เนื้อที่ 2 งาน ปลูกผสมผสาน รายได้หลักหมื่นต่อเดือน ความสุข ไร้โรคภัย


.css-nh9sg4 #forum2022-logoSponsor{text-align:center;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text{font-family:”KaLaTeXa Display”;font-size:10px;position:relative;z-index:3;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text span{background-color:#ffffff;padding:0 10px;position:relative;z-index:3;}.css-nh9sg4 .forum2022-logoSponsor-text::after{content:””;height:1px;width:100%;background-color:rgb(216,216,216);position:absolute;top:50%;left:0;-webkit-transform:translateY(-50%);-ms-transform:translateY(-50%);transform:translateY(-50%);z-index:2;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor{padding:0;margin:0;list-style:none;display:-webkit-box;display:-webkit-flex;display:-ms-flexbox;display:flex;-webkit-flex-wrap:wrap;-ms-flex-wrap:wrap;flex-wrap:wrap;gap:15px;-webkit-box-pack:center;-webkit-justify-content:center;-ms-flex-pack:center;justify-content:center;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor li.forum2022-item-sponsor{height:80px;}.css-nh9sg4 ul.forum2022-logoSponsor li.forum2022-item-sponsor img{height:80px;}

“หมอดิน” อินทร์บุรี สิงห์บุรี ใช้เนื้อที่ 2 งาน ปลูกพืชอินทรีย์ผสมผสาน รายได้ดีหลักหมื่นต่อเดือน สุขภาพดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

เนื้อที่น้อย ปลูกพืชแล้ว มีรายได้ดี นี่คือ คีย์เวิร์ด ที่หลายๆ คนต้องการ โดยหวังจะผันตัวเองไปอยู่ต่างจังหวัด ปลูกพืชผสมผสาน อยู่บ้านแบบสโลว์ไลฟ์ แต่หากใครจะลงมือทำจริงๆ องค์ความรู้ ความอดทน คือ สิ่งสำคัญ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับเรื่องราววิถีกรีน การเกษตรในวันนี้ จะพาไปพบกับ “หมอดิน” นายณรงค์ วิมา หมอดินอาสาประจำ ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี หนึ่งในบุคคลที่พร้อมแบ่งปันความรู้ ในการปลูกพืชแบบผสมผสาน ในเนื้อที่เพียง 2 งาน แต่มีรายได้หลักหมื่นบาท กินอยู่อย่างสบายใจ และสุขภาพดีด้วยวิถีพืชแบบ “เกษตรอินทรีย์”  

จากขายแรงงานก่อสร้าง ขับวิน จยย. สู่วิถีชีวิตแสนเรียบง่าย

นายณรงค์ หมอดินอาสาประจำ ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี เล่าให้ฟังว่า เดิมทีทำงานก่อสร้าง รวมถึงขับวินมอเตอร์ไซค์ แล้วรู้สึกว่า อาชีพไม่มีความมั่นคง รายได้ไม่พอใช้ งานก่อสร้าง ทำงานทั้งวันได้ค่าแรง 100 บาท (ก่อนปี 2538) ขับวินมอเตอร์ไซค์ ก็รู้สึกว่ามีความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุ ความปลอดภัยในชีวิต จากปัญหาอาชญากรรม ปล้น จี้ มานึกๆ ดูแล้วกลับบ้านมาทำเกษตรดีกว่า

นายณรงค์ เล่าว่า เมื่อกลับบ้าน ครอบครัวมีที่ดินจำนวนหนึ่ง และก็ได้พื้นที่มานิดหนึ่ง ประมาณ 2 งาน ก็เลยทดลองปลูกพืชดู โดยใช้เงินทุนจากพ่อตาหมื่นกว่าบาท ด้วยการขุดบ่อบาดาล และเริ่มปลูกชะอมก่อน โดยแค่เริ่มทำปีแรกก็เจอน้ำท่วมใหญ่เลย ถนนขาด ได้รับความเสียหาย แต่ก็ไม่เป็นไร เริ่มทำใหม่ ปรากฏว่าเริ่มขายดี ทำให้มีรายได้เข้าทุกวัน ก็คิดว่า การปลูกพืชเป็นเกษตรกรมันก็อยู่ได้ เนื่องจากเราอาศัยใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย มีเวลาก็ไปจับปลามากิน ที่เหลือไว้ขายได้ด้วยเรียกว่า อยู่สบายๆ เลย…

เรียนรู้ สู้ธรรมชาติ ปลูกผสมผสานลดความเสี่ยง

“ช่วงแรก เจออุปสรรคจากภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ติดต่อกัน 3 ปี 38-40 น้ำท่วม พืชผักเสียหาย น้ำลดปลูกใหม่ โดยเฉพาะผักระยะสั้น อย่างชะอม ปลูกไม่กี่วันก็ขายได้แล้ว พอเป็นแบบนี้คนอื่นเห็นก็ปลูกตาม กลายเป็นว่ามาแย่งตลาดกันเองอีก จึงทำให้เราตัดสินใจปลูกพืชแบบผสมผสานหลายๆ อย่าง”

หมอดินสิงห์บุรี บอกว่า การปลูกพืชในที่น้ำท่วมบ่อย จะไม่เลือกใช้ตอนกิ่งแบบคนอื่น ความรู้สึกคือ ด้วยที่เราปลูกบ่อย ทำให้รู้สึกว่าง่ายไปหมด ทีนี้เราก็เลยลงแปลงเลย บวกกับเราปลูกผักหลายอย่าง ทำให้มีรายได้ มีเงินใช้อย่างสบายๆ วันละ 800-1,000 บาท ไม่ต้องเหนื่อย และดิ้นรนเหมือนแต่ก่อน..

“หากเรารู้ว่าน้ำจะท่วม เราก็เก็บต้นพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ไว้ก่อนเลย สามารถขายได้ และไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อเพื่อลงทุนใหม่ ต้นทุนทุกอย่างมันเลยถูก นี่แหละคือความยั่งยืน ที่เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า พอดีและพอเพียง ซึ่งหลังจากนั้น กรมพัฒนาชุมชนก็เข้ามา หลายหน่วยงานเข้ามาดู และจากจุดนี้แหละจึงนำผมเข้าไปสู่การเป็นหมอดิน”

นายณรงค์ เผยว่า ทีแรกยังไม่ได้เข้าอบรม เพราะไม่มีรายชื่อ แต่เนื่องด้วยเราอยากทำปุ๋ยหมัก พยายามถามหน่วยงานเกษตรฯ ส่วนมากเขาก็จะให้ความสำคัญกับชาวนามากกว่าชาวสวน เอาปุ๋ยหมักไปแจกชาวนา เราก็อยากได้ก็พยายามถาม กระทั่งชื่อเราเริ่มเข้าไป เขาจึงส่งเราไปอบรมในที่ต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นหมอดิน เมื่อได้ความรู้มา ก็เอามาปรับใช้ จากที่เราต้องไปขอความรู้เขา คราวนี้ก็เริ่มมีคนมาขอความรู้จากเรา

ปลูกพืชอินทรีย์ รายได้หลักหมื่นต่อเดือน อยู่สุขสบาย ไร้โรคประจำตัว  

เดิมทีก็เคยทดลอง ใช้ปุ๋ยเคมี แต่ปุ๋ยมันแพง ทำปุ๋ยอินทรีย์ดีกว่า ราคาถูก คุณภาพดี ดีต่อสุขภาพคนปลูกพืชและคนกินด้วย ส่วนเรื่องการขาย เราเองอยู่ตรงนี้ ก็ย่อมรู้ว่าคนในท้องถิ่นของเราต้องการอะไร ก็ปลูกมาขาย เรียกว่า ขายจนมีลูกค้ามารอซื้อ

“ผมปลูกผักขาย 20 ปี แทบจะไม่ต้องไถพรวนดินเลย เราใช้แปลงเดิม มีรายได้หลักหมื่นบาทต่อเดือน โดยหลักการให้ได้เงิน เช่น การปลูกชะอม เราปลูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ไล่เรียงวัน เก็บขายได้ทุกวัน วันละเกือบ 200 บาท นอกจากนี้ เราก็เก็บกล้าพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ขาย ในออนไลน์ได้อีก เช่น สะเดาทวาย เราก็เอามาตอนกิ่งขาย ขายเมล็ดถั่ว รวมๆ รายได้ต่อวันก็เกือบพัน ส่วนรายเดือนก็หลักหมื่นบาท”

หมอดิน อินทร์บุรี ย้ำว่า เงินนั้นสำคัญ แต่ไม่สำคัญที่สุด บางวันมีรายได้เข้ามามาก บางวันน้อย หรือบางวันไม่มี เพราะเราก็หยุดขายบ้าง หยุดทำงานบ้าง เหนื่อยก็พัก เรามีผัก มีปลากิน ไม่มีหมู หรือไก่ ก็ไม่เดือดร้อน หรือถ้าอยากกินก็ไปซื้อมาบ้าง

นายณรงค์ เผยความสุขในการทำอาชีพนี้ คือ การได้กินอยู่อย่างมีความสุข ไม่มีโรคประจำตัว เพราะเราอยู่กับธรรมชาติ ไม่ข้องเกี่ยวกับเคมีเลย สบายใจมาก ได้กินของที่ปลอดภัย ตอนนี้อายุ 61 ปีแล้ว ความภาคภูมิใจ คือ ได้แบ่งปัน ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ได้รับโล่รางวัล กปร. (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ได้รับรางวัลของในหลวง ร.9 ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คำแนะนำ คนที่เริ่มทำเกษตร ในพื้นที่น้อย

หมอดิน จ.สิงห์บุรี แนะนำว่า ตอนวางแผนครั้งแรกเราต้องวางแผนให้ดีว่าเกษตรที่ต้องใช้ก็คือเรื่องน้ำ มีน้ำ มีพื้นที่แล้วก็เริ่มทำได้ บางคนอยากทำเกษตร เห็นต้นไม้ใหญ่ก็โค่นเลย ซึ่งความจริงไม่จำเป็น เราสามารถปลูก หรือใช้ร่มเงาได้ หรือถ้ามีผลก็ยิ่งไม่ควรตัด เช่น ต้นมะม่วง กว่าจะปลูกได้ผลใช้เวลาถึง 4 ปี ดังนั้น เราสามารถปรับเปลี่ยน หาพืชที่ปลูกในร่มได้มาปลูก เพราะแร่ธาตุในดินมีแล้ว ส่วนตัวไหนชอบแสง เราก็ปลูกในที่โล่ง ส่วนใบไม้ เศษหญ้า เราก็ทับถม คลุมดิน เวลารดน้ำ ความชุ่มชื้นก็ยังอยู่

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความอดทน ยกตัวอย่างที่มาปรึกษาผม อยากจะปลูกชะอม เรียกว่ายังไม่ทันปลูกเลย ถามแล้วว่าจะได้เงินเท่าไร ปลูกยังไงให้ได้เงินเท่านั้นเท่านี้ นอกจากนี้ ต้องหาตลาดรองรับด้วย ก่อนทำก็ต้องดูก่อนว่าจะไปขายที่ไหน ไม่ใช่ให้คนอื่นสอนทั้งหมด คนปลูกต้องกินก่อน ค่อยนำมาขาย ทำทุกอย่างจำเป็นต้องอดทนและใช้เวลา ถ้าไม่มั่นใจก็เริ่มจากน้อยๆ ไปก่อน และทุกอย่างมันจะสอนบทเรียนให้กับเราเอง” นายณรงค์ กล่าว

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ 


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *