ชวนอ่าน นิเวศลำธาร กับหมอหม่อง


หากเรามองน้ำ มองต้นไม้ มองก้อนหิน เป็นเพียงวัตถุ สสาร ที่เป็นเอกเทศ 0.03% คงจะเป็นตัวเลขที่ใครหลายคนคงจะยอมรับได้ หากเราจะต้องสูญเสียพื้นที่ในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เพื่อใช้ในการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ

แต่หากเราลองเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการมอง เราจะเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ เช่นนั้น

บทความนี้ผู้เขียนจึงอยากจะชวนผู้อ่าน มารู้จักนิเวศลำธาร  ไปกับหมอหม่อง หรือนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ นักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม มากว่า 30 ปี และเป็นที่ได้รับความนับถือและรู้จักอย่างดีในวงการอนุรักษ์

นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

นิเวศลำธาร คืออะไร

เราคงต้องมาเริ่มทำความเข้าใจ คำว่า ‘ระบบนิเวศ’ กันก่อน

โดยศาสตราจารย์ ดร.เกษม จันทร์แก้ว ได้ให้ความหมายของระบบนิเวศ คือ “การอยู่ร่วมกัน การมีความสัมพันธ์ กันของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ หรือสิ่งมีชีวิตกับปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ไม่มีชีวิต ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่หนึ่ง ๆ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดพลังงาน การหมุนเวียนธาตุอาหาร มีการรักษาสมดุลของระบบ ทําให้ระบบนั้นอยู่ได้” โดยกลุ่มเหล่านี้จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยลงไปอีก เช่น กลุ่มสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต และกลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต หรือจะแบ่งตามหน้าที่ เช่น ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลาย เป็นต้น ซึ่งหากในระบบนิเวศที่มีภาวะสมดุลจะมีการกระจายของกลุ่มต่าง ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ (2544, น. 289) 

ระบบนิเวศทางธรรมชาติสามารถแบ่งออกเป็นสองระบบนิเวศใหญ่ๆ คือ ระบบนิเวศบก และระบบนิเวศน้ำ ซึ่งแต่ละระบบก็จะมีตัวชี้วัดเพื่อแบ่งย่อยลงไปอีก อย่างเช่น ระบบนิเวศน้ำ (aquatic ecosystems) จะมีค่าความเค็มเป็นตัวดัชนี ถ้าหากค่าความเค็ม มีค่ามากกว่า 10 ppt จะเรียกว่า ระบบนิเวศน้ำเค็ม ถ้าค่าความเค็ม มีค่า 1-10 ppt จะเรียกว่า ระบบนิเวศน้ำกร่อย ถ้ามีค่าความเค็มเป็น 0 ppt หรือเป็นน้ำจืด จะเรียก ระบบนิเวศตรงนั้นว่า ระบบนิเวศน้ำจืด (เกษม จันทร์แก้ว, 2544, น. 289) 

โดยในที่นี้เราจะพูดถึง ระบบนิเวศน้ำจืด มีทั้งที่เป็นระบบนิเวศทางธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง หนอง คู บึง สระน้ำจืด ทะเลสาบ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีทั้งระบบนิเวศน้ำนิ่ง และน้ำไหล (ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, ม.ป.ป.)

นิเวศลำธาร มีความสำคัญอย่างไร

คลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก บริเวณที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ มีลักษณะเป็นระบบนิเวศน้ำไหล ที่มีความสำคัญในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ 

บริเวณคลองมะเดื่อเป็นพื้นที่ป่าริมน้ำ ซึ่งเป็นระบบนิเวศพิเศษ ที่มีอยู่น้อยนิด เมื่อเทียบกับ พื้นที่ทั้งหมด และเป็นพื้นที่ ที่มีสำคัญในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด

“ใคร ๆ ก็อยากอยู่ที่ลุ่มริมน้ำ มนุษย์เรา หากเลือกได้ ก็จะตั้งรกราก ชุมชนริมน้ำ เพราะมันอุดมสมบูรณ์ที่สุดพืชพันธุ์สัตว์ป่า ก็เช่นกัน”

บริเวณที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ เป็นที่อาศัยของช้างป่า 3 โขลง และสัตว์ป่าอื่น ๆ อีกมากมาย และยังมีปู มีหอย เฉพาะถิ่น ที่พบเฉพาะลำน้ำเขาใหญ่

หลายคนบอกว่า สร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ ก็ยิ่งมีน้ำมาก สัตว์ป่า ก็ได้ประโยชน์ 

หมอหม่องชี้แจงว่าในทางชีววิทยาการมองแบบนั้น เป็นความเข้าใจผิด

คำว่า “ที่ใดมีน้ำ ที่นั้นมีชีวิต” คำกล่าวนี้ ไม่ใช่ความจริงเสมอไป

“นิเวศริมน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ หมายถึง ป่าริมสายน้ำที่ไหลอิสระ การไหล อิสระตามความลาดชัน คือ พลังงานชีวิต ของสายธาร เหมือนหัวใจที่สูบฉีดเลือดหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย  น้ำไหลแรง กระทบโขดหิน ซู่กระเซ็น แตกฟอง คือ การหายใจ เติมออกซิเจน ที่จำเป็นกับทุกชีวิตในน้ำ” 

“น้ำขัง น้ำนิ่ง น้ำลึก เป็นแหล่งน้ำที่ไม่หายใจชีพจรรวยริน ไม่สามารถทำหน้าที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลชีวิตในป่าได้สักเท่าใด”

“ลำธารที่เราเห็น ไม่ใช่เพียง คลองส่ง H2O เท่านั้น หากเราลองมองมันเป็นระบบนิเวศ เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์กันของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ หรือสิ่งมีชีวิตกับปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ไม่มีชีวิต เป็นเส้นเลือด ชีพจรของป่า เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตมากมาย”

ก้อนหินในลำธารเปรียบเสมือนปอดของลำธาร ก้อนหิน 1 ก้อนอาจเป็นที่หลบภัยของปู หรือที่วางไข่ของปลา ก้อนหิน 2 ก้อนอาจช่วยเติมออกซิเจนให้กับน้ำ 

เมื่อน้ำไหลมากระทบก้อนหินและเกิดฟองอากาศ น้ำที่สะอาดก็ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ มีปู มีปลา เป็นแหล่งอาหารอาหารสำหรับสัตว์ป่า และสร้างรายได้ให้มนุษย์ 

ที่มา FB : รักษ์คลองมะเดื่อ
หอยขม

ในคลองมะเดื่อยังพบหอยหอม และปูน้ำตกเขาใหญ่ ที่ในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้ให้ความสำคัญ ทั้งที่เป็นชนิดที่พบได้เฉพาะถิ่น และเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของชุมชน 

พื้นที่คลองมะเดื่อ เป็น Riparian zone หรือพื้นที่ลำธารและลำธารริมแม่น้ำเป็นจุดกึ่งกลางของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีจำนวนของสปีชีส์ที่มีอยู่มากเกินกว่าที่คาดไว้  เชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กันภายในพื้นที่  (Olson, Anderson, Frissell, Welsh & Bradford, 2007) และเป็นรอยต่อระหว่างระบบนิเวศน้ำกับระบบนิเวศบก พืช หรือต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ข้างลำธารช่วยกรองตะกอน และสารเคมี ต่างๆ ที่จะไหลลงสู่ลำธาร

พงศ์ศักดิ์ หนูพันธ์ และรัฐชา ชัยชนะ ระบุว่า สารประกอบไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การเกษตร ชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ํา เป็นสาเหตุของการเกิดแพลงก์ตอนบลูมหรือยูโทรฟิเคชันในแหล่งน้ําจืด 

การบลูมของแพลงก์ตอนพืชก่อให้เกิดปัญหาทางลบมากมายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (2557, น. 57) เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม

นอกจากนั้นแพลงก์ตอนบลูมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ําเงิน พืช หรือต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ข้างลำธารช่วยกรองตะกอน และสารเคมีต่างๆ ที่จะไหลลงสู่ลำธาร

การทำลายระบบนิเวศริมน้ำ โดยการสร้างฝาย หรือสร้างอ่างเก็บน้ำ ไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการเกิด ยูโทรฟิเคชัน เท่านั้น 

เนื่องจาก อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ เป็นอ่างที่มีความจุ 85.31 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวสันเขื่อน 705 เมตร ความสูงเขื่อน 80 เมตรจะใช้พื้นที่ทั้งหมด 1,853 ไร่ เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 1,116 ไร่ คิดเป็น 0.03% ของพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 

หมอหม่อง กล่าวว่า “ป่า ไม่ได้เหมือนกันหมด แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน พืชพรรณต่างกัน สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ก็ต่างกัน เราจะเอาพื้นที่ 1,116 ไร่ ไปหารกับพื้นที่ทั้งหมดของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แล้วบอกว่า เสียแค่ 0.03% มันไม่ถูกต้อง”

“ตัวเลขที่ไม่ถึง 1%  นี้ ไม่ใช่ไส้ติ่ง หรือ ปลายเล็บที่จะตัดทิ้งไปได้โดยไม่เดือดร้อน หัวใจคนเรา มีน้ำหนัก 3 ขีด คิดเป็นสัดส่วน 0.4% ของร่างกาย แต่ก็ไม่อาจตัดทิ้งได้เช่นกัน Riparian zone นั้นเป็นพื้นที่ที่มีน้อยนิด เมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด แต่มีความสำคัญมหาศาลต่อระบบนิเวศโดยรวม” การสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีความสูงถึง 80 เมตร ทำให้พืชใต้น้ำไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ น้ำลึกทำให้แสงส่องไปไม่ถึงท้องน้ำ ที่จากเดิมที่ความลึกในแม่น้ำ 

“ปลาบางชนิดวิวัฒนาการมาให้สามารถอยู่ได้เฉพาะในแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนในน้ำในปริมาณที่เหมาะสม การสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ก็เหมือนกับการเอาปอดออกจากแม่น้ำ ทำให้ปลาขาดออกซิเจน”

และการที่แม่น้ำไม่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ยังเป็นการช่วยคัดเลือกพันธุ์ปลา เพราะปลาบางชนิดต้องขึ้นไปวางไข่บนพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งปลาที่แข็งแรงเท่านั้น จึงจะสามารถว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปจนถึงต้นน้ำ เพื่อวางไข่ 

ดังนั้น ไข่ที่มาจากปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่แข็งแรง ย่อมทำให้ชนิดพันธุ์ของปลาชนิดนั้น สามารถส่งต่อพันธุกรรมที่แข็งแรงไปสู่รุ่นต่อไป 

การสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำให้ปลาไม่สามารถว่ายขึ้นไปวางไข่ได้ 

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายของพันธุ์ปลา และเป็นผู้ที่เคยร่วมเก็บข้อมูลชนิดพันธุ์ปลาบริเวณคลองมะเดื่อ ระบุว่า บริเวณพื้นที่คลองมะเดื่อมีปลาที่อพยพ จากด้านล่างขึ้นไปบนต้นน้ำ ระยะทางสั้น ๆ เช่น ปลาขาว ปลาตะเพียน การที่ปลาบางชนิดไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ได้ ทำให้ชนิดพันธุ์ปลานั้น ๆ เริ่มลดน้อยลงไปจากพื้นที่คลองมะเดื่อ 

ปลาซิวลำธาร Rasbora Paviana
ที่มา : FB รักษ์คลองมะเดื่อ
ตะกอง หรือลั้ง

ตะกอง หรือชื่อท้องถิ่นคือ ลั้ง เป็นสัตว์ปา สัตว์เลื้อยคลานที่มีรายงานว่ามีถิ่นฐานที่อยู่อาศัยกระจายอยู่ในเขตป่าใกล้แหล่งน้ำ ในเขตภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (พนิช คำรบธนสาร, ประยุทธ กุศลรัตน์, ซิน ฮั่ว, และปิยะธิดา กุศลรัตน์, 2560) และมีการแพร่กระจายที่สามารถพบได้ในป่าดิบเขา โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปัจจุบันอยู่ในภาวะหายาก 

จากข้อมูลชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทยของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ตะกองเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ประเภทสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 

เนื่องจากการล่าเพื่อการบริโภค และมีการจับเพื่อการค้าหรือลักลอบส่งออกชายต่งประเทศเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง ประกอบกับแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนที่อยู่อาศัย แหล่งหากินและแหล่งวางไข่ 

ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ประกาศให้ตะกองเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน

สำหรับผืนป่าอย่างดงพญาเย็นแห่งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญของตะกอง แห่งหนึ่งก็ว่าได้

นกแก๊ก ตัวเมีย ที่พบในบริเวณริมน้ำคลองมะเดื่อ

นกแก๊ก หรือนกแกง นกแก๊กเป็นนกเงือกที่เล็กที่สุดในประเทศไทย เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปริมาณนกเงือกที่มีอยู่ตามธรรมชาติสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการปลูกป่า จากงานวิจัย ระบบเฝ้าสังเกตการณ์รังนกเงือก ระบุว่า ด้วยลักษณะพิเศษของจะงอยปากที่ใหญ่และแข็งแรง ทำให้นกเงือกสามารถ กินผลของต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ นกเงือกจึงเป็น นักปลูกต้นไม้ที่สำคัญและปลูกได้ในป่าสูง ๆ ที่มนุษย์เข้าถึงได้ยาก (กิตติภพ ปธานวนิช, สิทธิชัย จินะมอย, นนท์ เขียวหวาน, อนันต์ ผลเพิ่ม, อภิรักษ์ จันทร์สร้าง และชัยพร ใจแก้ว, 2563)

จากงานวิจัยโครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2556 ระบุว่า นกเงือกเป็นตัวกลางเชื่อมโยงดุลยภาพต่าง ๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ ต้นไม้เหล่านี้จะมีอัตรารอดตายเติบโตเป็นไม้ใหญ่ราว 5 เปอร์เซ็นต์ 

ดังนั้นหนึ่งชีวิตของนกเงือกจึงสามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ป่าได้ถึงประมาณ 500,000 ต้น

ไม่เพียงแต่ การสูญเสียในเรื่องของความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ ที่อาศัยอยู่ใกล้คลองมะเดื่อ เท่านั้น

หากสังเกต จะเห็นว่า บริเวณที่เป็นป่าต้นน้ำจะมีก้อนหินก้อนใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก และจะค่อยๆ พบก้อนที่เล็กลงบริเวณที่ห่างจากป่าต้นน้ำ และเล็กลงเรื่อยๆ จนไปถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งก้อนหิน ก้อนใหญ่จะค่อยๆ ถูกกัดเซาะ ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นดินเลนซึ่งประกอบด้วยสารอินทรีย์ต่างๆจากกิ่งไม้ ใบไม้ที่ทับถมกันตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำ เป็นสารอาหารที่ไหลลงมาตามแม่น้ำ และสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ราบลุ่ม และชายฝั่ง 

ความสำคัญด้านสุนทรียภาพ

นอกจากประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมที่เราได้รับจากธรรมชาติแล้วที่หมอหม่องได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ธรรมชาติยังมีคุณค่าทางด้านสุนทรียภาพและวัฒนธรรมอีกด้วย เป็นเวลาหลายศตวรรษที่เรารับรู้ว่าสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมีคุณสมบัติในการรักษาผู้คนในด้านจิตวิญญาณและความเครียดทางสมอง 

คลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ใกล้กับกรุงเทพฯ ผู้คนสามารถเดินทางไปพักผ่อนในช่วงวันหยุด การสูญเสียพื้นที่คลองมะเดื่อ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบในทางระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชาวบ้านริมคลองมะเดื่อเท่านั้น คนที่เดินทางมาใช้ประโยชน์ในด้านสุนทรียภาพก็ได้รับผลกระทบด้วย

“การเคารพให้เกียรติธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดี และความเคารพ ควรมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่มันเป็น ความงามและคุณค่า ทั้งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน และที่เรายังไม่ค้นพบ และความเคารพนี้ก็ควรรวมถึงมนุษย์เราด้วย” (Rundgren, 2014)

ณ ปัจจุบัน พัฒนาการของมนุษย์มาถึงจุดที่กลายเป็นผู้บริหารจัดการระบบนิเวศบกได้เกือบทั้งหมด หลายกลุ่มได้รับประโยชน์จากการทำลายธรรมชาติ และหลายกลุ่มก็เป็นผู้ที่เสียผลประโยชน์ 

เราควรระลึกไว้เสมอว่าการแสวงหาผลประโยชน์จากธรรมชาตินั้นมีคำถามที่เราต้องตอบว่า “ธรรมชาติเป็นของใคร” คำว่า “ใคร” ในที่นี้หมายความรวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

หากผู้อ่าน ยังคงรู้สึกว่า ตัวเลข 0.03% นั้นยังเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้หากต้องสูญเสียพื้นที่ป่าเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ

ผู้เขียน อยากยกประโยคของ โอเล เปาซ์ ในหนังสืออุทยานแห่งผืนดิน ของกุนนาร์ รุนด์เกรน กล่าวว่า “เรามีทุกสิ่ง แต่นั่นก็คือทั้งหมดที่เรามี” 

ใช่ครับ… ปัจจุบันเรายังมีธรรมชาติให้เราได้แสวงหาผลประโยชน์ แต่นั่นก็คือทั้งหมดที่เราเหลืออยู่ 

อ้างอิง


ผู้เขียน

+ posts

มนุษย์ผู้ใช้ชีวิตแบบเงียบๆ ที่หวานแบบเหงาๆ เศร้าแบบอุ่นๆ บางครั้งก็ใต้แสงดาว บางคราวก็ใต้แสงเทียน

+ posts

ผู้ที่อยากบอกเล่าเรื่องราวจากป่า ให้ตรงกับนามสกุล


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *