คอลัมน์ผู้หญิง – การดูแลปลาสวยงาม ตอนที่ 2 : ยาและสารเคมีที่มีความจำเป็นในการเลี้ยง


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้รู้จักชุดทดสอบ (test kit) ที่ใช้สำหรับการตรวจคุณภาพของ “น้ำ” กันไปแล้ว ถ้าผลของการตรวจคุณภาพน้ำออกมาดี ผู้เลี้ยงก็สบายใจ แต่ถ้าผลออกมามีค่าสูงกว่ามาตรฐาน เราก็ต้องมีการปรับคุณภาพน้ำ หรือเปลี่ยนน้ำ เพื่อให้สภาพแวดล้อมของตู้ปลาดีขึ้น 

แต่การจะเอาน้ำใหม่ หรืออุปกรณ์ตกแต่งตู้ปลา รวมถึงอาหารที่มีชีวิตใส่เข้าไปในตู้ปลานั้น  อาจนำเชื้อโรคเข้าไปในแหล่งน้ำดื่มได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องทำการบำบัดและฆ่าเชื้อสิ่งที่อาจปลอมปนมา ซึ่งสารที่ใช้บำบัดหรือฆ่าเชื้อนั้นอาจใช้ เพื่อการรักษาหรือปฐมพยาบาลในกรณีปลาเริ่มมีป่วย (ในระยะต้นๆ) ด้วย วันนี้ผมมีข้อมูลจาก รศ.สพ.ญ.ดร. อรัญญา พลพรพืสิฐ  “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคติดเชื้อในปลา” (Center of Excellence in Fish Infectious Diseases) คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากกันอีกครับ

ยาและสารเคมีที่เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาตู้สวยงามนั้น ผู้เลี้ยงสามารถหาซื้อได้ตามร้านปลาสวยงาม ทั่วไป ซึ่งสารแต่ละชนิดก็จะมีสรรพคุณและวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน เราจึงควรทำความเข้าใจพื้นฐานเรื่องยาและสารเคมีที่ใช้ในสัตว์น้ำกันก่อน

ยาและสารเคมีที่ใช้กันนั้น สามารถแบ่งออกคร่าวๆ ได้เป็น 5 กลุ่ม 

1. สารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในน้ำ 

โดยปกติ ก่อนที่จะนำอาหารที่มีชีวิตที่จะให้ปลาตู้กิน ไม่ว่าจะเป็นพวกหนอน สัตว์น้ำ หรือปลาขนาดเล็ก รวมถึงการนำวัสดุตกแต่งต่างๆ ใส่ลงในตู้ปลา  ก็มีความจำเป็นต้องฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อน นอกจากนี้ ในกรณีที่เรานำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้เลี้ยงปลา ก็จำเป็นต้องบำบัดหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อน เนื่องจากน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติส่วนใหญ่ จะมีแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ (ทั้งนี้ ในกรณีน้ำประปามาใช้นั้น เราไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อแบคทีเรียครับ)

ตัวอย่างสารในกลุ่มนี้ ได้แก่ อะคริฟลาวินโซลูชั่น (ยาเหลือง) โปแตสเซียมเปอร์มังกาเนต (ด่างทับทิม) ไอโอดีนโซลูชั่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เมทธิลีนบลู เป็นต้น 

สารเคมีในกลุ่มนี้เป็นที่นิยมใช้อย่างกว้างขวาง เพราะมีความปลอดภัยสูง ราคาถูก สามารถใช้ลดปริมาณหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียในน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลา ใช้ฆ่าเชื้อที่ปนเปื้อนมากับอาหารที่มีชีวิตสำหรับปลากินเนื้อ ใช้ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ พรรณไม้น้ำ วัสดุและสิ่งตกแต่งตู้ปลา 

ข้อดีของการใช้สารกลุ่มนี้คือ แม้จะใช้จุ่มเพื่อฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่างๆ แล้ว หากมีการตกค้างของสารเคมี ก็จะไม่มีอันตรายต่อปลา 

2.  สารที่มีฤทธิ์ฆ่าปรสิตภายนอก 

ใช้กำจัดปรสิตหรือพยาธิที่อยู่ภายนอกร่างกายของปลา ตัวอย่างสารในกลุ่มนี้ได้แก่ ฟอร์มัลดีไฮด์ (ฟอร์มาลิน) โซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง) ออร์กาโนฟอสเฟต (ยาฆ่าแมลง) คอปเปอร์ซัลเฟต  (จุนสี) โปแตสเซียมเปอร์มังกาเนต (ด่างทับทิม) เป็นต้น

3.  สารเคมีที่มีฤทธิ์ฆ่าปรสิตภายใน 

สารในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มยาถ่ายพยาธิภายใน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ในสัตว์เลี้ยงทั่วไปแต่ต้องควบคุมปริมาณให้มีความเหมาะสม ได้แก่  เมทโทรนิดาโซล พราซิควอนเทล  มีเบนดาโซล  เฟนเบนดาโซล  ลีวาไมโซล เป็นต้น

4.  ยาปฏิชีวนะและยาที่มีฤทธ์ฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในร่างกายปลา 

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ได้แก่ กลุ่มกานามัยซิน  คลอแรมเฟนิคอล เจนต้าไมซินซัลฟาไตรเมทโทรพริม เซฟฟาเลกซิน นีโอมัยซิน ไนโตรฟูราโซน เพนนิซิลลิน ฟลอเฟนนิคอล ฟูราโซลิโดน เสตรปโตมัยซิน อ๊อกซี่เตตร้าซัยคลิน อะมอกซี่ซิลลิน อะมิกาซิน อิริโทรมัยซิน  แอมพิซิลิน เอนโรฟล๊อกซาซิน นอร์ฟล๊อกซาซิน เป็นต้น 

5. สารเคมีที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ 

ตัวอย่างสารเคมีในกลุ่มนี้ได้แก่ โซเดียมไธโอซัลเฟตที่ใช้เพื่อกำจัดคลอรีนในน้ำคลอรีนที่ใช้เพื่อฆ่าเชื้อบ่อเลี้ยงและอุปกรณ์ติดเชื้อ  ใบหูกวางที่ใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาแผลที่ผิวหนังปลากัด โปรไบโอติคที่ใช้เพื่อกระต้นการเจริญเติบโตและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์น้ำ เป็นต้น

จะเห็นว่าสารเคมีหรือยาที่ใช้กันมีจำนวนมาก แต่ที่สำคัญก่อนจะใช้ยาอะไรก็ตามควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนใช้ เพื่อช่วยทำให้การตัดสินใจเลือกชนิดและการใช้ยาได้ประโยชน์สูงที่สุด และมีอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง คน และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดครับ  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร 

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *