ADVANC กำไรไตรมาส 3 พุ่ง 35% ที่ 8,146 ล้านบาท อินเทอร์เน็ตบ้านโต
TRUE โต้รื้อเสาสัญญาณ อินเทอร์เน็ตคุณภาพต่ำ ลุยทำ “Single Grid” ลดพื้นที่ซ้ำซ้อน
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE รายงานผลดำเนินงาน ประจำไตรมาส 3 ปี 66 ของบริษัทฯ มีรายได้รวม 50,137 ล้านบาท ลดลง 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และพลิกขาดทุนสุทธิ 1,598 ล้านบาท ต่างจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร
เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี 66 มีรายได้รวม 152,213 ล้านบาท และขาดทุนรวม 4,212 ล้านบาท
สำหรับในไตรมาสนี้ บริษัทฯ มีผู้ใช้บริการรวม 51.3 ล้านราย แบ่งเป็น
- ระบบเติมเงิน 35.7 ล้านราย
- ระบบรายเดือน 15.6 ล้านราย

ขณะที่รายได้ต่อผู้ใช้บริการต่อเดือน (ARPU) เฉลี่ย 198 บาท
โดยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มีรายได้ 31,540 ล้านบาท ลดลง 2.3% ธุรกิจออนไลน์มีรายได้ 5,910 ล้านบาท ลดลง 1.2% ธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิกมีรายได้ 1,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% และธุรกิจอื่น มีรายได้ 730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.9%
ทั้งนี้บริษัทฯ ยังมีรายได้จากการขาย 4,876 ล้านบาท ลดลง 33% เนื่องจากการเปิดตัว iPhone ในไตรมาสนี้ ส่วนรายได้ค่าเช่าโครงข่าย เท่ากับ 5,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% รวมถึงมีรายได้จากการเชื่อมต่อโครงข่าย เท่ากับ 342 ล้านบาท ลดลง 25.5%

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย เท่ากับ 28,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7%
ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 759,242 ล้านบาท ลดลง 4.3% จากสิ้นปี 65 และมีหนี้สินรวม 660,944 ล้านบาท ลดลง 4.9% จากสิ้นปี 65 ขณะที่เงินสดและรายการเทียบเท้าเงินสด เหลือ 25,250 ล้านบาท ลดลง 22.7% จากสิ้นปี 65
บล.เอเซียพลัส ระบุว่า TRUE มีผลขาดทุนสุทธิไตรมาส 3 ปี 66 แย่กว่าไตรมาส 3 ปี 66 ที่มีกำไร 44 ล้านบาท แม้การดำเนินงานจะชะลอลง แต่กลับมีผลขาดทุนสุทธิที่น้อยลงจากไตรมาส 2 ปี 66 เพราะมีการเครดิตภาษีจากกลับรายการภาษีเงินได้รอตัดบัญชีของ DTN (บ.ลูกของ DTAC) ส่วนการดำเนินงานที่แย่ลงเมื่อเทียบรายปี เพราะรายได้ตกต่ำลงโดยเฉพาะจากธุรกิจมือถือที่เป็นธุรกิจหลัก
ทั้งนี้แม้เชื่อว่าธุรกิจมือถือที่เป็นธุรกิจหลัก จะได้ผลบวกของฤดูกาลในไตรมาส 4 ปี 66 แต่เชื่อว่าจะถูกหักล้างจากค่าใช้จ่ายที่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายจากการควบรวมทำให้ ยังคงประมาณการขาดทุนสุทธิปี 2566-2567 ที่ 6 พันล้านบาท และ 4.1 พันล้านบาท ตามลำดับ

โดยประเด็นสำคัญงวดไตรมาส 3 ปี 66 คือ
1.รายได้ขายและบริการในงวด ไตรมาส 3 ปี 66 ค่อนข้างทรงตัวที่ 4.99 หมื่นล้านบาท (+2% QoQ, -5% YoY) เป็นผลจากรายได้ค่าบริการที่ทรงตัวเมื่อเทียบรายไตรมาส (QoQ) แต่ลดลงเทียบรายปี (YoY) ตามธุรกิจมือถือที่เป็นธุรกิจหลัก
ขณะที่ธุรกิจบรอดแบนด์ (ธุรกิจเสริม) ชะลอลงทั้ง QoQ และ YoY ส่วนยอดขายอุปกรณ์เติบโตได้ QoQ จากการเปิดตัวไอโฟน 15 ในช่วงกลาง ก.ย. 66 แต่ยังลดลง YoY จากกระแสความนิยมที่น้อยกว่าไอโฟน 14
2.ต้นทุนเพิ่ม 2%QoQ จากค่าใช้จ่ายควบรวมกิจการที่เข้ามาเพิ่ม แต่ทรงตัว YoY
3. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่ม 15% QoQ แต่ลดลง 8% YoY หลังการแข่งขันในธุรกิจมือถือไม่ได้ใช้กลยุทธ์ด้านราคาเหมือนก่อน
อ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่ : คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2566
TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด