วันที่ 15 พ.ย.66 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านหนองยาว หมู่ 7 ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ว่ามีฝูงอิกัวน่า กว่า 10 ตัว ออกมาเดินเล่นอยู่บนถนนภายในหมู่บ้าน สร้างความแปลกตาแปลกใจให้กับผู้ที่ไม่เคยพบเห็น จึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นถนนในหมู่บ้านหนองยาว ลักษณะพื้นที่เป็นไร่ สวนเกษตรกรรมของชาวบ้าน โดยมักจะมีฝูงอิกัวน่า นับ 10 ตัว เดินข้ามถนนไปมาเป็นประจำ เป็นภาพคุ้นชินของคนในพื้นที่บ่อยครั้ง ไม่ทำร้ายคน นอกจากนี้ยังมีไก่ป่า และสัตว์ต่างๆ เดินลงมาจากภูเขาใกล้เคียงเพื่อหาอาหารกินตามไร่สวนของชาวบ้าน

นางสุนี นันทวดี อายุ 49 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า อิกัวน่าพบเจอบ่อย โดยช่วงก่อนโควิด-19 มีไม่มาก หลังโควิด-19 พบเยอะมากและบ่อยครั้ง พบครั้งละ 10 ตัว เดินไปเดินมาอยู่ในหมู่บ้าน ลักษณะตัวสีเขียวเหมือนใบไม้ สีออกน้ำตาลอมเขียวเหลือง เข้ากับสภาพแวดล้อมภายในหมู่บ้าน อิกัวน่ามีคนอื่นเอาเข้ามาในพื้นที่ก่อนที่ตัวเองจะมาซื้อที่ดินปลูกบ้าน ปกติตนเป็นคนชอบธรรมชาติอยู่แล้วพอมีอิกัวน่าเข้ามาในพื้นที่ก็ปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ

ด้านนายปิยะเดช ทั่งทอง แพทย์ประจำตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เจ้าของพื้นที่ เปิดเผยว่า ย้อนหลังไปประมาณ 20 ปี มีชาวต่างชาติมาปลูกบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ และนำมาเลี้ยง ทำให้คนในชุมชนได้รู้จักอิกัวน่า รู้สึกว่าเป็นสัตว์ที่น่ารักน่าเลี้ยงสวยงาม ตัวเล็กจะเป็นสีเขียว พอโตขึ้นมาจะปรับเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเหลือง และสีต่างๆ เพื่อปรับตัวเข้ากับธรรมชาติในหมู่บ้าน พอโตขึ้นมาก็มีการขยายพันธุ์ ลูกอิกัวน่าตัวเล็กๆ ก็จะมุดออกจากกรงที่เลี้ยงไว้ ไปหากินตามธรรมชาติจนขยายพันธุ์มากขึ้น จนถึงปัจจุบันในชุมชนหนองยาวมีอิกัวน่ามากมาย อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ ต้นไม้ กินพืชผักสีเขียว และไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่จะไปรบกวนกัดกินพืชสวน ผักบุ้ง คะน้า แตงกวาของชาวบ้านได้รับความเสียหาย อิกัวน่าสามารถปรับตัวอยู่ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ พ.ต.ท. นายสัตวแพทย์ นิธินันท์ นาคบุรี ปศุสัตว์อำเภอชะอำ เปิดเผยว่า อิกัวน่าเป็นสัตว์ที่แพร่พันธุ์เร็ว กินพืชและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร ออกไข่ครั้งละมากๆ อายุขัยประมาณ 20 ปี โตเต็มวัยจะกินพืชผักธัญญาหาร ส่งผลกระทบต่อพืชผักสวนครัวที่ชาวบ้านปลูกไว้ และแปลงเกษตรสวนผักของเกษตรกร เบื้องต้นโรคสู่คน และโรคสู่สัตว์เลี้ยงในพื้นที่ ยังไม่เคยได้รับรายงานว่าพบ อิกัวน่าเป็นสัตว์ประเภทกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ ความยาว 1.3 -1.7 เมตร หากมีผู้พบเห็นและไม่อยากให้แพร่พันธุ์ ควรจะจับไปดูแล และแยกเพศ ให้เพศผู้อยู่กับเพศผู้ เพศเมียอยู่กับเพศเมีย เพื่อไม่ให้ผสมพันธุ์กัน ป้องกันการแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นในพื้นที่ หรือจะไปให้องค์การสวนสัตว์ต่างๆ ที่ต้องการดูแลต่อไป.