หลายครั้งที่ไปร้านขายของสัตว์เลี้ยง เรามักเห็นตู้ไอศกรีมสำหรับสุนัขสีสันสดใส มีภาพวาดเจ้าตูบหลายพันธุ์ พร้อมโลโก้แบรนด์ว่า ‘Wiggly Buddies’
ไอศกรีมแบรนด์นี้วางขายอยู่ในเพ็ตช็อป คาเฟ่ สวนสัตว์เลี้ยง สระว่ายน้ำ กว่า 80 แห่งทั่วประเทศ ที่น่าตกใจกว่านั้นคือพวกเขาใช้เวลาเพียง 1 ปีในการกระจายสินค้า
นี่ไม่ใช่แค่แบรนด์สัตว์เลี้ยงที่มีแพ็กเกจจิงน่ารัก ๆ แต่เป็นธุรกิจที่ผ่านการคิดคำนวณมาอย่างดี โดยผลลัพธ์มาจากบทเรียนของความล้มเหลวครั้งก่อนหน้า
Wiggly Buddies ทำธุรกิจโดยยึดหัวใจสำคัญ 3 ข้อ
หนึ่ง อย่ากลัวความล้มเหลว เพราะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ทุกครั้งที่เรา Fail ถือว่าเป็นการ Fail Forward
สอง อย่าเลือกทำธุรกิจจากที่คนส่วนใหญ่นิยม แต่เลือกจากความถนัดของตัวเอง อาจไม่ใช่ธุรกิจที่ชอบที่สุด แต่เป็นธุรกิจที่เราทำได้ดีที่สุด
สาม เราไม่ได้เก่งทุกอย่าง เลือกพาร์ตเนอร์ที่จะมาเติมเต็มส่วนที่ขาด ไม่ใช่แค่คนรู้จักที่ไว้ใจกัน
ต่อจากนี้จะเป็นเรื่องราวธุรกิจลำดับที่ 6 ของ นัท-กัญฐณา จันทวิบูลย์ หมวกใบหนึ่งของเธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Wiggly Buddies ส่วนอีกใบเป็นแม่ของ ‘ทาร์ตไข่’ สุนัขพันธุ์คอร์กี้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แบรนด์นี้เกิดขึ้นมา
หัวการค้า
“เราชอบทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก” นี่คือคำตอบแรกของนัทในวันนั้น
ในยุคสมัยที่ร้านค้าสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรดยังไม่ครองเมือง บ้านของเธอเป็นร้านขายของชำ ทุก ๆ วันนัทเห็นลูกค้าแวะเวียนมาจับจ่ายซื้อของใช้ เลยเกิดไอเดียอยากทำธุรกิจของตัวเองบ้าง
ธุรกิจที่ 1 คือร้านน้ำผลไม้ไข่มุก ใช้เงินทุนหลักพันบาทจากครอบครัว เธอทำเองทุกอย่าง ต้มไข่มุกเอง ชงน้ำเอง หน้าร้านก็ไม่ต้องเช่าที่ เพราะอยู่หน้าร้านชำที่บ้าน ลูกค้าเป็นคนที่มาร้านชำอยู่แล้ว บวกกับเพื่อนบ้านที่ผลัดกันมาช่วยอุดหนุน
ธุรกิจนี้ล้มเลิกไปตอนมัธยมปลายที่เธอต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย นัทเรียนสายวิทย์-คณิต เป็นเด็กหัวดี อยู่ห้องคิง ขณะที่เพื่อนครึ่งห้องตั้งใจเรียนต่อหมอ อีกครึ่งไม่เภสัชกรก็พยาบาล เธอชอบค้าขาย แต่ตอนนั้นยังไม่รู้จักคณะบริหารธุรกิจ เลยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์เพราะเห็นว่าเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงิน
ธุรกิจที่ 2 เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นเธอเกิดไอเดียขายส่งเสื้อผ้า ไปรับจากจตุจักรมาขาย ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง สุดท้ายก็ไม่ไหว ต้องเลิกไป
ทันทีที่จบการศึกษา ครอบครัวก็แนะนำให้ไปสมัครงานประจำ แต่เธอยังติดใจกับการทำธุรกิจอยู่ อยากลองอีกสักตั้ง เลยขอเงินทุกหลักหมื่นจากที่บ้านมาทำธุรกิจที่ 3
ช่วงนั้นธุรกิจสกินแคร์กำลังนิยม เธอติดต่อโรงงาน OEM เพื่อสร้างแบรนด์ ได้เพื่อนมาเป็นหุ้นส่วน แม้จะขายได้ แต่ขายได้เฉพาะเพื่อน ๆ รอบตัว
“เพราะเราไม่รู้เรื่องการขายการตลาด เงินทุนของคุณพ่อก็เริ่มหมด ไม่กล้าขออีก เลยตัดสินใจไปสมัครงาน” คำตอบนี้เป็นเหตุผลที่เธอเลือกทำงานเป็นเซลส์ต่อ เพราะอยากรู้เรื่องการขาย ทำไปสักพักจนมีเงินเก็บก้อนหนึ่ง ก็มาถึงธุรกิจที่ 4
“ตอนนั้นมีสกิลล์การขายแล้ว อยากทำเมกอัปก็ติดต่อ OEM เลย มั่นใจว่าขายได้ ซึ่งธุรกิจนี้ก้าวไปอีกขั้น เราได้ไปขายในโมเดิร์นเทรด แต่สาเหตุที่ทำให้ไม่ได้ไปต่อ คือเราโดนร้านเครื่องสำอางเชิดเงินไป เงินทุนส่วนใหญ่เลยหมด
“ตอนนั้นถามตัวเองเลยว่า หรือฉันจะไม่ได้มาสายนี้”
หลังที่บ้านเลิกทำร้านชำ คุณแม่ก็เปิดร้านขายอาหารในหมู่บ้าน ถึงคราวต้องขยับขยายเลยชวนลูกสาวผู้ชื่นชอบทำธุรกิจมาร่วมด้วยกัน ธุรกิจที่ 5 เป็นร้านอาหารที่เธอไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ไม่รู้เรื่องวัตถุดิบ ไม่รู้เรื่องการคำนวณต้นทุน แต่ไม่เป็นไร เพราะนัทเชื่อในการลองผิดลองถูกและชอบเรียนรู้ จึงอาสาลงทุน ขยายจากร้านอาหารในหมู่บ้านเป็นร้านอาหารในเมืองเชียงใหม่ เปิดทำการได้ 2 ปี จนปี 2019 เจอเหตุการณ์ปราบเซียนผู้ประกอบการอย่างสถานการณ์โรคระบาดเลยปิดตัวลง
เธอเลือกเรียนต่อปริญญาโทด้านธุรกิจ หลังจากนั้นได้งานในบริษัทสตาร์ทอัพในตำแหน่ง Business Development ประสบความสำเร็จ มีเงินเกือบ 6 หลัก แต่ในใจยังติดค้างกับ 5 ธุรกิจที่ไม่สำเร็จ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของธุรกิจที่ 6
ธุรกิจลำดับที่ 6
ธุรกิจที่ 6 ไม่มีอะไรเหมือน 5 ธุรกิจแรก
ก่อนหน้านี้เธอเลือกทำธุรกิจจากสิ่งที่เห็นว่าคนอื่นทำแล้วได้ดี กระโดดเข้าไปใน Red Ocean ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร เครื่องสำอาง สกินแคร์ หรือเสื้อผ้า โดยที่ตัวเองแทบไม่มีความถนัดในด้านนั้น ๆ
ก่อนจะเป็น Wiggly Buddies เธอมีถึง 4 ไอเดีย และธุรกิจนี้ไม่ใช่ตัวเลือก 3 อันดับแรก
“ไอเดียแรก คือร้านอาหารแฟรนไชส์ เราเฟลจากการทำร้านอาหารมา อยากแก้มือ สอง คือเรื่องความสวยความงามที่เรายังชอบอยู่ ตอนแรกจะเปิดร้านเสริมความงาม ส่วนสาม คือร้านทำเล็บ ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงอยู่ลำดับที่ 4 เพราะเป็นช่วงไล่เลี่ยกับที่เพิ่งเลี้ยงทาร์ตไข่ เลยอยากทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง” เธอยิ้ม
ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหน ๆ นัทในวันนี้มีทั้งบทเรียน ประสบการณ์ด้านการขาย และการขยายตลาดจากการทำสตาร์ทอัพ เธอวิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์คู่แข่ง ทำทุกอย่างตามขั้นตอน จนพบว่า 3 ธุรกิจแรกเป็น Red Ocean ถ้าทำแบรนดิงดี ๆ ก็อาจอยู่ได้ แต่ธุรกิจที่ 4 กำลังโตแน่นอน
ถ้าขายสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจะเป็นอะไรดี
“เราหาข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม ของเล่น ของใช้ จนกลับมาดูลูกเราเอง เราเลี้ยงคอร์กี้ เขาเป็นหมาเมืองหนาว ขี้ร้อน ต้องเปิดแอร์ เปิดพัดลม ต้องกินน้ำแข็ง นึกไปว่าน่าจะมีอะไรช่วยดับร้อนได้บ้าง ถ้าเป็นคนจะกินอะไรดับร้อน เรานึกถึงไอศกรีมเป็นอย่างแรก ๆ”
หลังจากหาข้อมูลอย่างละเอียด นัทพบว่ามีไอศกรีมน้องหมาขายในตลาดอยู่ประมาณ 2 – 3 แบรนด์ ธุรกิจนี้เลยดูเข้าท่า เพราะเป็น Blue Ocean แต่ยังมีความท้าทายอีกแบบ คือหนึ่ง พอมีผู้เล่นไม่เยอะ ผู้บริโภคอาจไม่ค่อยรู้จัก ไม่เข้าใจ และสอง อาจมีเหตุผลเบื้องหลังหรือมีอุปสรรคที่ทำให้คนไม่เลือกมาลงทุนในตลาดนี้
นอกจากวิเคราะห์โอกาส เธอยังพิจารณาความเสี่ยงด้วย
“ข้อจำกัดของการทำธุรกิจไอศกรีมคืออุณหภูมิ เราต้องควบคุมให้เย็นตลอดเวลา รวมถึงตอนขนส่ง จะไม่เหมือนสินค้าอื่น ๆ ที่ค่าส่งราคาไม่แพง เราต้องใช้รถขนส่งที่ควบคุมอุณหภูมิได้ ต้นทุนขนส่งเลยสูงกว่า 3 เท่า ค่าส่งไปต่างจังหวัด 300 – 400 ก็เคยเจอมาแล้ว ดังนั้น ถ้าทำราคาไม่ดี เราเจ๊งแน่นอน”
หลังหารือกับหุ้นส่วนคนแรก บาส-อภิรัฐ จันทวิบูลย์ ผู้เป็นสามี ถึงความเสี่ยงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น ทั้งคู่ก็ตัดสินใจลุย
หุ้นส่วนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
แค่จุดเริ่มต้นก็เห็นแล้วว่า Wiggly Buddies แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ที่ผ่านมาของนัท
จากที่เคยแหวกว่ายใน Red Ocean เลือกทำอะไรที่กำลังอยู่ในกระแส เป็นธุรกิจ One-man Show ที่เธอทำเองทุกอย่าง แม้จะมีบางอย่างไม่ถนัด ครั้งนี้เธอจะไม่ให้เป็นแบบนั้น และจะไม่ใช้แค่แพสชันในการทำธุรกิจ เธอบอกว่าแพสชันอาจทำให้ธุรกิจเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ทำให้โต
“เราขายเก่ง เปิดตลาดได้ แต่ใครจะทำเรื่องการเงินการบัญชี เรื่องออกแบบ เรื่องแบรนดิง เราต้องหาพาร์ตเนอร์”
พาร์ตเนอร์คนแรกคือสามีผู้เชี่ยวชาญงานหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเงิน บัญชี หรือการลงทุนต่อยอดต่าง ๆ ส่วนด้านแบรนดิงอยู่ในความดูแลของพาร์ตเนอร์คนที่ 2 และ 3 คือ บอน-สารัช จันทวิบูลย์ และ โอ-พีรกันต์ สมบัติเลิศตระกูล สองผู้ก่อตั้ง DINSOR Design Studio และเบื้องหลังแพ็กเกจจิงไอศกรีมที่สวยและใช้งานได้จริง
ส่วนผสมของคนทั้งสี่ออกมาเป็นแบรนด์ไอศกรีมสำหรับสุนัขที่ทั้งอร่อย ปลอดภัย และดีไซน์สวย ที่สำคัญ ในเชิงธุรกิจก็ประสบความสำเร็จเพราะมีนักการตลาดอยู่ในทีม
มากกว่าขนม มากกว่ารางวัล
นัทและหุ้นส่วนทั้งสามเริ่มศึกษาเก็บข้อมูลเมื่อต้นปี 2022
ไอศกรีมแท่งได้รับเลือกให้เป็นสินค้าแรกของ Wiggly Buddies ไอเดียมาจากหลักการฝึกสัตว์เลี้ยงที่ต้องให้รางวัล ซึ่งการให้รางวัลนั้นเป็นเหมือนการสานสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ไปด้วยในตัว
“เทรนด์การเกิดของเด็กลดลงทุกปี คนหันมาเลี้ยงหมาเหมือนลูก พอดูแลเป็นอย่างดีก็อยากมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเขา ไอศกรีมในท้องตลาดส่วนมากเป็นถ้วย เวลาเสิร์ฟก็วางให้น้องหมากิน ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ถ้าเป็นอะไรที่ป้อนกับมือจะทำให้เกิดความใกล้ชิด เป็นหลักการเดียวกับเวลาฝึกสัตว์เลี้ยง ถ้าเขาทำอะไรถูก เราจะให้ขนมหรือไม่ก็ลูบหัว พูดชมเขา”
จึงเกิดเป็นไอศกรีมสุนัขที่เป็นทั้งขนม รางวัล คำชื่นชม และความรัก แล้วใช้การออกแบบเป็นรูปกระดูกมาทำให้ไอศกรีมแบรนด์นี้จดจำง่ายยิ่งขึ้น
แต่การผลิตก็ท้าทายเหล่าผู้ประกอบการ เพราะไอศกรีมแท่งมีขั้นตอนการทำยุ่งยากกว่าไอศกรีมถ้วย และใช้เครื่องจักรไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ บางขั้นตอนต้องใช้แรงคน ที่สำคัญ ต้นทุนสูงกว่าเกือบ 2 เท่า อย่างแพ็กเกจจิงที่ปกติเจ้าอื่นใช้วิธีพิมพ์สติกเกอร์แล้วติดบนกล่อง แต่เธอเลือกที่จะพิมพ์แยกสีเพื่อผลลัพธ์ที่แตกต่าง
เธอเล่าพลางหัวเราะว่า “พอเห็นแบบนี้เลยคิดว่า หรือมันเป็น Pain Point คนอื่นเขาเลยไม่ทำกันนะ”
Wiggly Buddies
Wiggly คืออาการกระดิกหาง ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความดีใจของสุนัข ส่วน Buddies เป็นพหูพจน์ เพราะไม่ได้หมายถึงแค่เพื่อนสี่ขา แต่หมายถึงเจ้าของด้วย
แบรนด์เปิดตัวในเดือนตุลาคม ปี 2022 ราว ๆ 10 เดือนหลังจากวันที่ปักธงว่าจะทำสินค้านี้ ที่ตลาดสัตว์เลี้ยง ณ ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง
พื้นที่ที่นัทได้ดูเหมือนจะเป็นที่ท้าย ๆ ที่ร้านอื่นไม่เลือกกัน แต่กลายเป็นว่าได้รับความสนใจมาก แบบที่เธอใช้คำว่า ‘บูทแตก’ ไอศกรีมที่เอาไปขายได้หมดตู้ จนต้องขอให้โรงงานนำมาส่งเพิ่ม
กลุ่มลูกค้าของเธอเป็นคนเลี้ยงสุนัข แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เลี้ยงสุนัขจะเป็นลูกค้าของเธอ สินค้าทุกชิ้น บริการทุกขั้นตอนที่ออกแบบมาจึงไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องขายได้ทุกคน แต่มองลูกค้าตัวเองเป็นสำคัญ
ไอศกรีมมีทั้งหมดเป็น 100% Human Grade มี 4 รสชาติที่เลือกเฉพาะส่วนผสมที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อน้องหมา
- รสวากิว ไข่แดง และข้าวโอ๊ต ช่วยให้พลังงาน
- รสมิกซ์เบอร์รีซอร์เบต์ ช่วยเพิ่มวิตามิน A, C, E, K และเพิ่มภูมิคุ้มกัน
- รสโยเกิร์ตและบรอกโคลี ช่วยเรื่องการขับถ่าย
- รสน้ำมันแซลมอน ฟักทอง และแคร์รอต ช่วยบำรุงขนและผิวหนัง
แต่ละรสมีแพ็กเกจคนละสีและลวดลายคนละแบบ ตัวกล่องเองเปิดด้านหน้าเพื่อวางเป็นถ้วยได้ด้วย ถ้าถามว่าพวกเขาจริงจังกับแพ็กเกจจิงแค่ไหน ต้องบอกเลยว่าจริงจังมาก เพราะนอกจากมีลูกค้าถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียจนเป็นไวรัล แบรนด์ยังทดสอบตัวเองด้วยการส่งเข้าประกวดโครงการ Design Excellence Award (DEmark) ได้รางวัลเป็น 1 ใน 70 แบรนด์จาก 500 แบรนด์ที่เข้าร่วม และยังได้รับคัดเลือกให้ไปประกวด G-Mark ต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขากำลังจะบินไปรับรางวัลเดือนหน้า
ล้มเหลวเพื่อเรียนรู้
แบรนด์เพิ่งจะครบรอบ 1 ปีไปหมาด ๆ
ในวันนี้มีวางจำหน่ายอยู่ที่เพ็ตช็อปและสถานที่ Pet-friendly มากกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ ใคร ๆ ก็เตือนให้ใจเย็นก่อน เพราะการไปขายตามร้านต่าง ๆ ไม่ง่ายเหมือนอาหารแห้งหรือของใช้ ต้องมีตู้เย็น บางที่มีค่าพื้นที่ บางที่มีค่าไฟ แต่ผู้ประกอบการวัย 33 คนนี้ลองผิดถูกมาจนเข้าใจแล้วว่า ถ้าไม่ลุยตอนนี้ แบรนด์อาจไม่เกิดเลยก็ได้
“หลายครั้งก็ท้อนะ” นัทย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์ที่ไอศกรีมละลายทั้งตู้ “แต่มันคือการพิสูจน์ตัวเองว่าสิ่งที่เราคิดว่าทำได้ดี เราทำได้ดีจริง ๆ”
และต่อให้ครั้งนี้จะไม่สำเร็จ เธอยืนยันว่าต้องมีธุรกิจที่ 7 แน่นอน
Lessons Learned
Instagram : wigglybuddies
Facebook : Wiggly Buddies