ไขข้อสงสัย ทำไม ‘รถส่วนใหญ่บนถนน’ ถึงผลิตแค่สี ‘ขาว-ดำ-เทา-เงิน’


Key Points

  • ในปี 2566 รถอายุ 1-5 ปีในสหรัฐที่ใช้ 4 สีพื้น (ขาว ดำ เทา และเงิน) มีสัดส่วนมากถึง 78.9% ของรถทั้งหมด
  • ข้อมูลรถมือสองของลูกค้าชาวไทยปี 2565 พบว่า รถสีขาวได้รับความนิยมสูงที่สุดที่ 36% ตามด้วยสีเทา 25%, สีดำ 19% และสีเงิน 11% ตามลำดับ
  • สถาบันจักษุวิทยาของสหรัฐ ประเมินว่า สีที่มนุษย์สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีมากถึง 10 ล้านเฉดสี

หลายคนอาจมีคำถามอยู่ในใจว่า ทำไมบรรดารถส่วนใหญ่ที่เห็นทุกวันนี้ ถึงมีเพียง 4 สี ได้แก่ ขาว ดำ เทา และเงิน ไม่ค่อยมีสีบานเย็น สีกาแฟ สีม่วง สีทอง ฯลฯ ให้เลือก จนกลายเป็นคำกล่าวติดตลกว่า “แม้แต่รถยนต์ก็มีเครื่องแบบเหมือนกัน”

จากข้อมูลผลสำรวจของ iSeeCars เว็บเสิร์ชเอนจินด้านรถยนต์ ระบุว่า ในปี 2566 รถอายุ 1-5 ปีในสหรัฐที่ใช้ 4 สีพื้น (ขาว ดำ เทา และเงิน) มีสัดส่วนมากถึง 78.9% ของรถทั้งหมด โดยสีรถยอดนิยมทั้งหมดในสหรัฐเรียงจากมากไปน้อย มีดังต่อไปนี้

1. รถสีขาว มีสัดส่วนมากที่สุดที่ 26.2%

2. รถสีดำ 21.8%

3. รถสีเทา 19.2%

4. รถสีเงิน 11.7%

5. รถสีฟ้า 9.7%

6. รถสีแดง 8.2%

7. รถสีเขียว 1%

8. รถสีน้ำตาล 0.8%

9. รถสีส้ม 0.6%

10. รถสีน้ำตาลอ่อน 0.4%

11. รถสีม่วง 0.2%

12. รถสีทอง 0.2%

13. รถสีเหลือง 0.1%

คาร์ล โบรเออร์ (Karl Brauer) นักวิเคราะห์แห่ง iSeeCars ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ขณะที่สีขาว สีดำ สีเทาและสีเงิน เป็นสีส่วนใหญ่ของรถที่ใช้กันทั่วไป แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ รถที่ใช้สีเงินมีสัดส่วนมากกว่าสีฟ้าเพียง 2%

  • คนไทยนิยมรถ “สีขาว” สูงถึง 36%

ขณะที่ CARSOME แพลตฟอร์มซื้อขายรถมือสองออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยข้อมูลการซื้อรถยนต์มือสองของลูกค้าชาวไทยในปี 2565 พบว่า รถสีขาวได้รับความนิยมสูงที่สุด โดยมียอดการซื้อและขายมากที่สุดคิดเป็น 36% ของรถยนต์ที่ CARSOME จำหน่ายทั้งหมด ตามด้วยสีเทา 25%, สีดำ 19%, สีเงิน 11% และสีแดง 9% ตามลำดับ

คำถาม คือ ทำไมรถยนต์ส่วนใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศถึงผลิตเพียง 4 สี ขาว ดำ เทา และเงิน พบว่ามี 2 สาเหตุ ดังนี้

  • 1. ลดต้นทุนการผลิต

ขาว ดำ เทา และเงิน ถือเป็น 4 สีพื้นที่ขายดีอยู่แล้ว และมีเฉดที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้นการเตรียมทั้ง 4 สีนี้ในปริมาณมาก จึงช่วยลดต้นทุนสีและไม่ต้องกังวลว่าจะขายไม่ออก

ขณะที่การเตรียมสีอื่น ๆ อย่างสีส้ม สีเขียวนีออน ฯลฯ ซึ่งมีผู้สนใจเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เป็นวงกว้างเท่า 4 สีพื้นฐานข้างต้น ย่อมทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า

ยิ่งถ้าความต้องการจริงน้อยกว่าที่คาดการณ์แล้ว รถสีใหม่ก็อาจประสบปัญหาค้างสต็อก ทั้งยังต้องผ่านการทดสอบการติดทนนานและการเข้ากันระหว่างสีใหม่กับรถ กลายเป็นเพิ่มต้นทุนและระยะเวลาในการผลิต

ทุกวันนี้ ความรวดเร็วในการส่งมอบและราคาขาย กลายเป็น “กุญแจสำคัญ” ในการชิงส่วนแบ่งการตลาด ทั้ง 4 สีนี้จึงตอบโจทย์กระบวนการการผลิตรถจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

  • 2. ทนทานต่อรอยขีดข่วน

ปกติแล้ว การขับรถย่อมมีโอกาสที่จะขับเฉี่ยวชนรถคันอื่นหรือขูดกับของแข็งต่าง ๆ ลองนึกถึงรถสีชมพูที่วิ่งขูดกับเสามาจนสีถลอก การจะหาสีชมพูเฉดเดิมมาพ่นทับนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยาก เพราะแม้เพียงสีชมพูเดียวก็มีจำนวนเฉดมากมายตามซีเรียลนัมเบอร์ โดยสถาบันจักษุวิทยาของสหรัฐ ประเมินว่า สีที่มนุษย์สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีมากถึง 10 ล้านเฉดสี

ขณะที่ 4 สีพื้นฐานนี้เป็นสีทั่วไปที่หาได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้สีจากค่ายรถ ก็สามารถหาจากแหล่งอื่นแทนได้

นอกจากนี้ สีขาวเป็นสีที่กลมกลืนกับรอยขนแมวได้ง่าย ส่วน 3 สีที่เหลือ ค่อนข้างใกล้เคียงกับสีสิ่งสกปรกในธรรมชาติ เช่น ฝุ่นและดินต่าง ๆ มากกว่าสีอื่น ๆ อย่างม่วง สีชมพู ฯลฯ ที่จะโดดเด่นและตัดกับสีสิ่งสกปรกอย่างชัดเจน

สาเหตุเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมรถส่วนใหญ่ถึงใช้ 4 สีหลักนี้ และในปัจจุบัน เหล่าค่ายรถมีการใส่ลูกเล่นพิเศษเข้าไปเสริม เช่น เกล็ดโลหะ ผงแร่ไมกา (Mica) หรือผลึกแก้ว เพื่อทำให้สีพื้นทั้ง 4 ดูมีมิติ มีระดับ และล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง: iseecars, carsome, aao, cnbc, wiki


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *