้ปัญหาการมีบุตรยาก
- การตรวจรักษาอาการ หรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิต โรคทางจิตเวช
5. ไม่ต้องสำรองจ่ายทุกกรณี
หลักการของประกันสุขภาพ คือ จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามจริง แต่ไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ โดยส่วนใหญ่ประกันสุขภาพจะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน
แต่ถ้าโรงพยาบาลเป็นคู่สัญญากับบริษัทประกันของเรา ทางโรงพยาบาลจะช่วยดำเนินการส่งเอกสาร แฟกซ์เคลม หรืออีเมล เพื่อเรียกร้องสินไหมให้กับบริษัทโดยตรง เพื่อช่วยบริการให้แก่คนไข้ตอนออก รพ. จึงไม่ต้องสำรองจ่าย ยกเว้นค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากวงเงินความคุ้มครองที่ทำไว้ คนไข้ต้องชำระให้กับทางโรงพยาบาล