
เอกชนชี้ราคาน้ำตาลขึ้นกิโลละ 4 บาท กระทบอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่มยกแผง แต่ยังกัดฟันตรึงราคารักษาต้นทุนเดิมจนกว่าสต๊อกเก่าหมด
วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าจากการที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ออกประกาศเรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงนามโดยนายฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และรักษาราชการแทนเลขาธิการ กอน. ได้กำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่

ส่งผลให้จากเดิมน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 19 บาท เป็นราคา กก.ละ 23 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิม กก.ละ 20 เป็น กก.ละ 24 บาท
ความต้องการของผู้บริโภคโดยตรง 57.7% ที่เหลืออีก 42.3% เป็นความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา
“ราคาน้ำตาลที่ปรับขึ้นยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิต สินค้า เพราะยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในทันที กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ในการจำหน่ายราคาเดิมในสต๊อกเดิมไปก่อน เนื่องจากถือเป็นต้นทุนเก่า จนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยน ส่วนสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ จะดูแลในส่วนของสินค้าควบคุม ให้มีการปรับราคาสะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริงตามสัดส่วน”
แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากมีการปรับขึ้นราคาจริง ก็จะพิจารณาต้นทุนอย่างเหมาะสม และดูต้นทุนตัวอื่น ๆ ประกอบด้วย ซึ่งคาดว่ากลุ่มอาหารสำเร็จรูปที่คาดว่าหากมีการปรับราคาขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนสินค้า คือ ผลไม้กระป้อง น้ำผลไม้และแปรรูป ซอส เป็นต้น
“ผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งแต่ละสินค้าสัดส่วนในการใช้แตกต่างกัน ในส่วนของสินค้าที่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมนั้นจะใช้การขอความร่วมมือในการปรับราคาเท่าที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนเท่านั้น โดยจะมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป”
ทั้งนี้ หากประเมินความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีสัดส่วน 42.3% (ทางอ้อม) อาทิ เครื่องดื่ม สัดส่วน 41.5% ของปริมาณการใช้น้ำตาลทรายทางอ้อมทั้งหมด รองลงมาเป็นอาหาร 28.1% ผลิตภัณฑ์นม 18.8% และอื่น ๆ 11.6% ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละสินค้ามีสัดสัดการใช้น้ำตาลทรายไม่เท่ากันเลย ถ้าใช่น้ำตาลเป็นส่วนผสมมากจะกระทบมากกว่าตัวที่ใช้เป็นส่วนผสมน้อย พิจารณาเรื่องราคาก็จะเป็นไปตามสัดส่วน
ด้านการส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลของโลกปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าน้ำตาลและกากน้ำตาลเป็นอันดับที่ 3 ของโลก เติบโต 93% มีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกคิดเป็น 8% รองจากบราซิล และอินเดีย
เมื่อพิจารณาจากปริมาณน้ำตาลในการส่งออก ปี 2565 ประเทศอันดับต้น ๆ ที่ส่งออกมาก คือ โมซัมบิก บราชิล อินเดีย ฟิจิ โดยไทยส่งออกเป็นอันดับ 5 ของโลก มีปริมาณการส่งออก 7.5 ล้านตัน เติบโต 75% มีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกคิดเป็น 5%
ล่าสุดในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2566 ไทยส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลมูลค่า 100,000 ล้านบาทขยายตัว 12% โดยส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียเติบโต 4% ฟิลิปปินส์เติบโต 157% เกาหลีใต้เติบโต 8% มาเลเซียเติบโต 39% กัมพูชาเติบโต 4%