CPALL กวาดกำไร 4.4 พันล้าน โตทะลุ 20% อาหาร-เครื่องดื่ม ขายดี ทุ่ม 1.3 หมื่นล้าน ขยายสาขาต่อเนื่อง


บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น CPALL รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/66 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าบริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จำนวน 10,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน บริษัทฯ มีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง 288 ล้านบาท จากการออกหุ้นกู้เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมก่อนกำหนดของ บมจ. ซีพี แอ็กซ์ตร้า เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงในการบริหารค่าใช้จ่ายทางการเงิน ส่งผลให้มีกำไรสุทธิเท่ากับ 4,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับกำไรต่อหุ้นตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/66 มีจำนวนเท่ากับ 0.48 บาท 

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีรายได้รวม 226,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 6.0 โดยมีสาเหตุมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายและบริการของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจสนับสนุนอื่นที่มีการเติบโตของรายได้จากการขายและบริการดีขึ้นเช่นกัน ตามการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้กลยุทธ์การตลาดและ O2O ของแต่ละหน่วยธุรกิจเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในช่วงฤดูฝนนี้อีกด้วย

ในไตรมาส 3 ปี 2566 สัดส่วนของรายได้จากการขาย ร้อยละ 75.4 มาจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และร้อยละ 24.6 มาจากสินค้าอุปโภค ซึ่งสัดส่วนรายได้ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค รวมทั้งมีการออกสินค้าใหม่ควบคู่กับโปรโมชั่นของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสามารถดึงดูดลูกค้าได้เพิ่มขึ้น

ส่วนผลการดำเนินงานงวดเก้าเดือนแรกปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมจำนวน 680,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กำไรสุทธิมีจำนวน 12,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรต่อหุ้นตามงบการเงินรวม มีจำนวน 1.41 บาท จากผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อเป็นหลัก ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

สำหรับคาดการณ์และแนวโน้มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ในปี 2566 บริษัทฯวางแผนที่จะพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายร้านสาขาต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แหล่งท่องเที่ยว และทำเลที่มีศักยภาพอื่นๆ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และอำนวยความสะดวกและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยบริษัทวางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่ในประเทศไทยอีกประมาณ 700 สาขาในปี 2566 และมีเป้าหมายที่จะเปิดร้านสาขาในประเทศกัมพูชาให้ครบ 100 สาขา รวมถึงเปิดสาขาแรกใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 2566

ขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตของรายได้ ส่วนใหญ่มาจากอัตราการเติบโตของยอดขายจากร้านสาขาใหม่ และอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยจากร้านเดิม รวมถึง

ยอดขายจากช่องทางอื่นๆ อาทิ 7-Delivery, All Online และ Vending Machine ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ ระดับของอัตราเงินเฟ้อราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,900-3,500 ล้านบาท โครงการใหม่บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท และลงทุนสินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *