นักวิจัยอเมริกันชี้ผลข้างเคียงสุดสะพรึงของเตาไมโครเวฟ


เมื่อไม่นานมานี้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนบราสกา สหรัฐอเมริกันได้เผยแพร่ผลงานการศึกษาและข้อมูลที่น่าตกใจของการใช้เตาไมโครเวฟ พร้อมเสนอคำแนะนำในการใช้งานที่ถูกต้อง

เดิมที ความนิยมในการรับประทานอาหารสำเร็จรูปที่แค่นำไปอุ่นในเตาไมโครเวฟก็พร้อมให้รับประทานก็ก่อให้เกิดการสร้างขยะพลาสติกจำนวนมาก และเป็นที่มาของเศษพลาสติกระดับอนุภาคจำนวนมหาศาล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุจำนวนไว้ว่ามนุษย์สร้างเศษชิ้นส่วนขยะนาโนพลาสติกในปริมาณมากกว่า 2,000 ชิ้นต่อพื้นที่ 1 ตารางซม. แต่ถ้าเป็นระดับไมโครพลาสติก จะมีจำนวนมากกว่า 4,000 ชิ้น ซึ่งก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่า ในระยะยาว พลาสติกขนาดเล็กจิ๋วเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์อย่างไรบ้าง

คาซี อัลบาบ ฮุสเซน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนบราสการและทีมงานของเขา เริ่มการทดลองในปี 2564 โดยนำขวดน้ำพลาสติกที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ มาใส่ในเตาไมโครเวฟ โดยเติมน้ำและอาหารที่ใช้ของเหลวเป็นตัวนำความร้อน จากนั้นก็เปิดเตาให้ทำงาน หรือ “เวฟ” ราว 3 นาที

ผลที่ออกมานั้นน่าวิตกมาก เพราะปรากฏว่ามีไมโครพลาสติกจำนวนมากรั่วไหลออกสู่ของเหลวในขวด

ไมโครพลาสติกคือพลาสติกที่แตกย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 มม. มีอีกชื่อหนึ่งคือ “สารเคมีอมตะ” (Forever chemicals) เนื่องจากมันไม่สูญสลายไปง่าย ๆ และขณะนี้ก็มีการตรวจพบชิ้นส่วนไมโครพลาสติกแทบจะทุกหนทุกแห่งในโลก รวมทั้งแหล่งน้ำกินน้ำใช้ นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบไมโครพลาสติกในเลือดของผู้ป่วยหลายรายอีกด้วย

แม้ว่าโลกจะยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบเชิงสุขภาพของไมโครพลาสติกต่อร่างกายมนุษย์ และยังหาคำตอบไม่ได้ชัดเจน แต่มีแนวโน้มว่าไม่น่าจะเป็นผลกระทบในทางที่ดี

ฮุสเซน เขียนไว้ในรายงานว่า ผลกระทบเชิงพิษวิทยาของไมโครและนาโนพลาสติกที่มีต่อร่างกาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับระดับการสัมผัสสารเคมีเหล่านี้ 

ทีมผู้เชี่ยวชาญได้นำเซลล์จากอวัยวะไตมาทดลองให้สัมผัสกับไมโครพลาสติกจากขวดน้ำที่ผ่านการทดลอง “เวฟ” มา ปรากฏว่า 75% ของเซลล์เสียหายและตาย ซึ่งส่อถึงความเป็นไปได้ว่า ไมโครพลาสติกอาจเป็นอันตรายต่อไตของเรา

ฮุสเซน หวังว่าพลาสติกที่มีคุณภาพดีหรือได้รับการพัฒนา จะปล่อยอนุภาคออกมาได้น้อยลง แต่ ณ เวลานี้ ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำว่า ทางที่ดี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติกกับเตาไมโครเวฟ แม้ว่าภาชนะเหล่านั้นจะติดป้ายว่า “ใช้กับเตาไมโครเวฟได้” ก็ตามที และให้เปลี่ยนไปใช้ภาชนะประเภทเซรามิกหรือแก้วทนความร้อนสูงแทน

ที่มา : thecooldown.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *