เพราะอาหารไม่ควรถูกทิ้ง เพียงแค่ขายไม่หมด Oho! สตาร์ทอัพแก้ปัญหา Food waste แบ่งเบาภาระให้โลก


ถ้าพูดถึงประเทศที่เลื่องชื่อเรื่องอาหารการกิน แน่นอนว่าประเทศไทยคือเบอร์ท็อปของโลก ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกพากันเดินทางมาลิ้มลอง อีกทั้งบ้านเรายังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม พร้อมด้วยความพร้อมของวัตถุดิบต่างๆ แต่อีกด้านก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยก็สร้างขยะอาหาร (Food waste) ที่เกิดขึ้นจากปริมาณอาหารส่วนเกินจำนวนมหาศาลเช่นกัน ซึ่งสูงถึง 5.5 ล้านตันต่อปี 

ขณะที่สถานการณ์ขยะอาหารทั่วโลก 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารทั้งหมดที่ผลิตเพื่อการบริโภคได้กลายเป็นขยะ ซึ่งจะนำไปสู่ผลเสียกับโลกของเรา โดยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจาก Food waste ในทั่วโลกนั้นมีปริมาณเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของ EU และสหรัฐฯ รวมกันเลยทีเดียว

ดังนั้นอาหารก็ไม่ควรถูกทิ้งให้เป็นขยะ เพียงเพราะขายไม่หมดในแต่ละวัน ที่กล่าวมานี้ คือ Pain Point ขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพื่อแบ่งเบาภาระของโลกที่ต้องแบกรับปริมาณขยะอาหารในแต่ละวัน Thirath Money พูดคุยกับ วริทธิ์ธร มังกรทองสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Oho Capital สตาร์ทอัพไทยที่มองเห็นปัญหา Food waste และได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อช่วยจัดการอาหารที่มากเกินความต้องการ หรือ Food Surplus อย่างแอปฯ “Oho!” ที่ให้ผู้ใช้สั่งอาหารจากร้านที่เหลือในแต่ละวัน ในราคาที่ถูกลง แต่คุณภาพยังคงเดิม

ภาพจาก เพจ Facebook Oho
ภาพจาก เพจ Facebook Oho

Oho! แอปฯ แก้ปัญหา Food waste ทำให้อาหารป้ายเหลืองเป็นเรื่องง่ายและสะดวก

วริทธิ์ธร เล่าว่า แอปพลิเคชัน Oho! ตั้งใจเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา Food waste ซึ่งอยู่ในขั้นของการ Reduce หรือลดปริมาณอาหารส่วนเกิน (Excess Food) จากร้านอาหาร หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งคุณภาพยังดีอยู่ ก่อนที่จะกลายไปเป็นอาหารเหลือทิ้งที่ต้องจัดการต่อไป 

“โซลูชันแรก ที่เรานำเสนอให้กับตลาดก็คือเปิดโอกาสให้กับร้านค้า ผู้ประกอบการ โรงแรม ซุปเปอร์มาร์เก็ต สามารถนำของ 10-20% ที่เค้าต้องจัดการหรือทิ้ง นำมาลงขายกับเรา ก่อนที่มันจะหมดอายุ”

“ดังนั้นสิ่งที่เราแก้ คือ เราหาตรงกลางที่ผู้บริโภคยินดีที่จะซื้อในราคาที่ลดลงมา ผู้ประกอบการเองก็ยังได้กำไรกลับไป ได้ทุนคืน แล้วส่วนตรงนี้เรามาบริหารจัดการในการที่จะทำโลจิสติกส์ ที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าถึงกันได้สมูทยิ่งขึ้น”

ซึ่งก็เป็นการนำโมเดลการขายสินค้าในช่วงสิ้นวันที่จะทำเป็นโปรโมชัน มานำเสนอในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดในการซื้อของป้ายเหลือง ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงโปรโมชัน และสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันก็เพิ่มยอดขายให้กับร้านค้า พร้อมลดขยะที่เกิดจากอาหารได้ในทางเดียว

สำหรับจุดเด่นของ Oho! วริทธิ์ธร เล่าให้เราฟังว่า หากลูกค้าได้ลองใช้แอปฯ เพียง 3-4 ออเดอร์ต่อเดือน จะช่วยประหยัดเงินได้อย่างน้อย 3,000 บาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 

นอกจากนี้ยังสามารถวัดปริมาณการลด Food waste โดยคำนวณจากแต่ละเมนู และสามารถติดตามการปล่อยคาร์บอนได้ในอนาคต 

โดยวางเป้าหมายไว้ว่า “Oho! เราจะเป็นทั้งโซลูชันเพื่อลด Food waste และเราจะวัดผลให้ด้วย ซึ่งถ้ากฎหมายเกี่ยวกับ Sustainability ออกมา สมมติว่าต่อไป Stakeholder ใหญ่ๆ อาจจะต้องมีการเก็บข้อมูลตรงนี้ เราก็จะเป็น One Stop Service ในการเป็นทั้งโซลูชัน และการติดตามให้ด้วย”

วริทธิ์ธร มังกรทองสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Oho Capital
วริทธิ์ธร มังกรทองสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Oho Capital

ธุรกิจบริหารจัดการขยะอาหาร ตลาดมูลค่าหลักล้านล้าน 

สำหรับการจัดการปัญหา Food waste ในไทย ขั้นแรก วริทธิ์ธร เสนอว่า ควรมีการวัดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในซัพพลายเชน และในฝั่งกระบวนการแปรรูป หรือผู้ประกอบการ ซึ่งจริงๆ มันมีโซลูชันอยู่มากมาย แต่ปัญหาคือโซลูชันนั้นง่ายและคุ้มค่าหรือไม่ ขณะที่ฝั่งผู้บริโภคก็ตระหนักถึงปัญหามากขึ้น หากไทยจะเตรียมตัวเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องของความยั่งยืน แม้อาจจะช้ากว่าทางฝั่งยุโรป แต่ก็นับเป็นสิ่งที่ดี

ขณะเดียวกันไทยก็มีผลผลิตทางการเกษตรในปริมาณมาก ในบางช่วงก็ล้นตลาดและตามมาด้วยการเหลือทิ้ง ซึ่งทาง Oho! ต้องการเริ่มต้นลดปริมาณ Food waste ในระดับร้านค้าก่อน ซึ่งก็คืออาหารพร้อมทาน และขยายไปยังกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ต จากนั้นจึงเข้าสู่ภาคการเกษตรในอนาคต โดยเป็นความตั้งใจในการประหยัดเงินให้กับลูกค้า พร้อมกับการให้ความรู้กับตลาดไปอย่างต่อเนื่อง 

“เราเริ่มจากร้านค้าไปซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วเราก็จะไปช่วยผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต หรือว่าเกษตรกร นี่คือความตั้งใจของเรา เรามองว่าในการที่จะทำในเรื่องของ Sustainability ณ วันนี้ที่ผู้ใช้ หรือตลาดเป็นแบบนี้ เราต้องสร้างประโยชน์ที่ไม่ใช่ในมุมของ Sustainability อย่างเดียว แต่เราต้องประหยัดเงินให้กับลูกค้าอย่างจริงจัง แล้วเราค่อยๆ Educate ตลาดไป ซึ่งผมมองว่าโซลูชันที่ง่ายที่สุดก็คือเป็นอาหารที่พร้อมทาน เพราะถ้าเกิดเป็นอาหารที่ไม่พร้อมทานเป็นวัตถุดิบเป็นส่วนผสม มันจะเกิดคำถามที่ว่าเขาจะมีความกังวลในเรื่องของ Food Safety มากขึ้น”

โดยในช่วงประมาณต้นปีหน้า ทาง Oho! มีแผนจะให้บริการกับผู้ใช้ที่ต้องการซื้อสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เก็ตซึ่งมีหลายสาขาในไทย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่อยากซื้อสินค้าป้ายเหลืองจากซุปเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า 1 แห่ง ในออเดอร์เดียว 

“เดิมทีสมมติว่าเราอยากได้อกไก่ แต่ดันกลายเป็นว่าเราเข้าโลตัสแล้วไม่มี แล้วเราคงไม่ขับไปบิ๊กซี หรือแม็คโครเพิ่มอีก มันเสียเวลาเกินไป จินตนาการภาพว่าเรายกมาไว้บนออนไลน์ที่เดียว เป็น One Stop Service”

ซึ่งทาง Oho! คาดว่าจะช่วยลด Food waste ที่เกิดขึ้นจากฝั่งซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มูลค่าตลาดอยู่ที่หลักแสนล้าน ซึ่งมีสัดส่วนของ Food waste ต่อยอดขายอยู่ที่ 2-5% และหากรวมขยะอาหารในฝั่งหน้าร้านด้วยจะเป็นประมาณ 6-7% เมื่อเทียบกับ Market Size ขนาดใหญ่ และมีมูลค่าอยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งหากลดลงขยะอาหารในส่วนนี้ลงไปได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

แบ่งปันมุมมองทำธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพด้าน Sustainability 

วริทธิ์ธร กล่าวทิ้งท้ายว่า คนที่ทำธุรกิจในด้านความยั่งยืน เริ่มแรกจำเป็นจะต้องคำนวณปัญหาที่เราจะแก้ก่อนว่าปัญหามันใหญ่ หรือเล็กแค่ไหน และหากปัญหามันใหญ่พอแล้วเราจะเข้ามาเป็นโซลูชัน ก็ต้องพิจารณาศักยภาพและทรัพยากรที่มีด้วย

“สตาร์ทอัพมันต้องแก้ปัญหาให้ไวมากๆ เพราะว่ามันเป็นการทำอะไรที่มันใหม่มาก มันไม่มี Reference คือมี Reference ก็ยังน้อย ต่อให้ต่างประเทศมันก็ไม่เหมือนกับตลาดในบ้าน เราต้อง Crack ให้ออกอยู่กับมันเยอะๆ แล้วก็ปรับทิศทางให้ไว ด้วยทรัพยากรที่จำกัด เวลาที่จำกัด มันต้องแก้ให้ไว” 

“ดังนั้นเนี่ยถ้าเราตัวเล็ก เราก็ต้องมองให้ออกด้วยว่ามิติไหน เรามีทรัพยากรพอไหม แล้วก็ Self Sustain ขณะที่แก้ปัญหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อมไปด้วย ผมมองว่าจุดนี้มันเล่นทั้งสองอย่าง และถ้าจะทำในมิติของเรื่อง Sustainability ผมมองว่าคุณต้องมอบประโยชน์ สร้างประโยชน์ หรือแก้ปัญหา”.


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *