คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี [email protected]”
“พี่หมอครับพี่ช่วยแก้ปัญหาให้เก่งหน่อย” “ปัญหาอะไรของเอ็ง เจอหน้าก็เอาปัญหามาโยนให้เลยนะ” พี่หมอเอือมระอากับใบหน้าอมทุกข์ของเจ้าเก่ง “ไม่ใช่ปัญหาของผมหรอกครับ ปัญหาของเฮียน่ะ” “อ้าว เฮียมรปัญหาอะไรล่ะ? แล้วเอ็งไปเสือกอะไรด้วย” พี่หมอฉงน “ก็เฮียเขาหาโทรศัพท์ไม่เจอ สงสัยลืมไว้ที่บ้าน หงุดหงิดลมเสีย จนเข้าหน้าไม่ติดทั้งผมทั้งน้องมายด์คนสวยของแกด้วย” “ก็เอ็งเอาโทรศัพท์ให้แกยืมสิ” พี่หมอแนะส่ง “ไม่ได้หรอกครับ ความลับเยอะของผมน่ะ ห้ามใครยืมเลยพี่หมอยิ้มเหมือนเดาคำตอบถูก “งั้นเอ็งรีบขับรถกลับไปเอามาเลยอย่าช้า” “เอางั้นเหรอพี่ 20 กว่ากิโลนะ” “เออเชื่อสิ หรือเอ็งมีเงินจ่ายแทนล่ะ….กระเป๋าตังค์แกอยู่ในนั้น แกไม่พกเงินสดหรอก” “อ๋อ!เข้าใจละ ไปเดี๋ยวนี้แหละครับ ฝากบอกเฮียด้วย จะได้หายลมเสีย”
ลองนึกดูว่า ในแต่ละวันเราทำกิจวัตรอะไรบ้าง? ตั้งแต่ตื่นนอนมาใครที่รีบคว้า โทรศัพท์มาเช็คไลน์ทันที หรือโทรศัพท์ยังคาอยู่ในมือขณะหลับไป และตลอดทั้งวันก็จดจ่ออยู่กับการรับ-ส่งข้อความต่างๆ อ่านและแชร์กันทั้งวันแม้แต่ตอนกินข้าว ซึ่งนี่เป็นอาการเสพติดสมาร์ทโฟนอย่างหนัก ยิ่งหากวันไหนมีเหตุให้ต้องงดเล่นโทรศัพท์ขึ้นมา ก็จะมีอาการกังวลใจเกินกว่าเหตุ ยิ่งกว่าลมกระเป๋าสตางค์เสียอีก เราเรียกโรคนี้ว่า “โนโมโฟเบีย” ซึ่งมาจาก “โนโมบายโฟนโฟเบีย” นั่นเอง
แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดี กรมสุขภาพจิตบอกว่า นั่นไม่ใช่โรคแต่เป็นกลุ่มอาการมาจากการที่โทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความกังวลใจว่าถ้าไม่มีโทรศัพท์แล้วจะทำอย่างไร? เพราะมันเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสาร มีการตอบสนองได้รวดเร็ว เหมาะแก่การใช้ในการส่งความรู้สึก ใช้เพื่อความเพลิดเพลิน ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อผ่อนคลาย ใช้หาความรู้ ใช้ซื้อของ สั่งอาหาร ถ่ายรูป เบิก-จ่ายเงิน สร้างตัวตน และทำอาชีพ ล้วนแต่เป็นความสามารถของเจ้าโทรศัพท์นี้ จนเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้เสียแล้ว
พฤติกรรมที่เข้าข่ายกลุ่มอาการโมโนโฟเบีย คือ พกโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลา ต้องคอยคลำกระเป๋ากางเกงตลอดเวลาว่ามีโทรศัพท์อยู่ข้างตัวหรือไม่? หมกมุ่นอยู่กับการเช็คข้อความในโทรศัพท์ตลอดเวลา ผวาเมื่อได้ยินเสียงคล้ายๆเสียงเรียกข้อความเข้า ถ้าไม่ได้ตรวจโทรศัพท์ก็จะมีอาการกระวนกระวายใจ ไม่สามารถตั้งใจทำงานหรือปฏิบัติภารกิจ ที่อยู่ตรงหน้าได้สำเร็จเรียกว่าหมดสมาธิในการทำงาน
หากใครลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน ชั่วโมงแรกที่รู้ตัวว่าลืมจะรู้สึกมีความกังวลใจมาก หรือรู้สึกตื่นตระหนกใจมาก เวลาโทรศัพท์หายหาไม่เจอ ไม่เคยปิดโทรศัพท์เลย ใช้เวลาในการพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่นั่งอยู่ตรงหน้า ลองเช็คตัวเองดูถ้าใครมีอาการเหล่านี้แสดงว่ามีอาการของโรคดังกล่าว เพราะความเป็นจริง การไม่มีโทรศัพท์มือถือแค่หนึ่งวันมันไม่ได้สร้างปัญหาอะไรมากมายขนาดนั้น ซึ่งจริงๆแล้วเชื่อว่าทุกคนยังใช้ชีวิตได้ทั้งวันโดยไม่มีมือถือ แต่อาการกังวลใจของแต่ละคนใช่ว่าจะเท่ากันทุกคน บางคนกลับรู้สึกเฉยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ใช้ชีวิตได้ตามปกติทั้งวัน แค่กังวลใจในชั่วโมงแรก แต่บางคนแค่เวลาไปอยุ่ในที่อับสัญญาณก็วุ่นวายใจมากถึงขั้น หงุดหงิดฉุนเฉียวโวยวายจนทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่ไปด้วย
EP.หน้าเราจะคุยกันถึงผลเสียต่อสุขภาพ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตนเอง