‘Helpers care everyone’ เพื่อนใจดูแลสุขภาพจิตในชุมชน  


บนเวทีประชุมโครงการสมัชชาสุขภาพจิตนิสิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและเยาวชน เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ของผู้ป่วยสุขภาพจิตในประเทศไทยอย่างน่าสนใจ พร้อมชวนตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมปัญหานี้จึงสำคัญ และทางออกที่ดีสำหรับแก้ไขปัญหานี้ คืออะไร 

นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ยังกล่าวให้เห็นถึงความสำคัญของผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต ที่กำลังคุกคามคนไทย โดยเฉพาะวัยรุ่น เยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศกำลังเผชิญอยู่อย่างหนักในขณะนี้ และอีกหลายส่วนไม่รู้ตัวว่ามีสัญญาณป่วย หรือป่วยไปแล้วด้วย 

“75% ของผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ในกลุ่มนี้จะมีอาการทางจิตก่อนอายุ 18 ปี” นพ.ชลน่าน ให้ภาพ พร้อมย้ำความว่า ขณะนี้มีเด็กวัยรุ่นไทย มีสัญญาณอาการสุขภาพจิตมาให้เห็นแล้ว และปัญหาสุขภาพจิต มีผลกระทบต่อวิธีคิดและจิตใจของเยาวชนที่ถูกกัดกร่อนช้าๆ อย่างไม่รู้ตัว

มากไปกว่านั้น ผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิตในเยาวชน จะนำไปสู่หยุดชะงักการพัฒนาของสังคม เพราะปัญหาสุขภาพจิตจะส่งผลกระทบระยะยาวในแง่การใช้ชีวิตต่อเยาวชนในอนาคต ซึ่งก็พันเกี่ยวมายังสังคมและชุมชนเข้าไปด้วย 

สำหรับสาเหตุสุขภาพจิตในเยาวชน นพ.ชลน่าน มองว่ามาจากหลายปัจจัย ทั้งจากตนเอง ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคม รวมถึงปัญหาการใช้ยาเสพติด แต่หลากสาเหตุก็นำไปสู่ความทุกข์ยากในจิตใจของเด็กไทย  

1

กระนั้น เมื่อมีความทุกข์ยากในจิตใจ ตลอดจนมีความเครียดที่อยากพูดคุย ระบาย เด็กเยาวชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป อย่างน้อยที่สุดพวกเขาเหล่านี้ก็อยากได้ใครสักคนที่รับฟัง หรือคอยให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้ 

“เราได้เห็นว่าเด็กไทยเป็นโรคซึมเศร้าเยอะมาก แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเด็กๆ มีปัญหา การเข้าถึงการรักษาอาจไม่ใช่เรื่องแรกที่พวกเขาคิด แต่เด็กๆ เยาวชนเหล่านี้จะนึกถึงคนใกล้ตัวมากกว่า” นพ.ชลน่าน กล่าว และให้ภาพว่าต่อไปว่า “คนใกล้ตัว อาจจะเป็นครอบครัว พี่น้อง เพื่อนสนิท หรือครูในโรงเรียน และแม้แต่ผู้นำชุมชน ซึ่งกลุ่มพวกนี้จะมีส่วนช่วยเหลืออย่างมากต่อการเยียวยาสุขภาพใจของคนในครอบครัว หรือในชุมชน ประหนึ่งว่าเป็นเพื่อนทางใจให้กันและกัน”

แนวคิดนี้ไม่ได้มีอยู่บนอากาศ หากแต่ สธ. เดินหน้าทำจริงแล้วผ่านโครงการ “Helpers care everyone: เพื่อนแท้มีทุกที่ เพื่อนดีดูแลใจ” เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ใหญ่ของ สธ. โดยกรมสุขภาพจิต ที่ปรับแนวคิด และนำไปสู่วิธีการเพื่อให้เยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงการเยียวยาสุขภาพใจ หากพวกเขากำลังเผชิญปัญหากับคนที่ไว้ใจได้ และผ่านการอบรมแนะนำการดูแลสุขภาพจิตใจในเบื้องต้นได้ 

เมื่อ “The Coverage” เข้าไปดูรูปแบบรายละเอียดของโครงการ “Helpers care everyone” ก็พบว่าเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจทีเดียว 

คอนเซปต์ คือ ให้เพื่อน เป็นผู้ช่วยเหลือ หรือ ‘Helper’ ที่จะอยู่เคียงข้างเมื่อเรามีปัญหาและช่วยกันแก้ปัญหาไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งทุกคนในชุมชนสามารถเป็นเพื่อนทั้งกับตนเองและคนอื่นได้ เพียงแต่ห่วงใยและใส่ใจอย่างแท้จริง เพื่อช่วยเหลือต่อคนรอบข้าง ด้วยหลัก 3ส หรือ 3L ในการปฐมพยาบาลทางใจ ประกอบด้วย  

1

ส. 1 สอดส่อง มองหา (Look) โดยค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น ผู้ที่แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ เครียด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช โดยการสอดส่องมองหาที่มีประสิทธิภาพสามารถเกิดกลไกกัลยาณมิตร เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและลดความตื่นตระหนกในสังคม

ส. 2 ใส่ใจรับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ รวมทั้งใช้ภาษากาย เช่น จับมือ โอบกอด เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจ 

ส. 3 ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) โดยให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็น ในเบื้องต้นให้ส่งต่อด้วยการแนะนำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบรู้จัก และเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตตามสิทธิที่ควรได้รับ หากไม่ดีขึ้น เช่น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เครียดรุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้ป้องกัน ส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาและสามารถให้บุคลากรกรมสุขภาพจิตติดต่อกลับได้เพื่อดูแลต่อเนื่องระยะยาวที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเติมบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้ครอบคลุมยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ สธ. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจะจัดการร่วมกัน เพราะทุกวันนี้มีจิตแพทย์สังกัด สธ. ที่ยังไม่เพียงพอ ด้วยตัวเลขจิตแพทย์ 1.1 คนดูแล 1 แสนประชากร ก็เป็นการยากที่จะดูแลได้ทั้งหมด 

แต่การมีเครือข่ายจากชุมชน ครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนๆ ของเยาวชน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้ามามีส่วนช่วยให้สถานการณ์สุขภาพจิตดีขึ้น และจะส่งผลต่อภาพรวมในการยกระดับสังคมให้ไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นได้ในอนาคต


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *