ตลาด จยย.ครึ่งปีหลังสะดุด เจอ 2 เด้งสินเชื่อเข้ม/กฎใหม่แบงก์ชาติ


ค่ายจักรยานยนต์ระบุตลาดครึ่งปีหลังฝืดต่ออีก ผลจากไฟแนนซ์เข้ม-ปล่อยสินเชื่อยาก ลุ้นปีนี้ขายแค่ 1.7 ล้านคัน ส่วนปี 2567 จับตาแบงก์ชาติ ออกมาตรการควบคุมสัญญาเช่าซื้อกระทบอีกระลอก

แหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมตลาดช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาว่า มีอัตราเติบโตค่อนข้างสูงมาก ประมาณ 11% โดยอยู่ที่ 1.157 ล้านคัน เป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงของสถาบันการเงินที่แย่งกันปล่อยสินเชื่อแบบง่าย ๆ รวมถึงแคมเปญต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ

แต่ในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์เริ่มเปลี่ยน คาดว่าตลาดจะเริ่มชะลอตัว ด้วยปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1.ภาวะหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้น โดยสังเกตจากยอดอนุมัติ เดิม 50-60% เหลือเพียง 10% เท่านั้น 2.สภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่แน่นอน และเข้าสู่ฤดูฝนทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจชะลอตัวลง และ

3.ความกังวลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมออกมาตรการควบคุมสัญญาเช่าซื้อของรถจักรยานยนต์ จากเดิมไฟแนนซ์จะมีรายได้เยอะ ก็จะถูกควบคุมตามความเป็นจริง โดยคาดการณ์ว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในต้นปี 2567 หลังจากก่อนหน้าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกมาตรการควบคุมดอกเบี้ยไปแล้ว

“วันนี้แบงก์ชาติเข้ามาดูแลและคุมทั้งระบบ รอ ครม.อนุมัติ ถัดจากนั้น 90 วันประกาศบังคับใช้ได้เลย หากนับตามไทม์ไลน์ ก็ราว ๆ ต้นปีหน้า”

ทั้งนี้หากมาตรการควบคุมสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มีผลบังคับใช้ได้จริงเท่ากับจะเป็นการสะท้อนตลาดที่เป็นจริงมากขึ้น แต่นั่นก็หมายความว่า อาจจะทำให้ตลาดในปี 2567 ต้องตกอยู่ในภาวะชะลออีกก็ได้ และความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคจะต้องถูกคัดกรองมากขึ้น

Advertisement
@media (min-width: 1139.98px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle1 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }@media (max-width: 768px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle1 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }

ส่วนตลาดรถจักรยานยนต์ในปีนี้ ยังมีความมั่นใจว่าความต้องการของตลาดจะอยู่ที่ระดับ 1.75 ล้านคัน เนื่องจากยังมีปัจจัยบวกจากการเลือกตั้งและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนซึ่งจะส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทย แต่คาดการณ์ว่าตลาดรวมจะอยู่ที่ 1.8-1.85 ล้านคัน จากปีที่แล้ว (2565) ที่มียอดจดทะเบียน 1.8 ล้านคัน เติบโตขึ้น 12% แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์กลุ่มครอบครัว (family) มีสัดส่วนอยู่ที่ 51.8% ของตลาด, รถจักรยานยนต์กลุ่มออโตเมติกส์ (A.T.) มีสัดส่วนอยู่ที่ 43.5% เพิ่มขึ้น 0.5% จากปีก่อนหน้า, รถจักรยานยนต์กลุ่มสปอร์ต (sport) มีสัดส่วนอยู่ที่ 3.7%

ด้านนายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายรถจักรยานยนต์ “ฮอนด้า” เปิดเผยว่า ภาพรวมฮอนด้าใน 7 เดือนแรก มียอดขาย 940,000 คัน เติบโตขึ้น 12% แต่ทั้งนี้มองว่าจากนี้ไปตลาดจะเริ่มปรับตัวลดลง หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกกฎหมายคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อเร็ว ๆ นี้ รวมถึงกำลังซื้อของลูกค้าที่ชะลอตัวลงค่อนข้างชัดเจน

ยอดขายเดือน ส.ค.ปีนี้ เป็นเดือนแรกที่มียอดขายหดตัว เมื่อเทียบกับปีที่แล้วลดลงไป 5% คาดว่าทั้งปีตลาดรวมรถจักรยานยนต์ จะอยู่ที่ประมาณ 1.8-1.85 ล้านคัน หรือเติบโตกว่าปีที่แล้ว 3% โดยฮอนด้าตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1.4 ล้านคัน เติบโตเท่ากับตลาดรวม

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากบริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด ที่เชื่อว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในปีนี้จะเติบโตราว ๆ 10% ส่วนยามาฮ่านั้น จะเติบโตอย่างน้อย 4% และมีการปรับเป้าขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิมประกาศไว้ที่ 295,000 คันนั้น มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเพิ่มเป็น 300,000 คันในปีนี้ มีส่วนแบ่งตลาด 16.5% ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด และการเดินหน้าสร้างแบรนด์และความพึงพอใจให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

Advertisement
@media (min-width: 1139.98px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle2 { min-width: 336px;
min-height: 280px; } }@media (max-width: 768px) { #ud-dfp-ad-pos-pc_inarticle2 { min-width: 300px;
min-height: 250px; } }

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *