ชิม Tiradito-Ceviche ลุยครัว‘เปรู’เรียนรู้วัฒนธรรม


เหมือนอย่างที่สถานเอกอัครราชทูตเปรูประจำประเทศไทยโดยเอกอัครราชทูตเซซิเลีย กาลาเรตา จัดคอร์สเรียนทำอาหารเปรูให้กับสื่อมวลชนไทยเมื่อวันก่อนที่ The Food School Bangkok เล่นเอาสนุกสนานอิ่มอร่อยไปตามๆ กันกับเมนูปลาดิบสไตล์เปรู นำขบวนโดยเชฟอังเดร เซเวริโน กับสองเมนูที่ใช้ปลากะพงสดเป็นส่วนประกอบสำคัญ จานแรกชื่อว่า Tiradito ใช้ปลากะพงหั่นบางและกุ้งแม่น้ำย่าง ราดด้วยซอสพริกเหลืองโปะด้วยเครื่องยำ

ชิม Tiradito-Ceviche  ลุยครัว‘เปรู’เรียนรู้วัฒนธรรม
 อีกจานชื่อ Ceviche with Mango ใช้ปลากะพงสดหั่นเต๋าและมะม่วงหั่นเต๋า หมักด้วยเครื่องเทศ คึ่นช่าย ขิง น้ำมะนาว หอมแดง  และผักชี ราดด้วยซอสพริกเหลืองอีกเช่นกัน 

ชิม Tiradito-Ceviche  ลุยครัว‘เปรู’เรียนรู้วัฒนธรรม

แน่นอนว่าอาหารทั้งสองจานมีปลากะพงสดเป็นพระเอก ส่วนนางเอกคือส่วนผสมสดๆ ทั้งหลายขอเรียกง่ายๆ ว่าเครื่องยำ โดยเฉพาะน้ำมะนาวที่สูตรเดิมเชฟบอกว่าใช้น้ำส้มยูซุ

ชิม Tiradito-Ceviche  ลุยครัว‘เปรู’เรียนรู้วัฒนธรรม
แต่คนไทยอาจจะข้องใจนิดหน่อยตรงที่อาหารทั้งสองจานปรุงรสเค็มด้วยเกลือ ไม่มีน้ำปลาและปลาร้าอย่างที่หลายคนคุ้นเคย ทว่ายังได้ความสดหวานจากเนื้อปลาและหอมกลิ่นมะนาวชวนน้ำลายสอ  นอกจากอร่อยแล้ว Tiradito ยังมีสีสันสดใสถึง 5 สี แดง เขียว เหลือง ดำ ขาว 

สอบถามที่มาที่ไปของโครงการ ทูตกาลาเรตาเล่าว่า สถานทูตเปรูร่วมมือกับสถาบันสอนทำอาหารดุสิตธานีเพื่อประชาสัมพันธ์อาหารเปรู โชคดีมากที่มีเชฟชาวเปรูมาจากกรุงลิมาเป็นเชฟหลักที่ร้านอาหารโนมาดา (Nomada’)

ชิม Tiradito-Ceviche  ลุยครัว‘เปรู’เรียนรู้วัฒนธรรม

สถานทูตจึงเชิญมาสาธิตการทำอาหารในเมนูปลายอดนิยม และถ้าหากจะพูดถึงอัตลักษณ์ของอาหารเปรูแล้วล่ะก็ ทูตกล่าวว่า อาหารไทยกับเปรูเหมือนกันมาก 

“อาหารไทยได้รับความนิยมมากไม่ว่าไปไหน ดิฉันยังจำได้ตอนไปดำรงตำแหน่งที่เยอรมนีมีร้านอาหารไทยตั้งอยู่ห่างจากสถานทูตแค่ช่วงตึก เราไปทานกันบ่อยมาก อร่อยมากค่ะ ในกรณีเปรูปีนี้ ร้านอาหารเปรูในกรุงลิมาชื่อว่าร้านเซ็นทรัลได้รับยกย่องเป็นร้านอาหารดีที่สุดในโลก และยังมีอีก 4 ร้านติดกลุ่ม50 ร้านอาหารดีที่สุดในโลก ช่วงสิบปีที่ผ่านมาเรามีโอกาสแสดงให้โลกเห็นว่าอาหารเปรูอร่อยมากและหลากหลาย เหมือนกับในเมืองไทยที่เมื่อคุณไปเปรูคุณจะเจอแต่อาหารอร่อยไม่ว่าจะร้านเล็กๆ หรือระดับไฮเอนด์”

 อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่คุ้นเคยอาจแยกไม่ออกว่าอาหารอเมริกาใต้ชาติอื่นๆ กับอาหารเปรูต่างกันอย่างไร 

“เรามีส่วนผสมบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของอาหารเปรู เช่น พริก เรามีพริกเผ็ดพิเศษ ยี่หร่า กระเทียม หอม เหล่านี้คือส่วนผสมพิเศษที่พบได้ในอาหารเปรู ในเวลาเดียวกันก็มีความหลากหลายและทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ การมาเที่ยวเปรูไม่ได้สัมผัสแค่อาหารแต่ยังให้ประสบการณ์การใช้ชีวิต” ทูตเล่าพร้อมอธิบายเสริม มีงานวิจัยรองรับว่า อาหารจากพื้นที่ความสูงแตกต่างกัน มีคุณประโยชน์แตกต่างกัน “นี่ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารแต่เป็นความจริงที่ว่า อาหารสัมพันธ์กับผู้คน” ทูตย้ำซึ่งโดยนัยนี้อาหารยังสะท้อนถึงชุมชนผู้ผลิต  

“เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวได้สัมผัสทั้งอาหาร งานฝีมือ วัฒนธรรมชุมชน ไปที่ไหนมีแต่ความตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่คนในท้องถิ่นได้สร้างสรรค์ ทำให้คนอยากมาท่องเที่ยวไทย เราก็กำลังพัฒนาการท่องเที่ยวของเราให้นำเสนอประสบการณ์แบบองค์รวมที่แสดงถึงความรุ่มรวยด้านอาหาร ไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิตของเปรู” 

ต้องยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกของ World Pulse กับอาหารเปรู รายละเอียดของอาหารอาจตกหล่นไปบ้างเพราะนี่ไม่ใช่คอลัมน์สอนทำอาหาร แต่สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนจากการลงครัวคือการเน้นความสดของส่วนผสม อันสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเปรู พูดมาถึงตรงนี้ความรู้สึกอยากไปเยี่ยมไปเยือนเพื่อให้เห็นเปรูด้วยตาตนเองย่อมเกิดขึ้นตามมา เพียงแค่นี้ก็ถือได้ว่า Tiradito และ Ceviche ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *