รู้หรือไม่ พระยาราชนุกูล(ทองคำ) ตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไทย | TeeNee.com


รู้หรือไม่ พระยาราชนุกูล(ทองคำ) ตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไทย

เดินทางมาถึง EP.7 กันแล้ว สำหรับละคร พรหมลิขิต และวันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักอีกหนึ่งตัวละครสำคัญนั่นก็คือ พระยาราชนุกูล(ทองคำ) รับบทโดยนักแสดงหนุ่ม เพ็ชร ฐกฤต เชื่อว่าหลายคนอาจไม่รู้นี่คืออีกตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไทย ต้นตระกูลของรัชกาลที่1แห่งราชวงศ์จักรี

เกร็ดประวัติศาสตร์จากละคร
พวกออเจ้าทราบไว้ด้วยหนา ว่า หมื่นมหาสนิท ผู้นี้ มีนามว่า ทองคำ เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) ซึ่งขุนทอง เป็นบุตรชายออกญาโกษาธิบดี(ปาน) หรือ ที่เรารู้จักคือโกษาปาน นั่นแหละ ซึ่งทองคำ มีศักดิ์เป็น หลานปู่โกษาปาน เชียวหนา
ต่อมา พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โปรดให้ หมื่นมหาสนิท(ทองคำ) ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรัง เพื่อคอยกะเกณฑ์สิ่งของและทำราชการ ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการเสด็จประพาสล้อมช้างป่า และเมืองอุทัยธานีเป็นหัวเมืองด่านที่อุดมสมบูรณ์ด้วย ข้าว ช้างป่า มูลค้างคาว ไม้ ผลกระวาน เป็นต้น สำหรับใช้ในกองทัพ และเป็นยุทธปัจจัยในภายหน้า
ต่อมา พระเจ้าอยหัวท้ายสระ โปรดฯให้เลื่อนยศ หมื่นมหาสนิท (ทองคำ)เป็น พระยาราชนกูล บางแห่งเขียน พระยาราชนิกูล และ ย้ายครอบครัวจาก อุทัยธานี มาตั้งอยู่ กรุงศรีอยุธยาแถวๆวัดสุวรรณดาราราม

พระยาราชนิกูล(ทองคำ)มีบุตรชาย ชื่อ ทองดี รับราชการในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เลื่อนเป็น หลวงพินิจอักษร ซึ่งหลวงพินิจอักษร ได้แต่งงานกับหลานสาวเจ้าพระยาอภัยราชา (เจ้าคุณประตูจีน) สมุหนายก นามว่า “ดาวเรือง” หรือ บางแห่งก็ เรียกว่าหยก ต่อมา หลวงพินิจอักษรได้เลื่อนเป็น พระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย มีหน้าที่ร่างพระราชสาสน์ตราต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ และรักษาพระราชลัญจกรอันเป็นตราประจำแผ่นดิน

พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) กับ คุณหยก มีบุตรชาย ชื่อ ทองด้วง เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้ไปรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่ง “หลวงยกกระบัตร” ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ และได้สมรสกับคุณนาค ซึ่งต่อมาหลวงยกกระบัตรราชบุรี ก็ คือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 นั้นเอง
ดังนั้นพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ท่านเป็นพระบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ท่านจึงมีศักดิ์เป็นพระอัยกา(ปู่)ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์…

เครดิตแหล่งข้อมูล : FB ปัณณพัทธิ์ คำนึง


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *