
หากพูดถึงวัฒนธรรมที่ผู้คนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และยังคงฝังรากลึกลงในชีวิตประจำวัน ภาพจำแรกมักนึกถึง ‘วัฒนธรรมด้านอาหาร’ หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการดำรงชีวิต การแสดงศิลปะ เทศกาล ไปจนถึงประเพณีต่างๆ และกลายเป็น ‘ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power)’ ของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส
รวมถึง ประเทศอิตาลี ที่มี ‘โครงการ EATALY’ ก่อตั้งโดยเอกชนเพื่อจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ตลอดจนวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศอิตาลี ปัจจุบันมีสาขากว่า 40 แห่งทั่วโลก หากขยายภาพให้ชัดขึ้น ประเทศเกาหลีใต้ ก็นับเป็นอีกประเทศในทวีปเอเชียที่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ โดยแกนหลักทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน ร่วมผลักดันและสนับสนุนผ่าน ‘ซีรีส์เกาหลี’ ปลุกกระแสอาหารเกาหลีให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล

ขณะที่ ประเทศไทย ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนที่มีเมนูอาหารโดดเด่น และเป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลก สอดรับกับข้อมูลของ Brand Finance บริษัทประเมินมูลค่าแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ได้จัดทำ Global Soft Power Index 2024 เผยให้เห็นถึงความทรงพลังของ “ซอฟต์ พาวเวอร์” และมีการจัดอันดับจากทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 40 โดยมีซอฟต์ พาวเวอร์ด้านอาหารที่เป็นที่รู้จัก สร้างภาพจำ และสามารถดึงดูดชื่อเสียงให้ประเทศ
ความทรงพลังของ “ซอฟต์ พาวเวอร์”
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า อาหารไทยเป็นวัฒนธรรมสำคัญที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจชาวต่างชาติ ด้วยจุดแข็งที่มีรสชาติซับซ้อน รวมถึงมีวิธีการรับประทานที่หลากหลาย ส่งผลให้มีร้านอาหารไทยในต่างประเทศกว่า 12,000 ร้าน เฉพาะที่ประเทศสหรัฐฯ มีร้านอาหารไทยมากกว่า 6,000 ร้าน มูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านล้านบาท และเชื่อว่า ‘อาหารไทย’ นับเป็นประตูบานแรกในการส่งต่อวัฒนธรรมไทย แล้วตามด้วยทั้งหนังไทย เพลงไทย สินค้าไทย ไปสู่สายตาชาวโลก

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายผลักดัน ‘อาหารไทย’ ไปสู่ซอฟต์ พาวเวอร์โลก โดยให้ความสำคัญกับการผลิตเชฟอาหารไทยให้มีมาตรฐาน เพื่อยกระดับรายได้ของคนไทย ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 มีแผนดำเนินการจัดอบรมเชฟอาหารไทยมืออาชีพ ผ่าน ‘โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย’ เป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะด้านอาหารที่มีให้ดีกว่าเดิม และสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายที่ภาครัฐดำเนินการในระยะสั้น ส่วนแผนการดำเนินการในระยะยาวมุ่งสนับสนุนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมการส่งออกเชฟอาหารไทยที่มีมาตรฐาน นำไปสู่การส่งออกวัตถุดิบไทยเพิ่ม และทำให้ต่างชาติหลงรักวัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้น
“ร้านอาหารไทยเองเป็นสื่อกลางที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมที่สร้างซอฟต์ พาวเวอร์อื่นๆ ได้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทย ซึ่งเวลาต่างชาติเข้าไปในร้านอาหารไทย เขาจะได้เรียนรู้ภาษาไทยผ่านเมนู รู้จักเสื้อผ้าและการตกแต่งร้านแบบไทย เพลงไทยที่ร้านเปิด วิธีการกินข้าวแบบไทยที่เป็นการแบ่งปันกัน หรือการกินเป็นสำรับ ทำให้นอกจากมากินข้าวก็จะได้รู้จักเสน่ห์ของไทยได้อีกหลายอย่าง”
‘LINE MAN Wongnai’ เชื่อม รัฐ-เอกชน-ผู้บริโภค
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อไปอีกว่า หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญของภาคเอกชน คือการที่แพลตฟอร์มด้านอาหารชั้นนำของไทยอย่าง LINE MAN Wongnai นำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ยังเป็นสถาบันการันตีเรื่องอาหารที่น่าเชื่อถือ และมีความพร้อมในการผนึกกำลังกับภาครัฐในการผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ด้านอาหารไทยให้ขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของวงการอาหารโลก
การที่ภาคเอกชนมีการมอบรางวัลให้แก่ร้านอาหารจะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างร้านอาหาร นำมาสู่การพัฒนาในทุกด้าน ทั้งสูตรอาหาร แพ็กเกจ การทำอาหารให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงทำอาหารให้สะอาด มีคุณภาพ นำไปสู่การพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างแท้จริง
“รัฐบาลมีความยินดีที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนอย่าง LINE MAN Wongnai โดยหนึ่งในวิธีการช่วยผลักดันภารกิจซอฟต์ พาวเวอร์ คือ การมอบรางวัลให้แก่ร้านอาหารที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยสามารถหาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมร้านลับ ร้าน Hidden Gem เอาไว้อย่างครบถ้วน นำไปสู่การสร้างชื่อซอฟต์ พาวเวอร์อาหารไทยให้มีชื่อเสียงไปไกลถึงระดับโลก”
ดัน ‘อาหารไทย’ สู่ ซอฟต์ พาวเวอร์โลก
ขณะเดียวกัน นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า อาหารไทยถือเป็นวัฒนธรรมที่สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจบนเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็น ผัดกะเพรา ต้มยำ ส้มตำ ข้าวเหนียวมะม่วง รวมถึงเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย

“LINE MAN Wongnai มีความมุ่งมั่นเพื่อร่วมผลักดันอาหารไทย และนำตราสัญลักษณ์ Users’ Choice มาใช้เป็นหนึ่งในพลังการขับเคลื่อนวงการอาหารไทยสู่ระดับโลก รวมถึงสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ตลอดจนสร้างความภูมิใจ และสร้างแรงจูงใจในการผลักดันการรักษามาตรฐาน พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง”
ผุดรางวัล ‘ร้านอาหารซอฟต์พาวเวอร์’
นายยอด เผยอีกว่า รางวัลของเรามีมายาวนานกว่า 11 ปี ครอบคลุมร้านทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นร้านดังคนรีวิวเยอะ หรือร้านลับที่คนในพื้นที่ไปรับประทาน ตั้งแต่ร้านสตรีทฟู้ด ไปจนถึงร้านไฟน์ไดน์นิ่ง (Fine dining) โดยความพิเศษของรางวัล LINE MAN Wongnai Users’ Choice ในปีนี้ คือ การเพิ่มประเภทรางวัล ‘ร้านอาหารซอฟต์ พาวเวอร์’ ที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติเมื่อมาเที่ยวประเทศไทย และ ‘รางวัลสุดยอดร้านอาหารประจำภูมิภาค’ สอดรับกับนโยบายผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ด้านอาหารของทางรัฐบาล รวมถึงสร้างโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

สำหรับร้านอาหารที่ได้รับรางวัลซอฟต์ พาวเวอร์ จำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย เมนูกะเพราจากร้านเผ็ดมาร์ค เมนูส้มตำจากร้านเผ็ดเผ็ด เมนูข้าวเหนียวมะม่วงจากร้านข้าวเหนียวมะม่วงป้าเล็ก – ป้าใหญ่ (วงเวียน 22) เมนูหมูกระทะจากร้านเฮงเฮง หมูกะทะ เมนูผัดไทยจากร้านบ้านใหญ่ ผัดไทยเตาถ่าน และเมนูชาไทยจากร้าน Karun Thai Tea
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลสุดยอดร้านอาหารไทยประจำภูมิภาค จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ ลาบต้นข่อย จากภาคเหนือ หมอมูดง จากภาคใต้ ป้าตุ่มก๋วยเตี๋ยวแกงส้ม จากภาคตะวันออก โกหมาก หัวหิน จากภาคตะวันตก และแจ่วฮ้อน (ท่าขอนยาง) จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โลกต้องรับรู้ ว่าเมืองไทยมี ‘ผัดกะเพรา’

ด้าน นายกิตติเดช วิมลรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ร้านเผ็ดมาร์ค’ เผยว่า จุดเริ่มต้นของร้านเผ็ดมาร์ค เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้ง 4 คน ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการให้โลกรับรู้ว่า ประเทศไทยไม่ได้มีเพียงผัดไทยและต้มยำกุ้ง จึงนำ ผัดกะเพรา เมนูยอดนิยมที่คนทั่วไปมักสั่งในร้านอาหารเมื่อต้องการรสชาติที่คุ้นเคย มาเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้รับรู้ ผ่านการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และพัฒนาเพื่อหาผัดกะเพราแบบที่ชอบมากที่สุด รวมถึงคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัวที่เลี้ยงโดยเกษตรกรไทย ข้าวหอมมะลิไทย และพริก 5 ชนิด เป็นต้น
สำหรับรางวัล LINE MAN Wongnai Users’ Choice ‘ร้านอาหารซอฟต์ พาวเวอร์’ ประเภทเมนูกะเพรา นับเป็นก้าวสำคัญของร้านเผ็ดมาร์ค รวมถึงเป็นการยืนยันว่าหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และ LINE MAN Wongnai ได้เล็งเห็นแรงขับเคลื่อนเล็กๆ และเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการผลักดัน ‘เมนูผัดกะเพรา’ ให้เป็นหนึ่งในซอฟต์ พาวเวอร์ด้านอาหารไทย สู่สายตาชาวโลก
“สำหรับมุมมองต่ออาหารไทยของผมในวันนี้ค่อนข้างแตกต่างจาก 20 ปีก่อน ควรภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมอาหารไทย เพราะเรามีทั้งเมนูแกงที่อร่อยที่สุดในโลก เมนูสตรีทฟู้ดที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก รวมถึงมีเหตุการณ์แบบนี้ที่เกิดขึ้นกับประเทศเราอย่างต่อเนื่อง”

เชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ทางคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของหน่วยงานเอกชนในการช่วยผลักดันเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าความร่วมมือกับทุกภาคส่วนนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการช่วยผลักดันและต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย
ยกตัวอย่างเช่น ‘โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย’ ที่ทางภาครัฐมีการพัฒนาเชฟชุมชน และต่อยอดสู่ร้านอาหารในท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยกำลังของแพลตฟอร์มอย่าง LINE MAN Wongnai ในการเพิ่มโอกาสให้กับร้านอาหารในท้องถิ่นสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ผมฐานะเชฟที่ทำอาชีพกับหลายๆ ท่าน ต้องบอกว่ามีความภาคภูมิใจมาก ในอนาคตยังวางแผนมุ่งผลักดันอีก 11 ด้าน โดยมีอุตสาหกรรมอาหารเป็นเรือธงที่รวบรวมซอฟต์ พาวเวอร์อีกหลายด้านเข้าด้วยกัน” เชฟชุมพล ทิ้งท้าย
แม้ปัจจุบัน ‘อาหารไทย’ จะได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนที่เล็งเห็นความสำคัญ ทว่าเส้นทางของอาหารไทยในฐานะซอฟต์ พาวเวอร์ จะก้าวไปในทิศทางไหน มีการเตรียมพร้อมสู่โมเดลซอฟต์ พาวเวอร์ด้านอาหารอย่างไร คงต้องติดตาม และหวังว่าการร่วมมือครั้งนี้จะช่วยผลักดันอาหารไทยให้อยู่ในความสนใจของทั่วโลกได้อย่างแท้จริง