คอลัมน์ผู้หญิง


สัปดาห์นี้ เรามาคุยกันถึงเหตุการณ์และคำถามที่พบได้บ่อยในคลินิกฉุกเฉิน ซึ่งเป็นข้อมูลดีๆ จากแผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ ครับ

@ ทำไมสุนัขที่มีภาวะลมแดด (heat stroke) จึงไม่ควรอาบน้ำเย็นจัดหรือแช่น้ำแข็ง

เนื่องจากในขณะที่อุณหภูมิร่างกายสูง ร่างกายจะพยายามปรับตัวโดยที่ทำให้หลอดเลือดจะขยายเพื่อระบายความร้อนแต่การใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง จะทำให้หลอดเลือดหดตัวได้โดยเฉพาะหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง ซึ่งจะส่งผลให้สัตว์ป่วยไม่สามารถระบายความร้อนออกจากภายในร่างกายได้ดังนั้นจึงควรใช้น้ำเย็นธรรมดาอาบหรือเช็ดตัวเพื่อให้อุณหภูมิร่างกายค่อยๆ ลดลงจะได้ผลดีกว่าครับ

@ สภาวะการคลอดยาก เราจะทราบได้อย่างไรว่า เมื่อไหร่ควรได้รับการผ่าคลอดฉุกเฉิน

แม่สุนัขที่เริ่มใช้เวลาเบ่งคลอดนานๆ หรือมีการเบ่งคลอดรุนแรง โดยเฉพาะสุนัขที่มีประวัติการคลอดยาก สิ่งเหล่านี้ควรปรึกษาสัตวแพทย์ตั้งแต่เวลาใกล้คลอด เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งคุณหมออาจขอทำการอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจดูสภาพอัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงดูขนาดของลูกสุนัขในมดลูก และอาจต้องทำการล้วงเพื่อช่วยคลอดหรืออาจต้องให้ยากระตุ้นคลอดก่อนในเบื้องต้น และประเมินถึงความจำเป็นในการผ่าคลอด 

สถานการณ์ที่บอกว่าควรต้องทำการผ่าคลอดโดยเร่งด่วนโดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

– แม่สุนัขเบ่งคลอดนานกว่า 2-4 ชม. หรือมีการเบ่งคลอดรุนแรง

– ลูกสุนัขแต่ละตัวคลอดห่างกันมากกว่า 2 ชม.

– ล้วงคลอดแล้วพบว่าลูกสุนัขคลอดผิดท่า และไม่สามารถจัดท่าคลอดปกติได้

– อัลตราซาวนด์แล้วพบว่าอัตราการเต้นหัวใจของลูกสุนัขน้อยกว่า 180 ครั้งต่อนาที

นอกจากนี้สายพันธุ์ของสุนัขเองก็มีผลต่อการตัดสินใจผ่าคลอดอีกด้วย สำหรับสายพันธุ์ที่มักจะต้องได้รับการผ่าคลอด ได้แก่ สุนัขพันธุ์หน้าสั้น พันธุ์ที่มีศีรษะกลม หรือมีสัดส่วนของหัวกะโหลกโตเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว เช่นบูลด็อก บ๊อกเซอร์ หรือชิวาว่า เป็นต้น

เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการผ่าคลอดฉุกเฉินของแม่สุนัขและลูกๆ เจ้าของควรพาสัตว์เลี้ยงมาตรวจเช็คครรภ์ และเอกซเรย์ หรืออาจต้องทำการอัลตราซาวนด์ ในช่วงกลางถึงท้ายของการตั้งท้องเพื่อพิจารณาว่าควรได้รับการผ่าคลอดหรือไม่

@หากเราไม่อยากให้สัตว์เลี้ยงป่วยและเข้าข่ายภาวะฉุกเฉิน เราควรปฏิบัติอย่างไร

เเน่นอนว่าไม่มีเจ้าของสัตว์ท่านใดอยากที่จะพาสัตว์เลี้ยงมาห้องฉุกเฉิน ดังนั้น การหลีกเลี่ยงเเละป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดกับสัตว์เลี้ยงของคุณคือสิ่งที่สำคัญที่สุดด้วยการปฏิบัติตัวเบื้องต้นดังนี้

1.ดูเเลสัตว์เลี้ยงของคุณให้อยู่ในความควบคุมตลอดเวลา เพราะเมื่อออกไปนอกบ้านแล้ว เราจะไม่ทราบเลยว่าจะเกิดเหตุใดกับเค้าบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการประสบอุบัติเหตุจากถูกยานพาหนะเฉี่ยวชนการกินสารพิษ การถูกสุนัขอื่นกัด 

2.หากสัตว์เลี้ยงของคุณป่วยมีโรคประจำตัวอยู่เเล้วมีความจำเป็นต้องพาไปพบสัตวเเพทย์ตามนัดหมายที่กำหนดรวมถึงต้องปฏิบัติตัวเเละป้อนยาตามคำเเนะนำของสัตวเเพทย์อย่างเคร่งครัด

เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์และคำถามที่พบได้บ่อยในคลินิกฉุกเฉินยังไม่หมดเท่านี้สัปดาห์หน้าเรามาติดตามกันต่อครับ

หมอโอห์ม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร 

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *