โครงการ ‘Hope Blood and Love’Solo Performance Italian Tour 2023 (ความหวัง โลหิต และความรัก) โดย วรรณศักดิ์ ศิริหล้า


วันพุธ ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566, 13.59 น.

 เนื่องด้วย คณะทำงาน “ตามรอยกาลิเลโอ คินี” ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร และ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการจัด ได้รับเกียรติอย่างสูงจากพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา Museo di Antropologia e Etnologia เมืองฟลอเรนซ์,เทศบาลเมือง Camaiore และ เทศบาลเมือง Montecatini Terme ให้นำโครงการ ”Hope Blood and Love” Solo Performance Italian Tour 2023 (ความหวัง โลหิต และความรัก) ไปแสดงที่ประเทศอิตาลี ในเดือนกันยายนนี้ในวาระ 150 ปีชาตกาลของ กาลิเลโอ คินี ศิลปินชาวอิตาลี (2 ธันวาคม 2416 – 23 สิงหาคม 2499) ผู้รังสรรค์ภาพวาดบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม และเป็นผู้ออกแบบฉากละคร Turandot ของ จิอาโกโม ปุชชินี (22 ธันวาคม 2401 – 29 พฤศจิกายน 2467) ซึ่ง โครงการ ”Hope Blood and Love” เป็นผลงานของวรรณศักดิ์ ศิริหล้า (กั๊ก) ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2563 ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอุปรากร Turandot ของ จิอาโกโม ปุชชินี และได้นำมาสร้างเป็นการแสดงเดี่ยว โดยการตีความใหม่ ร่วมกับ ผศ.ดร.ภัธทรา โต๊ะบุรินทร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรประกอบกับการฉายภาพจิตกรรมของกาลิเลโอ คินี เมื่อครั้งที่มาทำงานที่สยามเป็นฉากหลัง ซึ่ง “แรงบันดาลใจนี้ทำให้เกิด “Cini And Turandot: An Interpretation Across Time”ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการแสดงในประเทศไทยมาแล้วถึง 19 ครั้งดังต่อไปนี้

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จำนวน 2 รอบ (12 -13 พฤศจิกายน 2565)

หอศิลปะร่วมสมัยราชดำเนิน จำนวน 5 รอบ (25 – 27 พฤศจิกายน 2565)  

โรงละครทรงพล คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 3 รอบ (2 – 3 ธันวาคม 2565)

โรงละครทรงพล คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดแสดงเป็นกรณีศึกษาในการจัดเสวนาประเด็น “ละครเวทีและศิลปิน LGBTQ+ ในโลกของศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” โดยคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฏร (23 มกราคม 2566)

การแสดงกลางแจ้ง ณ สถานที่ที่เคยเป็นบ้านเดิมของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และกาลิเลโอ คินี เคยอาศัยอยู่เมื่อครั้งมาทำงานที่สยาม ( 2 เมษายน 2566)

โรงละครห้างลี การ์เด้นส์ พลาซ่า ชั้น 2 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 5 รอบ (7-9 กรกฏาคม 2566)

โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา จำนวน 2 รอบ (20-21 กรกฎาคม 2566)

คณะทำงาน ทำการศึกษา Turandot และค้นพบว่าเรื่องราวนี้เปรียบเสมือนการจัดสรรวัฒนธรรมที่หลากหลายผ่านมิติต่างๆ ในท้ายที่สุดเราก็เลือกที่จะเล่าเรื่องราวนี้จากมุมมองของผู้หญิง โลกาภิวัตน์และบทบาททางเพศได้เปลี่ยนวิธีที่เราตีความประวัติศาสตร์และศิลปะ ในปี 2023 Turandot อาจโดนใจผู้ชมยุคใหม่แตกต่างกันไป และนำเสนอบทเรียน แนวคิด และโอกาสในการอภิปรายประเด็นใหม่ๆ บางทีพลังของผลงานชิ้นนี้ไม่ได้อยู่ที่ความยิ่งใหญ่อลังการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศักยภาพในการเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและการรับรู้เรื่องเพศอันหลากหลายในงานศิลปะด้วย” กั๊ก-วรรณศักดิ์เป็นทุกตัวละครตั้งแต่ผู้เล่าเรื่อง, ชาวบ้าน, ทหาร, เจ้าหญิงตูรันดอท, เจ้าชายนิรนาม ไปจนถึงนางทาสหลิว โดยขับร้องเคลื่อนไหวไปตามบทเพลงที่รังสรรค์จากนักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำมาประกอบการแสดงโดย เอก โอตรวรรณะ ด้วยไอแพดผสมการบรรเลงสด จากเครื่องเคลือบดินเผา เครื่องดนตรีประกอบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเซรามิกของกาลิเลโอ คินี เกิดจากการศึกษาค้นคว้ากรรมวิธีการผลิตจากตระกูลคินี โดย ภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยเครื่องแต่งกาย ชุดที่ประดับประดาด้วยเครื่องเคลือบดินเผา รังสรรค์โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ เชื่อมโยงมาถึงอุปกรณ์การแสดงอื่น ๆ ที่รังสรรค์จากวัสดุที่มีอยู่รอบตัวที่มีอยู่แล้ว นำมาดัดแปลง และจัดวางในการแสดง ทั้งบันไดไม้ไผ่ กล่องเก็บคำตอบ การชักรอก และอุปกรณ์สร้างเสียงประกอบต่างๆ สื่อสะท้อนความหมายว่า ของทุกชิ้นล้วนมีคุณค่าและประวัติศาสตร์ของมัน ที่รอการบอกเล่าเพื่อชุบชีวิต  เช่นเดียวกันกับพื้นที่ต่าง ๆ ที่จะจัดแสดงในครั้งนี้ ล้วนมีความหมาย และคุณค่าอย่างมากกับทีมผู้สร้างทั้งชาวไทย และอิตาลี  

โดยการแสดงชุดนี้ได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่ง ของกิจกรรม 150 ปีชาตกาล กาลิเลโอ คินี ณ ประเทศอิตาลีตามความประสงค์ของคุณเปาล่า โปริโดริ คินี (Paula Polidori Chini) ทายาทของกาลิเลโอ คินี โดยจะมีการแสดง 3 ที่ ซึ่งล้วนแล้วมีความหมายกับชีวิตของกาลิเลโอ คินี และเป็นการนำเอาผลงานศิลปะการแสดงร่วมสมัยไทยสู่นานาชาติ  

ครั้งที่ 1

7 กันยายน 2566 จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา Museo di Antropologia e Etnologia เมืองฟลอเรนซ์

รายละเอียดและความสำคัญ

ปี 1950 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต กาลิเลโอ คินี ได้มอบของสะสมที่นำมาจากสยามเกือบทั้งหมด มีทั้งผ้าไทย เครื่องแต่งกาย เครื่องเคลือบดินเผา หัวโขน หน้ากาก ชฎา พระพุทธรูป ตุ๊กตาจีน เครื่องดนตรีไทย ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานจิตรกรรมของเขา บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  

ครั้งที่  2

9 กันยายน 2566 จัดแสดง ณ โรงละคร Teatro dell’ Olivo ใจกลางเมือง Camaioreโรงละครเก่าแก่แห่งนี้ สร้างขึ้นในปี 1772 ต่อมาได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกทิ้งร้างไว้ จนกระทั่งกลางทศวรรษที่ 80 เทศบาลเมือง Camaiore ได้เข้ามาฟื้นฟูโครงสร้าง และเปิดใช้งานอีกครั้งในปี 2003 ปัจจุบัน Teatro dell’ Olivo เป็นโรงละครที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดใน Versilian Coast  

ครั้งที่ 3

12 กันยายน 2566 จัดแสดง ณ ลานกลางแจ้ง ของอาคาร Tamerici, Montecatini Terme

ในปี 1910 กาลิเลโอ คินี ได้รับมอบหมายให้มาออกแบบงานประติมากรรมตกแต่งทั้งภายนอกและภายในตัวอาคารดังกล่าว โดยใช้เครื่องเคลือบดินเผาจากโรงงานของเขา นับเป็นการสร้างสรรค์ศิลปะประดับคุณภาพสูงที่มีทั้งความสวยงามและความแข็งแกร่งทนทาน  

รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ วิลาสินี ทองศรี 085 006 3954  

BIOGRAPHY

กั๊ก วรรณศักดิ์ ศิริหล้า เกิด 2 ธันวาคม 2512 ที่จังหวัดเลย การศึกษาอบรมการแสดงพื้นฐานจากกลุ่มละครมะขามป้อม ฝึกฝนหุ่นละครเล็กจากครูสุรินทร์ ยังเขียวสด และ ครูยุพิน กุลนิตย์ อบรมศิลปะการแสดงจากคณะละคร 28 ฝึกฝนศิลปะการแสดงจากภัทราวดีเธียร์เตอร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ และครูนาย มานพ มีจำรัส ศิลปินศิลปาธร ความโดดเด่น วรรณศักดิ์เป็นศิลปินผู้มีพลังความสามารถในวงการศิลปะการแสดงร่วมสมัยอย่างมีอัตลักษณ์โดดเด่นน่าชื่นชม เป็นผู้มีทักษะรอบด้านทั้งในฐานะนักแสดงเดี่ยว นักแสดงนำ นักแสดงสมทบหลากหลายบทบาททั้งในละครเวทีและภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับการแสดง ผู้เขียนบท และผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของละครเวทีมากมาย นำความรู้เฉพาะตัวด้านศิลปะการแสดงไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนและการพัฒนาเยาวชน สามารถเชื่อมโยงวิชาการละครกับการศึกษาด้วยกระบวนการสอนและกิจกรรมที่กระตุ้นแรงบันดาลใจ มีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้พื้นที่ในการแสดงอย่างหลากหลาย ทั้งริมถนน ในโรงละคร สวนสาธารณะ หอศิลป์ โรงเรียน ร้านอาหาร สนามเด็กเล่น คลับบาร์และโรงแรม วรรณศักดิ์ ศิริหล้า เป็นศิลปินไทยร่วมสมัยที่มีแนวคิดและผลงานสร้างสรรค์ส่องสะท้อนมิติความหลากหลายในสังคมและความเสมอภาคเท่าเทียม เช่นการนำเสนอประเด็นของปัจเจกชนและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT โดยวิธีละมุนละม่อม มีศิลปะและอารมณ์ขันที่เจือไว้ด้วยความขมขื่นของความจริงที่ชวนให้ผู้ชมตระหนัก สร้างการยอมรับ ความเข้าใจและความเคารพในความหลากหลายแต่เท่าเทียมของมนุษย์ในสังคมไทยและสังคมโลก ผลงานโดดเด่น การแสดงเดี่ยว (ละครเวที) ครั้งแรก จากเรื่อง คืนที่คีอานูรีฟ จูบฉัน Last night Keenureav kissed me ไฉไลไปรบ Chilai goes to War อสรพิษ ที่รัก The Snake, My Mom, Be Loved Who moved My Dream?, It shall pass (แล้วมันจะผ่านไป) และ จากการแสดงเดี่ยว คินี และทูรันโดต์ สู่ Hope Blood and Love (ความหวัง โลหิต และความรัก) ซึ่งจัดแสดงมาแล้วทั้งสิ้น 19 รอบ


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *