จิตแพทย์ ชี้ อาจารย์เอกฝ่ามือพลังจิต รักษาได้ผล เพราะอุปาทานหมู่ เหมือนจ่ายยาหลอก
กรณี ‘อาจารย์เอกฝ่ามือพลังจิต’ ที่อ้างตัวว่ารักษาผู้ป่วยด้วยศาสตร์ใหม่ แต่ในทางการแพทย์เข้าข่ายเป็นการรักษาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แจ้งความร้องทุกข์ในฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และเปิดสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมายืนยันว่าการรักษากับอาจารย์เอกด้วยพลังจิต สามารถทำให้ตนเองหายจากอาการป่วยไข้ที่แพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้นั้น
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นพ.พงษ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เรื่องนี้จะแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การดำเนินคดีทางกฎหมาย ที่ต้องคุ้มครองประชาชนที่เข้าไปรับการรักษา และประเด็นที่ 2 คือการใช้ลักษณะความเชื่อ ซึ่งจะต้องเข้าไปดูในรายละเอียดเชิงลึก
“การที่อาจารย์เอกมีลูกศิษย์เชื่อถือเยอะ ทางฝ่ายปกครองคงจะต้องเข้าไปดูข้อเท็จจริง เพราะดูแล้วก็มีความผิดปกติจากสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องเข้าไปดูเชิงลึก” นพ.พงศ์เกษม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงลักษณะการสร้างความเชื่อในคนกลุ่มมาก เป็นการใช้จิตวิทยาแบบใด นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า ถ้าทางวิทยาศาสตร์ก็อาจจะอธิบายได้ถึงผลยาหลอก หรือทางการแพทย์เรียกว่า “พลาซิโบเอฟเฟกต์” (Placebo Effect) ที่พบว่าการให้ยาหลอกกับกลุ่มผู้ป่วยทดลอง ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้ถึงร้อยละ 30 แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เรื่องของใจและความศรัทธา ในบางครั้งเองแพทย์แผนปัจจุบันที่รักษาผู้ป่วย ที่ใช้วิธีการสื่อสารที่ดี ก็ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้ ความตึงเครียดที่อยู่ในร่างกายเขาก็ผ่อนคลายไป
“รักษาแล้วดูเหมือนจะดี เขาก็ตอบว่าดี แต่ไม่มีสเกลวัดชัดเจน เป็นความรู้สึกที่เป็นอัตตา (subjective) แต่การรักษาจะต้องมีตัววัดชัดเจนที่เป็นข้อเท็จจริง (objective) เช่น คนไข้บางคนเป็นเบาหวาน น้ำตาลขึ้น 300 Mg/dL แต่บอกว่าตัวเองสบายดี แต่พอไปเช็กร่างกายจริงๆ กลับพบปัญหาสุขภาพ” นพ.พงศ์เกษม กล่าว
เมื่อถามว่า การรักษาในลักษณะนี้เป็นการเล่นกับจิตใจของคนหรือไม่ นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า ต้องไปดูว่าเกิดความเชื่อในลักษณะเหมือนลัทธิหรือไม่ หรือในบางครั้งเองก็อาจจะเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่เกิดจากการเหนี่ยวโน้มทางจิตใจ ที่เป็นลักษณะอุปาทานหมู่ แต่ต้องไปดูรายละเอียดถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ หากมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตจริง ทางกรมสุขภาพจิตก็จะต้องเข้าไปดูแลเรื่องนี้
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่