ดินแดนแห่งอีกัวน่าในชนบทไทย ทำไมรัฐบาลยังไม่ส่งเสริม “การฆ่า” ก่อนสายเกินแก้


.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

หากคุณขับรถเพื่อไปชมหมอกยามเช้าที่เขาพระยาเดินธง หรือพักผ่อนในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี แล้วแวะพักที่ตำบลพัฒนานิคม คุณอาจสังเกตถึงความผิดปกติบางอย่าง ที่แตกต่างจากชนบททั่วไปของไทย

เพราะสิ่งที่เร้นกายอยู่ในหนองน้ำ ลำห้วย และบนต้นไม้สูงใหญ่ที่ให้ร่มเงา คือ สัตว์เลื้อยคลานสีสันสดใสที่มักพบเห็นในหน้าจอโทรทัศน์หรือสารคดี นั่นคือ “อีกัวน่า’ และไม่ใช่เพียง 1-2 ตัว แต่เป็นหลักสิบตัว ในจุด ๆ เดียว

“สวยไหมล่ะ ดูสิ” ร้อยโทสรรเสริญ ภูกาธร วัย 61 ปี ที่มาใช้ชีวิตวัยเกษียณที่ หมู่ 3 ตำบลพัฒนานิคม ชี้ให้บีบีซีไทยดูอีกัวน่าสีส้มสดยาวกว่า 1 เมตร ที่อยู่ห่างออกไปเพียง 3 เมตร เขายังบอกอีกว่า บนต้นมะขามสูงใหญ่ ตรงข้ามหนองน้ำท้ายบ้าน มีพวกมันอยู่อีกกว่า 30 ตัว

.

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

แม้จะเร้นกาย พลางตัวไปกับสีสันของธรรมชาติ หรือไม่ก็อยู่บนต้นไม้สูงจนมองเห็นได้ลำบาก แต่ร่องรอยการดำรงอยู่ของพวกมัน กระจายไปทั่วสวนผักของอดีตข้าราชการทหารรายนี้ “พอกินปุ๊บมันกินเป็นแถวเลย กินเฉพาะใบ เหลือก้านไว้” เขากล่าว พลางชี้ไปที่แนวผักที่แทบไม่เหลือใบ

“โมโหตอนมันไปกินผักนั่นแหละ จะฆ่ามันทิ้งด้วยซ้ำ” ร.ท.สรรเสริญ เปรยออกมา แต่ยอมรับว่า ยังไม่เคยทำร้ายอีกัวน่า

แม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะส่งเจ้าหน้าที่ไปจับอีกัวน่าทั่วตำบล รวมหลายร้อยตัว นับแต่กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าสื่อไทยว่า เกิดปรากฏการณ์อีกัวน่า ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่น หรือ “เอเลียนสปีชีส์” ระบาดเป็นบริเวณกว้าง แต่มาวันนี้ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 พาบีบีซีไทยไปดูว่า ยังมีอีกัวน่าอยู่ชุกชุม รวมถึงตัวใหญ่ขนาด 1-1.5 เมตร แม้จะบางตาลงไปบ้างก็ตาม

“เฉพาะในหมู่ 3 ของผม น่าจะเป็นหลักพัน ทั้งตำบลก็ประมาณหลายพันตัว” รวบ ชัยวัต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.พัฒนานิคม ระบุ

“จะให้มัน (อีกัวน่า) เป็นศูนย์เลยเนี่ย คงเป็นไปไม่ได้ เพราะแพร่กระจายไปทั่วแล้ว”

.

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

บีบีซีไทยได้ตรวจสอบกับกรมปศุสัตว์ จ.ลพบุรี ซึ่งประเมินว่า อีกัวน่าได้แพร่พันธุ์ไปอย่างน้อย 3 ตำบลใน จ.ลพบุรี แล้ว รวมถึง ต.พัฒนานิคม และ ต.ดีลัง

นี่คือเรื่องราวของชาวบ้านในแถบชนบทไทย ที่ต้องใช้ชีวิตกับสัตว์ต่างถิ่นขนาดยักษ์อย่างอีกัวน่า กับคำถามว่า รัฐไทยควรดำเนินมาตรการ “ฆ่า” สัตว์เลื้อยคลาน ที่หลายคนนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเอกซ์โซติค (exotic) เหล่านี้ ก่อนจะสายไปเหมือนในบางพื้นที่ของโลก ที่เผชิญปัญหาคล้ายกันหรือไม่

ชนบทไทย VS อีกัวน่า

“ผมกลัวลิงมากกว่า” รวบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.พัฒนานิคม ตอบคำถามบีบีซีไทยที่ถามว่า กลัวอีกัวน่าหรือลิงมากกว่ากัน “อิกัวน่าไม่เข้าบ้านเลย มันจะอยู่ตามต้นไม้ เห็นคนก็วิ่งหนี ไม่เหมือนลิง บุกเข้าบ้าน รื้อข้าวของ”

รวบ ย้ายมาอาศัยใน ต.พัฒนานิคม เมื่อราว 20 ปีก่อน เขาบอกว่าสมัยนั้นความเจริญยังเข้าไม่ถึง พื้นที่ที่เขาอยู่เป็นเพียงหมู่บ้านขนาดเล็ก ผู้คนเน้นทำนา และปลูกผักสวนครัวขาย แต่สิ่งที่ย้อนแย้งกับภาพลักษณ์ชนบทช่วงทศวรรษที่ 2540 ก็คือ เริ่มเห็นอีกัวน่าแล้วตั้งแต่สมัยนั้น

“เห็นครั้งแรกก็ตกใจ เรายังไม่รู้จักคำว่าอีกัวน่า เรียกมันว่ากิ้งก่ายักษ์ มายังไงนี่ตัวใหญ่จัง” แต่นานวันไป ยิ่งเห็นบ่อยเข้า เขาก็มองว่า “ดูแล้วมันก็สวยดี”

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

อีกัวน่า เป็นสัตว์ควบคุมกลุ่มที่ 1 และเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่ผู้ครอบครองต้องแจ้งขึ้นทะเบียน โดยข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ชี้ว่า ช่วงปี 2543-2564 มีการนำเข้าสัตว์เลื้อยคลาน 199 ชนิด รวม 238,774 ตัว ในจำนวนนี้ เป็นอิกัวน่า 5,877 ตัว แต่ไม่มีข้อมูลถึงการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น

ดังนั้น กรมอุทยานฯ จึงเชื่อว่า อีกัวน่าที่แพร่พันธุ์ในพื้นที่ ต.พัฒนานิคม เป็นผลมาจากผู้เลี้ยงนำมาปล่อยทิ้งไว้ จนมันแพร่พันธุ์กันเองในธรรมชาติ และตอนนี้ ได้ออกมาตรการห้ามการนำเข้า พร้อมร้องขอให้ผู้ครอบครองอีกัวน่าลงทะเบียนอย่างถูกต้อง

ส่วนที่มาของ “อีกัวน่าแห่งลพบุรี” เป็นเรื่องเล่าที่ยังหาข้อเท็จจริงมาสนับสนุนไม่ได้ บางสื่อรายงานว่า วัยรุ่นจากกรุงเทพฯ นำอิกัวน่าตัวผู้-ตัวเมีย คู่หนึ่งมาเลี้ยงไว้แล้วปล่อยสู่ธรรมชาติ บ้างระบุว่า มาจากรีสอร์ตที่เลิกกิจการไป

ลำไพ สุวรรณ ที่เลี้ยงปศุสัตว์อยู่ในพื้นที่ เล่าว่า พ่อแม่ของเธอเคยรับงานช่วงถางป่าให้กับนายทุนรายหนึ่งเมื่อ 30 ปีก่อน และกลับมาเล่าให้เธอในวัยเด็กฟังว่า “ไปเจออีกัวน่า เขาขังไว้… ทีนี้พอเขาเลิกกิจการ ก็คงจะปล่อย”

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

บีบีซีไทยพบ อิกัวน่าขนาดเล็กและขนาดกลางหลายตัวในพื้นที่เลี้ยงเป็ดเลี้ยงห่านของลำไพ เธอเล่าว่า มักพบพวกมันมานอนอาบแดดริมบ่อน้ำอยู่บ่อย ๆ และเชื่อว่า ละแวกบ้านของเธอมีอิกัวน่านับร้อยตัว

“ตัวเล็กตัวน้อยเป็นร้อย ทีนี้ก็จับกันไปเยอะ” เธอกล่าว แต่ไม่ใช่มีเพียงหน่วยงานรัฐที่เข้ามาจับอิกัวน่า แต่มีคนจังหวัดอื่น อาทิ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และชัยภูมิ มาขอจับอิกัวน่าในพื้นที่ของเธอ เพื่อเอาไปเลี้ยงที่วัดเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามาดูด้วย แต่ “เห็นเขาว่า พวกมันหนีไปไหนแล้วก็ไม่รู้”

ควรฆ่าหรือไม่… ก่อนสายเกินไป

อีกัวน่าเขียว (Green Iguana) มีสถานะเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในกว่า 20 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ถึงขั้นที่รัฐบาลท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น รัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ อนุญาตให้ประชาชนฆ่าพวกมันได้ในพื้นที่สาธารณะ 22 แห่งที่กำหนดไว้

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species) หมายถึง เอเลียนสปีชีส์ที่แพร่กระจายพันธุ์ได้ดี และขยายอิทธิพลในพื้นที่นั้น ๆ จนเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว

เมื่อเดือน ก.ย. 2566 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศน์บริการ หรือ อิปเบส (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services: IPBES) ได้ออกรายงานที่รับรองโดยนักวิทยาศาสตร์นับร้อยคน ชี้ว่า มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในปัจจุบันกว่า 37,000 ชนิดทั่วโลก และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 200 สปีชีส์ทุกปี จากกิจกรรมของมนุษย์

.

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

“แต่ละปี ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปี” ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ บอกกับบีบีซีไทย พร้อมเสริมว่า รายงานของอิปเบส เน้นว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเป็น 1 ใน 5 สาเหตุการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ท้องถิ่น

ประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ ที่หลายคนรู้จักกันดี อาทิ ผักตบชวา ปลาซัคเกอร์ และปลาหมอสีคางดำ ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาและควบคุมประชากรของพวกมันได้ คำถามคือ แล้วปรากฏการณ์อีกัวน่าแพร่พันธุ์ที่เกิดขึ้นใน ต.พัฒนานิคม ถือว่า อีกัวน่า เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานได้หรือยัง

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่า มันแพร่กระจายได้นะ มันตั้งถิ่นฐานได้… จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดธรรมชาติ ก็สะท้อนว่าไม่มีสัตว์ผู้ล่าในธรรมชาติ” ดร.เพชร วิเคราะห์ และเสนอว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ-ยกระดับมาตรการจัดการ ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การจับอีกัวน่า เพื่อหวังจะควบคุมประชากรของมัน เหมือนที่รัฐไทยกำลังทำอยู่ อาจเป็นเพียงมาตรการควบคุมระยะสั้น เพราะปล่อยไว้อีกไม่นาน อีกัวน่าก็จะแพร่พันธุ์และระบาดมากขึ้นอีก ถึงจุดหนึ่ง ดร.เพชร ชี้ว่า “การกำจัดเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้… ต้องเอาออก หรือควบคุมตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” เพราะหากยับยั้งการระบาดไว้ไม่ทัน “จนกระจายไปยังระบบนิเวศธรรมชาติ เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อันนั้น เริ่มเป็นเรื่องใหญ่”

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

แต่สำหรับชาวบ้านหมู่ 3 ต.พัฒนานิคม จากที่บีบีซีไทยลงพื้นที่สอบถาม เกือบทั้งหมดระบุว่า ไม่อยากฆ่าพวกมัน แม้รัฐบาลจะอนุญาตให้ทำเหมือนโมเดลของรัฐฟลอริดา

“ไม่ครับ กลัวบาป มันเป็นสัตว์น่าสงสาร ไม่สามารถตอบโต้อะไรเราได้ และมันอยู่ร่วมกับเราได้” ผู้ใหญ่บ้าน รวบ บอกบีบีซีไทย แต่เมื่อถามว่า หากมีอีกัวน่าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยตัวอยู่รอบบ้านจะทำอย่างไร เขาตอบว่า ก็คงต้องขอให้ภาครัฐมาช่วยจับไปบ้าง

“อีกัวน่ามันเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านไปแล้ว ลูกหลานเราเกิดมาก็บอกเขาว่า นี่เป็นอีกัวน่า”


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *