สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ตอนที่ต้าไป่แมวสุดที่รักของหาน เจียลี่ถูกพาตัวไปจากบ้านในเซี่ยงไฮ้เมื่อปีก่อน เธอตามหาสัตว์เลี้ยงอย่างสุดตัวจนขุดรากขบวนการค้าเนื้อแมวใต้ดินของจีน
ตามข้อมูลขององค์กรพิทักษ์สัตว์ “สมาคมมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” ประชาชนส่วนใหญ่ในจีนไม่รับประทานเนื้อแมว แต่ประเมินว่าแต่ละปีเจ้าเหมียวถูกฆ่าในตลาดมืดนำไปทำอาหารราว 4 ล้านตัวซึ่งรวมถึงหลายพื้นที่ของมณฑลกวางตุ้ง, กว่างซี และที่ไกลออกไป
หานผู้ใช้เงินหลายพันดอลลาร์ และเวลาหลายสัปดาห์ติดตามผู้ค้าเนื้อแมวทั่วประเทศจีน ได้เปิดโปงห่วงโซ่อุปทานไล่ล่าหมาแมวจร และแมวเลี้ยงนอกบ้านในพื้นที่รอบๆ เซี่ยงไฮ้
ภารกิจตามหาต้าไป่นำเธอไปพบโรงงานแปรรูปสกปรกหลายแห่งในกวางตุ้ง เจอลังซากแมวถูกถลกหนัง และกล่องขนแมว ทั้งยังเห็นร้านอาหารในหมู่บ้านโฆษณาขายเนื้อแมวอย่างเปิดเผย รวมถึงผู้ขายไร้ยางอายที่อ้างว่าเป็นเนื้อแกะหรือเนื้อกระต่าย
“ตอนนั้นฉันต้องยอมรับว่า แมวของฉันไปแล้ว เธอถูกกิน” หานกล่าวกับเอเอฟพีอย่างสะเทือนใจ
ถึงตอนนี้หานมุ่งมั่นพิทักษ์แมวตัวอื่นๆ ไม่ให้ประสบชะตากรรมเดียวกัน และใช้เวลาในปีที่ผ่านมาแจ้งตำรวจ ตามรอยโจร รวบรวมรายชื่อร้องเรียนต่อรัฐบาลกวางตุ้ง
นี่คือ ภารกิจอันตรายทำให้เธอถูกพ่อค้าเนื้อแมวขู่ฆ่าหลายครั้ง เดือนธ.ค.ปีก่อนชายคนหนึ่งจงใจขับรถชนรถเธอ ณ จุดพักรถริมทางหลวง
“ฉันกลัวมาก เคยคิดจะวางมือแล้วทำเป็นว่าไม่เคยเห็นเรื่องพวกนี้มาก่อน แต่ถ้าฉันถอนตัวแล้วเงียบใครล่ะจะช่วยปกป้อง (แมว) จากสถานการณ์ระทมทุกข์นี้”
อุตสาหกรรมใต้ดิน
หาน วัย 33 ปี เป็นหนึ่งในคนกลุ่มเล็กๆ ในจีน ที่มุ่งมั่นต่อสู้กับการทำร้ายหมาแมวโดยไม่มีสถาบันใหญ่มาคอยปกป้องสัตว์เลี้ยง
ทั้งนี้ การจับสัตว์เลี้ยงที่ปล่อยให้เดินอิสระในจีนไม่ถือเป็นการลักขโมย และแม้กฎหมายห้ามบริโภคเนื้อแมว แต่ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับในฐานความผิดความปลอดภัยทางอาหารแทนที่จะโดนลงโทษเพราะทำร้ายสัตว์
นักเคลื่อนไหวและแม้แต่นักวิเคราะห์ในสื่อรัฐต่างเรียกร้องมากขึ้นทุกขณะให้ออกกฎหมายว่าด้วยความรุนแรงต่อสัตว์เพื่อปิดช่องโหว่จากกฎหมายสัตว์ป่าและปศุสัตว์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับหาน “ฉันเป็นแค่คนธรรมดา ความสามารถของฉันมีจำกัด”
เดือนก่อนหาน และผู้ช่วยชีวิตสัตว์รายอื่นๆ ด้วยความช่วยเหลือของตำรวจท้องที่สกัดรถบรรทุกคันหนึ่งขนแมวหลายร้อยตัวออกจากเมืองจางเจียกังใกล้เซี่ยงไฮ้ได้
“พวกเขากำลังเก็บแมวติดกับดักในสุสาน ดูท่าแล้วพวกเรารู้ทันทีว่าแมวจะถูกนำไปขาย”
หาน และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ไม่หลับไม่นอนทั้งคืนเดินตรวจสุสานก่อนที่รถบรรทุกคันหนึ่งมาถึงในตอนเช้า เพื่อเก็บลังไม้ไผ่เล็กๆ หลายสิบลังมีแมวประมาณ 800 ตัว
ตำรวจและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือสัตว์หยุดรถคันนั้นไว้ได้ แมวถูกนำไปยังศูนย์พักพิงในเมืองไท่ซาง ห่างจากเซี่ยงไฮ้หนึ่งชั่วโมง
เกาะแมว
แมวถูกนำมาเลี้ยงในบ้านพักหมาแมวเหมิ่งไท่ฉี ตั้งอยู่บริเวณริมบึงยอดนิยมของนักตกปลาโดยมีครอบครัวหนึ่งเป็นผู้ดูแล
กู่ หมิง อดีตเภสัชกร วัย 45 ปี อาศัยอยู่ในศูนย์นี้กับภรรยา เขาเล่าว่าแมวหลายตัวที่ช่วยมาได้จากเมืองจางจี้กังแขนขาบิดเบี้ยวเพราะถูกแมวหลายร้อยตัวบดทับกันมา ที่ตายไปก็หลายสิบตัวจากบาดแผล และการติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่แมวแออัด
เมื่อแมวมาถึง อาสาสมัครในศูนย์พักพิงแยกสัตว์ป่วยมาอยู่ในกรงกักกันโรคที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ แล้วเรียกสัตวแพทย์มาฉีดวัคซีนและทำหมัน
หลังจากรักษา และแยกตัวหลายสัปดาห์ สุดท้ายแมวชุดแรกก็ถูกย้ายไปอยู่ในกรงกลางแจ้งที่กว้างขึ้น มีต้นไม้เตียง และผ้าห่มวางเรียงเป็นแนว
กู่ใช้เงินตนเองดูแลศูนย์พักพิงแห่งนี้ รับเฉพาะการบริจาคที่ไม่ใช่เงินเท่านั้น เช่น อุปกรณ์และอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการระดมทุนในจีน
เขาเล็งย้ายแมวทั้งหมดไปยังเกาะเล็กๆ ใกล้วัดในท้องถิ่น ที่ตอนนี้มีกระท่อมน้อยๆ อยู่ประปราย เป็นที่อยู่ของแมวจำนวนหนึ่งที่ศูนย์พักพิงเคยช่วยมาก่อน
เดือนนี้กู่ข้ามสะพานเข้าไปยังเกาะซึ่งเจ้าสี่ขาออกมาทักทายเป็นอย่างดี ช่วงเที่ยงวันพวกมันนอนบนหญ้าหลับใต้ต้นไม้ การดำรงอยู่อันงดงามแตกต่างจากกรงแออัดในรถบรรทุกอย่างสิ้นเชิง
กู่เล่าว่า เขาเดินหน้าเพราะคนรักสัตว์ยื่นความช่วยเหลือมาให้หลังเห็นข่าวแมวที่จางเจียกัง กระนั้น “เราต้องผลักดันให้มีกฎหมายระดับชาติ เพราะอาศัยแค่บุคคลหรือกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่กลุ่มไม่มีทางทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้” กู่สรุปถึงวิธีการช่วยแมวอย่างยั่งยืน
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์