วัดวาอารามต่าง ๆ ในจังหวัดอยุธยา กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง จากกระแสดังอย่างต่อเนื่องของละครเรื่อง “พรหมลิขิต” และหนึ่งในวัดที่เป็นสถานที่ถ่ายทำ และได้รับความสนใจก็คือ “วัดย่านอ่างทอง“
วัดแห่งนี้ เป็นวัดราษฎร์สังกัด คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ในตำบลบ้านใหญ่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่เดิมชื่อ วัดจุฬาโลก ตั้งวัดเมื่อปี 2367 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี 2370
เชื่อกันว่า วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่รัชกาลที่ 3–6 ได้เสด็จประพาสทางชลมารคมาที่วัดย่านอ่างทอง
ที่มาของชื่อวัดเล่าว่า มอญทำหม้อใส่เรือมาขายได้เห็นอ่างทองคำใบใหญ่ลอยน้ำมา และจมลง เลยเรียกคุ้งน้ำนี้ว่า “ย่านอ่างทอง” และทำให้มีการเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดย่านอ่างทอง
สิ่งก่อสร้างที่น่าเที่ยวชมในวัดแห่งนี้ รวมถึง วิหารจตุรมุข อุโบสถ และพิพิธภัณฑ์ของวัด โดยในส่วนของวิหารจตุรมุขนั้น มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตเจ้านายในวังหน้า ได้ส่งช่างหลวง พร้อมกับอุปกรณ์มาจัดสร้างวิหารในรูปแบบคล้าย ๆ ปราสาท 4 ทิศมีประตู 4 ด้าน และยอดพระปรางค์ส่วนจั่วซ้อน ๆ ทับกัน 3 ชั้น ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปหล่อด้วยทองผสมผสานสำริดศิลปะสุโขทัยทั้ง 4 ทิศ
ส่วนอุโบสของวัด มีจุดเด่นอยู่ที่การล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อพรหมโลก” พระประธานปางมารวิชัย หล่อด้วยทองผสมผสานสำริดศิลปะแบบสุโขทัย หรือแบบเมืองเหนือ ลงรักปิดทองทั้งองค์
ฐานชุกชีของหลวงพ่อพรหมโลกนั้น มีปูนปั้นประดับอย่างละเอียดงดงามทุกส่วน ประดับกระจกสี และปิดทอง พระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นโดยใช้รูปแบบของหอพระนาคในวัดพระแก้ว แต่ไม่ทำเฉลียงข้าง
หน้าบันของพระอุโบสถมีลายปูนปั้นรูปเทพพนม แวดล้อมไปด้วยลวดลายพรรณพฤกษา ถัดลงมาด้านล่างมีปูนปั้นเป็นรูปพระวิษณุ 4 กร ขนาบด้วยเทวดา 2 องค์ทั้งซ้ายขวา บานประตูไม้ด้านในของพระอุโบสถ มีลายเขียนสีเป็นรูปยักษ์ และเทวดางดงามมาก แต่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันลวดลายนั้นเลือนหาย หลุดร่อนไปมากแล้ว
สำหรับพิพิธภัณฑ์ ในศาลาการเปรียญของวัด จัดแสดงสิ่งของโบราณ ที่เชื่อกันว่าเจ้านายวังหน้านำมาถวายวัดย่านอ่างทอง คือ
- องค์พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ
- เครื่องลายคราม หรือเครื่องเบญจรงค์
- บัลลังก์ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายในวังหน้า
- พระพุทธรูปปางต่าง ๆ มีให้ได้ศึกษาข้อมูลเรื่องศิลปะว่าสมัยใด
- ภาพวาดศิลปะจีน
- ภาพพระพุทธประวัติ และพระพุทธชาดก ที่วาดบนไม้สัก
อ่านข่าวเพิ่มเติม
SHARE
FOLLOW US