จึงมีการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการเศษอาหารอย่างเหมาะสม
“Roadmap และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ มุ่งป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารที่ต้นทาง มีเป้าหมายให้ขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2570”
ทุกวันนี้ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ประมาณกันว่ามีจำนวนกว่า 10,000 คนต่อปี นำมาซึ่งปริมาณมูลฝอยที่เกิดขึ้นกว่า 40 ตันต่อวัน
ในจำนวนนั้นเป็นเศษอาหารราวร้อยละ 50 ซึ่งมีปริมาณผันแปรไปตามการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน (โครงการ CE-Lanta บพข. และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, 2566) ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและภาระค่าใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 6 แห่ง
จึงนำไปสู่การริเริ่มแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเศษอาหารหรือวัสดุอินทรีย์เหล่านั้น
“ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการเศษอาหารที่เกาะลันตา ให้เกิดการหมุนวนและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสีย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)”
จากการหารือระหว่างผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เกาะลันตาอย่างต่อเนื่อง ต่างก็เห็นว่าควรเร่งจัดการเศษอาหารจากแหล่งกำเนิดซึ่งมีขยะอาหารในลักษณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมากเป็นประจำ ได้แก่ ร้านอาหาร ผู้ประกอบการที่พัก ตลาดสด บ้านเรือนและชุมชน โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้มาปรับใช้
เริ่มด้วยการจับคู่การใช้ประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม ส่งเสริมให้เกิดการคัดแยก รวบรวมไปเป็นอาหารให้สัตว์และลดต้นทุนปัจจัยการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดและไก่
การจับคู่ผู้ประกอบการเริ่มจากโรงแรมนำร่อง ได้แก่ โรงแรมทวินโลตัส รีสอร์ต แอนด์ สปา โรงแรมอวานีพลัส เกาะลันตากระบี่ รีสอร์ท และโรงแรมนครา ลองบีช รีสอร์ท กับฟาร์มเป็ดของเกษตรกร
นายนิกร ช่วยทิพย์ นายเอกสิทธิ์ เอียบก๊ก และนายรัตนวิทย์ ตั้นไทย (รอนนี่ ฟาร์ม) รับเศษอาหารจากโรงแรมเป็นอาหารนำมาเป็นอาหารเลี้ยงเป็ดไข่ โดยมีข้อตกลงในการปฏิบัติระหว่างกัน
ผู้ประกอบการโรงแรมและที่พัก
– ช่วยคัดแยกและเน้นเศษอาหาร ผัก ผลไม้ล้วน ไม่มีไม้จิ้มฟัน เศษพลาสติก กระดาษทิชชูเจือปนเพื่อลดอันตรายต่อเป็ดและสัตว์
– รวบรวมใส่ถังและจัดตั้งวางไว้ให้มิดชิด ปลอดภัยจากลิงและสุนัขรบกวน คุ้ยเขี่ย รื้อและพังถัง
– กำหนดเวลาเพื่อนัดหมายและความสะดวกร่วมกับเกษตรกรที่ต้องการเดินทางเข้ามารับเศษอาหาร
– จัดเก็บข้อมูลเศษอาหารรายวัน แสดงเป็นข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องเป็นประโยชน์ในการวางแผนงานที่เกี่ยวข้อง
เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์
– ช่วยจัดเก็บเศษอาหาร และรวบรวมจากผู้ประกอบการ โดยมีพาหนะและภาชนะเก็บขนที่เป็นระเบียบ เรียบร้อย ปิดให้มิดชิด ไม่ให้ร่วงหล่นเลอะเทอระหว่างการเดินทาง
– ปฏิบัติตามกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้ โดยมีการพิจารณาเส้นทางและเวลาที่เหมาะสมในการนัดหมายเข้ารับในแต่ละวัน
“โรงแรมเขาเก็บเศษอาหารไว้ให้ ถึงเวลาก็ไปรับ ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารเป็ดไก่ได้มาก บางวันก็เอาไข่เป็ดไข่ไก่ไปฝากเขาบ้าง แลกกัน เดี๋ยวนี้มีเรื่องอะไรก็ได้ช่วยกันมากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนต่างคนต่างอยู่”
เศษอาหารเป็นวัสดุอินทรีย์ที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่าและก่อปัญหาในหลายพื้นที่ แต่สำหรับเกาะลันตาได้มีการจัดการเรื่องนี้ได้ด้วยความร่วมมือกันแบบง่าย ๆ ได้ทั้งประโยชน์ ลดภาระ และช่วยลดค่าใช้จ่ายอย่างเห็นได้ชัด
การทำงานที่ผ่านมาในช่วงแรกๆ ต้องมีการสื่อสารและกระตุ้นเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจัง คอยติดตามและรวบรวมข้อมูลสำหรับวางแผนงานปฏิบัติการที่สอดคล้องเท่าทันกับสถานการณ์ของพื้นที่
ซึ่งพบว่าปัจจัยความสำเร็จในการจัดการเศษอาหารที่เกิดขึ้นจำนวนมากเป็นประจำเหล่านั้น อยู่ที่การคัดแยกและรวบรวมเศษอาหาร รวมถึงการออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมระหว่างแหล่งกำเนิดเศษอาหารกับการใช้ประโยชน์ปลายทาง ซึ่งแต่ละแหล่งมีความที่แตกต่างกันออกไป
ส่วนการทำข้อตกลงร่วมกันนับเป็นกลไกที่สำคัญ ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจตรงกัน ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
ความร่วมมือข้างต้นไม่ใช้เรื่องที่ยากนัก แต่ต้องมองเห็นปัญหาร่วมกันและเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทำ ช่วยกันส่งต่อเพื่อให้เกิดระบบการจัดการที่ต้นทาง กลางทาง และนำส่งไปใช้ประโยชน์ยังปลายทางได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้การจัดการขยะที่เกาะลันตาได้ค่อยๆ ขยายวงกว้างขึ้น
อีกทั้งได้รับการเสริมพลังจากหน่วยงานภายนอกซึ่งล้วนมุ่งหวังให้เกิดผลงานที่ยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ และช่วยกันลดมูลฝอยที่ต้นทางตามทิศทางและนโยบายของประเทศ.