ที่ผ่านมาหลายคนเห็นข่าวการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Amazon Google และ Microsoft โดยเป็นความร่วมมือเพื่อมุ่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ไทยเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ตลอดจนเพิ่มโอกาสจ้างงานและยกระดับชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี
และหากพูดถึงโอกาสของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในระดับประเทศแน่นอนว่าหนึ่งในกระทรวงสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลของประเทศเพื่อยกระดับชีวิตประชาชน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันนั่นก็คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society) หรือ DES
Thairath Money สัมภาษณ์พิเศษ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ถึงบทบาทของกระทรวงฯ ในการนำพาประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัลพร้อมเป้าหมายผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศให้ไม่น้อยกว่า 15%
บทบาทกระทรวง DES ยุครัฐบาลเศรษฐา
นายประเสริฐ กล่าวว่า ในเรื่องความสำคัญของกระทรวงดิจิทัลจริงๆ แล้วในปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลมีบทบาทในเรื่องระบบเศรษฐกิจของประเทศสูงมาก หากมองย้อนกลับไปในอดีต เมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ เราจะนึกถึงเรื่องของการส่งออก การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ 4 ตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในยุคโควิดเครื่องยนต์ 4 ตัวนี้ทำได้ไม่เต็มที่ แต่เราได้เครื่องยนต์ที่เรียกว่า “เครื่องยนต์ดิจิทัล” เข้ามาช่วยในยุคนั้นทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ เพราะฉะนั้นเครื่องยนต์ตัวนี้เราได้ให้สมญานามว่า “The Pro Engine of Thailand”
“และโดยปกติในระบบเศรษฐกิจ GDP จะโตได้ประมาณ 5% บวกลบ แต่ถ้าเอาเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าไปจับระบบเศรษฐกิจจะโตไม่น้อยกว่า 15% เพราะฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในอนาคต และขณะนี้ทุกประเทศทั่วโลกล้วนเห็นเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง”
และหลังการเข้ามาของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน สิ่งที่ประชาชนจะได้เห็นเป็นรูปธรรมจากการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลฯ นายประเสริฐเผยว่า 3 เรื่องหลักที่ต้องขับเคลื่อนเพื่อทำให้ Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัลมีศักยภาพนั้น ประกอบไปด้วย
- การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งบทบาทของกระทรวงดิจิทัลฯ คือการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้กับประชาชนรวมถึงภาคเอกชนผ่านการอำนวยความสะดวกในเรื่องการจัดการ โดยภาคประชาชนต้องได้รับความสะดวกประโยชน์ของเทคโนโลยี และต้องเป็นประเทศที่ดำเนินธุรกิจได้ง่ายและไม่ซับซ้อนให้กับภาคธุรกิจ คือต้องมีบริการ One Stop Service ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดเวลา แต่ได้งานเท่าเดิมหรือมากกว่า
- ความมั่นคงและความปลอดภัยของเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลถือเป็นสิ่งสำคัญและมีกฎหมายคุ้มครอง เพราะฉะนั้นแล้วในการเข้ามาลงทุนไม่ว่าจะจากในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อให้นักลงทุนกล้าเข้ามาลงทุนในไทย
- การพัฒนาบุคลากรทางเทคโนโลยี สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าบุคคลากรด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยนั้นมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เห็นได้จากบุคลากรในภาครัฐที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีนั้นมีอยู่เพียง 0.5% กระทรวงดิจิทัลฯ จึงมีนโยบายในเรื่องบุคลากรเพื่อสอดรับกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่กำลังมา
โดยนโยบายในการเพิ่มบุคลากรด้านเทคโนโลยีประการแรก คือการ Upskill และ Reskill บุคลากรในภาครัฐเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ นอกจากนี้ยังได้สร้างความรู้ให้กับประชาชนผ่านการอบรมโดยทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และบริษัทเทคโนโลยี สุดท้ายคือโครงการ “Global Digital Talent Visa” เป็นการเชิญชวนบุคคลจากต่างประเทศในมหาวิทยาลัย 600 อันดับแรกของโลก โดยจะให้สิทธิพิเศษในการเข้ามาทำงานรวมถึงศึกษาในไทย อย่างเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ก็มีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ราว 6,000 คน
และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเดิมทีชาวต่างชาติที่มาพำนักในไทยต้องไปรายงานทุก 3 เดือน จะได้รับการการยกเว้นการรายงานตัว 1 ปี และอาจให้สิทธิในเรื่องภาษีและอื่นๆ ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยที่ไทย และจะต่อยอดไปสู่ผลดีในเรื่องการท่องเที่ยวและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามมา
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงจุดแข็งของไทยกับโอกาสในการแข่งขันกับชาติอื่น นายประเสริฐชี้ให้เห็นว่า “ประเทศไทยมีจุดแข็ง คือเรื่องโครงข่ายของระบบอินเทอร์เน็ตเรามีความเสถียร โดยเฉพาะเรื่อง 5G
ต้องบอกว่าเราไม่เป็นรองประเทศอื่นและขณะนี้เองเราได้มีการเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาร่วมกับเราในการสร้าง Data Center หรือในการลงทุนเรื่อง Cloud และ AI และไม่ใช่ลงทุนอย่างเดียวแล้วเราไม่ได้อะไรเลย แต่ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเราด้วย”
ทั้งนี้ หากเราจะเดินหน้าเข้าสู่คำว่า Digital Goverment หรือรัฐบาลดิจิทัล ยังต้องมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างซึ่งกระทรวงดิจิทัลได้วางนโยบายไว้พอสมควร เริ่มตั้งแต่นโยบาย “Go Cloud First” โดยทำระบบคลาวด์กลางของภาครัฐ จากเดิมที่แต่ละหน่วยงานจะมีคลาวด์แยกส่วนกัน แต่ถ้าหากรวมขึ้นคลาวด์เดียวสำเร็จจะเป็นประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวม ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจากข้อมูลที่รวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ
และเมื่อไม่นานมานี้นายเศรษฐาได้เข้าหารือกับผู้นำบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ โดยได้จัดทำข้อตกลงร่วมกับทั้งบริษัท Google Microsoft และ AWS เพื่อเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สร้าง Data Center ตลอดจนยกระดับการใช้งานคลาวด์และ AI เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชนในบริการภาครัฐ ซึ่งคาดว่าในปี 2573 การลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้มากกว่า 1.4 แสนล้านบาท และการจ้างงานอีกกว่า 50,000 ตำแหน่ง
จัดการโจรไซเบอร์ งานด่วนที่ต้องเร่งแก้ไข
นอกจากนโยบายที่เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับประเทศแล้ว ทางกระทรวงดิจิทัลฯ ยังต้องเดินหน้าจัดการกับปัญหา Call Center ที่ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่านับตั้งแต่ปี 2565 จนถึงเดือนตุลาคม 2566 มีจำนวนคดีออนไลน์รวมกว่า 32,00 เรื่อง ซึ่งมีทั้งเรื่องการหลอกลวงปลอมแปลง โพสต์กลั่นแกล้ง ขายของผิดกฎหมาย และสื่อลามก
ซึ่งนายประเสริฐระบุว่าตั้งแต่เข้ามาทำงานได้ดำเนินการปิดเว็บไซต์รวมถึงร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง Facebook TikTok รวมถึง Social Media รายอื่น เพื่อขอความร่วมมือในการปิดกั้นโฆษณาที่เป็นการหลอกลวงพี่น้องประชาชนซึ่ง ณ ขณะนี้ก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง โดย Facebook ได้ปิดโฆษณาหลอกลวงไปแล้วหลายร้อยรายการ และมีการติดตามกันอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ยังมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือศูนย์ AOC 1441 ซึ่งเป็น One Stop Service ให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์เพื่ออายัดบัญชีคนร้ายให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมงผ่านความร่วมมือกับแบงก์ชาติ ธนาคาร ตำรวจ ปปง. และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ในการทำงานบูรณาการร่วมกันที่ศูนย์ดังกล่าว
และจากเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นและเป็นประเด็นที่คนตั้งคำถามถึงระบบเตือนภัยที่แจ้งเตือนสถานการณ์หรือให้คำแนะนำเช่นเดียวกับระบบเตือนภัยที่ใช้ในหลายประเทศ นายประเสริฐระบุว่าจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมานั้นไม่ว่าเป็นที่ห้างสรรพสินค้ากลางเมือง หรือที่ต่างจังหวัด เป็นสิ่งสะท้อนว่าระบบเตือนภัยของไทยต้องมีการยกระดับขึ้น
ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงฯ ได้หารือกับสำนักงาน กสทช.ในการพัฒนาระบบ Cell Broadcast ที่จะส่งข้อความเตือนภัยไปยังมือถือของประชาชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาไม่เกิน 1 ปี แต่หากมีเหตุฉุกละหุกเกิดในช่วงนี้จะมีระบบ “Location Base Service (LBS)” เพื่อส่ง SMS บริเวณพื้นที่เจาะจง โดยร่วมมือกับเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ทั้ง AIS True และ NT ให้สามารถดำเนินการได้หากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น
นายประเสริฐกล่าวทิ้งท้าย โดยได้ฝากเตือนไปยังประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมรวมถึงเว็บไซต์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ “ด้วยความที่เทคโนโลยีไปไกล ผู้ร้ายเขาต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้วย เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวง DES ที่จะต้องเดินนำหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้กับพี่น้องประชาชน”