รายงานจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระดับโลกระบุว่า มีความเสี่ยงที่ผู้คนจำนวนมากจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วน จึงจำเป็นต้องมีคำจำกัดความที่ “ถูกต้องแม่นยำกว่า” และ “มีรายละเอียดยิ่งกว่า”
แพทย์ควรพิจารณาถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยที่มีไขมันส่วนเกิน แทนที่จะวัดเฉพาะดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เท่านั้น
ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากน้ำหนักตัวควรได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคอ้วนทางคลินิก” (clinical obesity) แต่ผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพควรได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคอ้วนก่อนการวินิจฉัยทางคลินิก” (pre-clinical obesity)
มีการประเมินว่า ผู้คนมากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกเป็นโรคอ้วน ทำให้ยาลดน้ำหนักที่ต้องสั่งโดยแพทย์มีความต้องการสูง
รายงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Diabetes & Endocrinology ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มากกว่า 50 รายทั่วโลก
การสร้างกรอบใหม่
“โรคอ้วนมีหลายระดับ” ศาสตราจารย์ฟรานเซสโก รูบิโน จากคิงส์คอลเลจลอนดอน ประธานกลุ่มแพทย์ดังกล่าว ระบุ
“บางคนเป็นโรคนี้และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ร่างกายยังทำงานได้ตามปกติ บางคนเดินหรือหายใจได้ไม่ดี หรือต้องนั่งรถเข็นและมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง”
รายงานดังกล่าวเสนอข้อเรียกร้องให้มีการ “ปรับกรอบใหม่” ของคำนิยามของโรคอ้วน เพื่อแยกแยะระหว่างผู้ป่วยที่มีโรคกับผู้ที่ยังคงมีสุขภาพดี แต่มีความเสี่ยงต่อโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ปัจจุบัน หลายประเทศกำหนดให้ผู้มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index – BMI) มากกว่า 30 เป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นการวัดค่าไขมันในร่างกายโดยพิจารณาจากส่วนสูงและน้ำหนัก
การเข้าถึงยาสำหรับลดน้ำหนัก เช่น Wegovy และ Mounjaro มักจำกัดเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มนี้เท่านั้น
ในหลายพื้นที่ของสหราชอาณาจักร ระบบบริหารสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ยังกำหนดให้ผู้ป่วยต้องมีภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักด้วย
แต่รายงานนี้ระบุว่า ค่า BMI ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และไม่สามารถแยกแยะระหว่างกล้ามเนื้อและไขมันในร่างกาย หรืออธิบายไขมันที่อันตรายกว่าบริเวณเอวและอวัยวะต่าง ๆ ได้
ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้มีรูปแบบใหม่ที่พิจารณาสัญญาณของโรคอ้วนที่ส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น โรคหัวใจ หายใจลำบาก เบาหวานชนิดที่ 2 หรืออาการปวดข้อ และอาการอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งบ่งชี้ว่า โรคอ้วนได้กลายเป็นโรคทางคลินิกและจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มี “โรคอ้วนก่อนแสดงอาการทางคลินิก” ควรได้รับคำแนะนำในการลดน้ำหนัก การให้คำปรึกษา และการติดตามผลแทนการใช้ยาและการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสที่อาจเกิดปัญหาสุขภาพ และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเช่นกัน
การรักษาที่ไม่จำเป็น
ศาสตราจารย์รูบิโนกล่าวว่า “โรคอ้วนถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่สำหรับบางคน นี่คือโรคอย่างหนึ่งด้วย”
เขาเสริมว่า การให้นิยามโรคอ้วนใหม่เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล และการทำความเข้าใจระดับความเสี่ยงในประชากรจำนวนมาก แทนที่จะมอง “ภาพโรคอ้วนอย่างไม่ชัดเจน” อย่างในปัจจุบันเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล
รายงานระบุว่า การวัดอัตราส่วนสูงหรือการวัดไขมันโดยตรง ร่วมกับประวัติการรักษาโดยละเอียด จะช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนกว่าดัชนีมวลกาย (BMI) มาก
ศาสตราจารย์หลุยส์ บาวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอ้วนในเด็ก จากมหาวิทยาลัยนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า แนวทางใหม่นี้จะช่วยให้ผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรคอ้วน “ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น” ขณะเดียวกันก็ลดจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเกินจริงและการรักษาที่ไม่จำเป็นลง
รายงานฉบับนี้ระบุว่า มีช่วงหนึ่งพบว่า มีการสั่งจ่ายยาลดน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 20% “การปรับกรอบนิยามใหม่” ของโรคอ้วน “มีความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น” เพราะจะ “ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย” มากขึ้น
เงินทุนจำกัด
ราชวิทยาลัยแพทย์ระบุว่า รายงานดังกล่าวได้วางรากฐานที่มั่นคง “สำหรับการรักษาโรคอ้วนด้วยความเข้มงวดทางการแพทย์และความเข้าอกเข้าใจเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ”
การแยกแยะระหว่างโรคอ้วนก่อนแสดงอาการทางคลินิกและโรคอ้วนในทางคลินิกถือเป็น “ย่างก้าวที่สำคัญต่ออนาคต” และ “เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการระบุและเข้ายับยั้งอาการของโรคในระยะเริ่มต้น” โดยให้การดูแลที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย
ทว่ามีข้อกังวลว่าอาจทำให้งบประมาณน้อยลงสำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มภาวะ “น้ำหนักเกิน” (pre-obese)
ศาสตราจารย์เซอร์ จิม แมนน์ ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์วิจัยโรคเบาหวานและโรคอ้วน ในโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า จุดเน้นหนักน่าจะอยู่ที่ “ความต้องการของผู้ที่ถูกกำหนดให้เป็นโรคอ้วนทางคลินิก” และมีความเป็นไปได้สูงที่เงินทุนและงบประมาณอันมีจำกัดจะมุ่งเป้าไปที่คนเหล่านั้น