เมื่อ 17 นาทีที่ผ่านมา
ทุกวันนี้ทาสแมวมีตัวเลือกสำหรับอาหารที่จัดเตรียมให้กับเจ้านายสี่ขาหลายชนิด ทั้งขนมแมวเลีย อาหารเปียก เนื้อสด และอาหารแห้งอัดเม็ดหลากรสชาติ
แต่อาหารยอดนิยมตลอดกาลที่น้องเหมียวทั่วโลกดูจะชื่นชอบกันมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นปลาทูน่า (tuna) กลิ่นรสเข้มข้น ที่แค่ได้ยินเสียงเปิดกระป๋อง แมวทั้งหลายก็วิ่งกรูกันมารอกินอย่างใจจดใจจ่อแล้ว
หลายคนสงสัยว่า เหตุใดปลาทูน่าจึงได้เอร็ดอร่อยเป็นพิเศษสำหรับแมวทุกสายพันธุ์ จนถึงขั้นทำให้น้องเหมียวคลั่งไคล้ ส่งเสียงร้องหง่าวไปด้วยกินไปด้วยอย่างพึงพอใจเป็นที่สุด เหมือนกับได้เสพกัญชาแมวหรือตำแยแมวก็ไม่ปาน
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อการดูแลสัตว์เลี้ยงวัลแทม (WPSI) ของสหราชอาณาจักร ค้นพบกลไกพิเศษในการรับรสของแมว โดยสารเคมีสองชนิดที่มีมากในเนื้อปลาทูน่า สามารถจะกระตุ้นให้ตัวรับ (receptor) ที่รับรู้รสอร่อยหรือ “อูมามิ” (umami) ตื่นตัวขึ้นได้มากเป็นพิเศษยิ่งกว่าอาหารชนิดอื่น
อูมามินั้นเป็นรสกลมกล่อมที่ให้ความอร่อย นอกเหนือไปจากรสชาติพื้นฐานอย่างรสหวาน, เปรี้ยว, เค็ม, และขม โดยอูมามิมีความคล้ายคลึงกับรสชาติของเนื้อสัตว์ จึงแน่นอนว่าแมวที่กินเนื้อเป็นหลัก และอาศัยอาหารประเภทเนื้อเพียงอย่างเดียวในการดำรงชีวิต (obligate carnivore) จะต้องชื่นชอบและเสพติดการกินปลาทูน่าอย่างไม่ต้องสงสัย
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า แมวไม่สามารถรับรู้รสหวานและรสขมได้เหมือนกับมนุษย์ เนื่องจากยีนที่ควบคุมตัวรับรสชาติดังกล่าวไม่ทำงาน ซึ่งอาจเป็นผลจากวิวัฒนาการที่แมวไม่จำเป็นจะต้องกินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตอีกต่อไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องรับรู้รสขม ซึ่งเป็นประสาทสัมผัสที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการหลีกเลี่ยงพืชมีพิษ ในบรรดาสัตว์กินพืช (herbivore) และสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ (omnivore) อย่างคนเรานั่นเอง
ลักษณะพิเศษในการรับรู้รสชาติของแมว ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ WPSI ต้องการค้นหาว่าสารเคมีที่ให้รสชาติแบบใดกันแน่ ที่จะทำให้แมวเหมียวตื่นตัวและตอบสนองได้มากที่สุด
ผลวิเคราะห์เนื้อเยื่อของต่อมรับรสในลิ้นแมว พบว่ามีการแสดงออกของยีน TAs1r1 และ Tas1r3 ซึ่งทำหน้าที่รับรู้รสอูมามิเหมือนกับที่พบในมนุษย์ แต่บริเวณตรงตัวรับของเซลล์ที่จับกับกรดกลูตามิกและแอสปาร์ติก ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ให้รสอูมามิ เกิดการกลายพันธุ์ไปจนแตกต่างกับของคนเรา ทำให้แมวมีกระบวนการรับรสอร่อยที่แตกต่างจากมนุษย์
ทีมผู้วิจัยพบว่า ตัวรับของเซลล์ที่รับรู้รสชาติในลิ้นแมว จำเป็นจะต้องจับกับนิวคลีโอไทด์บางชนิดในอาหารเสียก่อน จึงจะสามารถจับกับกรดอะมิโนที่ทำให้เกิดรสอูมามิต่อไปได้ ซึ่งนิวคลีโอไทด์นี้ได้แก่ไอโนซีนโมโนฟอสเฟต และกรดอะมิโนชนิดแอล-ฮิสทิดีน ซึ่งพบได้มากในเนื้อแดงและยีสต์ ทั้งยังมีอยู่ในปลาทูน่าในปริมาณที่สูงยิ่งกว่าปลาชนิดอื่นด้วย
ในการทดสอบกับแมว 25 ตัว ทีมผู้วิจัยได้วางชามใส่น้ำที่มีส่วนผสมของกรดอะมิโนและนิวคลีโอไทด์ชนิดต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งผลปรากฏว่าแมวเลือกดื่มน้ำจากชามที่มีสารเคมีกระตุ้นการรับรู้รสอูมามิอยู่มากที่สุด
ผลการทดลองในครั้งนี้ สามารถนำไปประยุกต์ในการคิดค้นอาหารแมวสูตรแสนอร่อย รวมทั้งใช้ปรับปรุงรสชาติของยาให้น้องเหมียวสามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมที่ก้าวล้ำไปอีกขั้นสำหรับคนรักแมวกันเลยทีเดียว