วิกฤตพะยูนขาดอาหารหนักกินซากหญ้าทะเล ประทังชีวิต ทั้งประเทศเหลือไม่ถึงร้อยตัวแล้ว
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า วันนี้สถานการณ์ประชากรพะยูนในประเทศไทยถือว่าวิกฤตสุดๆ คือ หายไปจากทะเล 2 ใน 3 ของที่เคยมีอยู่ โดยจากเดิม มีอยู่ประมาณ 280 ตัว แต่วันนี้เหลือไม่ถึง 100 ตัว และ 100 ตัว ที่เหลือ 60% สุขภาพไม่สมบูรณ์ คือ ผอม ถึงผอมมาก ร่างกายอ่อนแอ บนลำตัวมีเพรียงเกาะ แสดงถึงการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้า
“นับแต่ผมทำงานด้านทรัพยากรทางทะเลมา 40 ปี พบว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ประชากรพะยูนมีความวิกฤตมากที่สุด ปัจจัยหลักคือ ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หญ้าทะเล ที่เป็นอาหารของพะยูนเสื่อมโทรม และตายไปเกือบหมด พะยูนบางตัวพยายามที่จะหาอาหารกิน โดยเห็นตอของหญ้าทะเลที่เหลือเป็นแง่งอยู่ เขาก็พยายามเอาหัวดุนๆ เพื่อเอาตอต้นหญ้าทะเลมาประทังชีวิต และมีอีกหลายตัวที่ตายไป เพราะไม่ได้กินอาหารเป็นเวลานาน” นายก้องเกียรติกล่าว
นายก้องเกียรติกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ไข และหาทางช่วยเหลือ โดยศึกษาเรื่องอาหารอื่นๆ ที่พะยูนสามารถกินได้ พบว่าผักที่พะยูนกินได้ เป็นจำพวกผักสลัด ผักกาดขาว ผักบุ้ง หญ้าช้องนาง สาหร่ายผมนาง ซึ่งแม้ว่า ตามข่าวที่ผ่านมา พบว่า พะยูนบางตัว ว่ายน้ำเข้ามากินผักกาดขาวบ้าง แต่ก็ไม่ได้กินมากเท่าที่ร่างกายต้องการ คือเห็นว่ากินเพียงเล็กน้อย เหมือนว่าหิวมากจริงๆ ถึงว่ายมากิน โดยตามหลักการแล้ว พะยูนจะต้องกินอาหาร 8-10% ของน้ำหนักตัว เช่น พะยูน หนัก 100 กิโลกรัม ต้องกินอาหารประมาณ 25-30 กิโลกรัม เป็นต้น
นายก้องเกียรติกล่าวว่า สถานการณ์ของหญ้าทะเลเวลานี้ ที่วิกฤตหนักสุดๆ คือ ที่ จ.ตรัง และ จ.พังงา แต่ที่ จ.ภูเก็ต ยังมีแหล่งหญ้าทะเลที่ยังสมบูรณ์อยู่ แต่ก็ไม่มากพอสำหรับพะยูนที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ พะยูนมีสัญชาตญาณเหมือนช้าง ที่จะมีการอพยพที่อยู่เพื่อไปหาแหล่งอาหารแห่งใหม่ แต่ก็มีเรื่องเศร้าตามมาอีกคือ ด้วยความไม่คุ้นชินกับที่อยู่ใหม่ จึงจะตายเพราะถูกเรือชน
เมื่อถามว่า ไม่มีทางแก้ปัญหาเรื่องนี้เลยหรือ นายก้องเกียรติกล่าวว่า มี 4 แนวทาง ที่วางเอาไว้ คือ 1.สำรวจประชากรที่เหลืออยู่ 2.คุ้มครองชีวิตตัวที่ยังอยู่ 3.ช่วยเหลือตัวที่อ่อนแอ และ 4.ฟื้นฟูหญ้าทะเล ซึ่งแต่ละข้อ ไม่ได้ทำง่ายเลย แต่ยังไงก็ต้องทำ เช่น การฟื้นฟูหญ้าทะเล ต้องใช้เวลา 5-10 ปี ส่วนการคุ้มครองและช่วยเหลือตัวที่อ่อนแอ อาจจะต้องจับมาไว้ในทะเลแล้วกั้นเป็นระบบปิด เพื่อให้คอยดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด แต่การไปจับมาอยู่ในระบบปิดก็ต้องทำอย่างระวัง ไม่งั้นอาจจะช็อกตายได้อีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่